เพิ่มหนี้สาธารณะต้องใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP
บทบรรณาธิการ

วิกฤตครั้งร้ายแรงสุดในรอบหลายสิบปีฉุดเศรษฐกิจในภาพรวมเสียหายหนัก จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากฟื้นฟูเยียวยา ไม่แปลกที่แนวคิดในการขยายเพดานหนี้สาธารณะจะได้รับการขานรับจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจเอกชน นักวิชาการ นักเศรษฐกิจ นักการเงิน

สอดคล้องกับมุมมองของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า ถ้ารัฐต้องกู้เงินเพิ่มเติมก็สมเหตุสมผลกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญ เพียงแต่ต้องมีแผนที่ชัดเจนในระยะยาว เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลัง และป้องกันความเสี่ยงในอนาคต

การขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มเป็นไม่เกินระดับ 70% ของ GDP ที่กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ

ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน วันที่ 20 ก.ย.นี้ จึงถูกจับตา และน่าจะได้รับไฟเขียว เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูเยียวยาภาคธุรกิจ ตลอดจนประชาชนหลากหลายกลุ่ม

ขณะที่ตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศ ณ เดือน ก.ค. 2564 ซึ่งอยู่ที่ 8.9 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 55.59% ของ GDP ใกล้เต็มเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่ระดับ 60% ทำให้รัฐบาลไม่มีช่องว่างให้กู้เงินเพิ่มได้อีกมากนัก

ทั้งที่วิกฤตยังรุนแรงต่อเนื่อง และต้องใช้เวลาอีกนานกว่าสถานการณ์จะฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติ การขยายเพดานกู้เพิ่มเพื่อเตรียมการล่วงหน้า เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนจะสามารถกู้เพิ่มเติมได้ทันที จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

เพราะสถานการณ์ขณะนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า การกู้เงิน หรือสร้างหนี้สาธารณะเพิ่มไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งวิตกกังวล ตรงกันข้ามควรหยิบยกประเด็นการขยายเพดานความยั่งยืนทางการคลังขึ้นพิจารณาและตัดสินใจโดยเร็ว

แม้การก่อหนี้ทำให้ประเทศมีภาระและเพิ่มความเสี่ยง แต่ท่ามกลางวิกฤตและสารพัดปัจจัยลบ ประชาชน ธุรกิจเอกชนทั้งรายใหญ่ รายเล็กต่างได้รับผลกระทบ รัฐบาลต้องยื่นมือช่วยเหลือ ประคับประคองให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก

สิ่งท้าทายคือทำอย่างไรให้การใช้จ่ายเงินจากการก่อหนี้เป็นไปอย่างคุ้มค่า ไม่ใช้วิธีหว่านเงิน เหวี่ยงแห และแก้ปัญหาได้ตรงจุด ขณะเดียวกันในระยะกลาง ระยะยาว การรัดเข็มขัด ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เป็นเรื่องต้องตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

ควบคู่กับปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ รื้อโครงสร้างภาษี ให้ GDP กลับมาเติบโตขยายตัว หนี้สาธารณะลดน้อยลงสู่ระดับที่มีความยั่งยืนทางการคลังแบบถาวร ไม่สร้างภาระให้คนรุ่นลูกหลาน