ผู้ว่าฯปูส่งไม้ต่อสู้โควิด ปมแรงงาน ‘ต่างด้าวมหาชัย’

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
กฤษณา ไพฑูรย์

 

หนึ่งในผู้ว่าราชการจังหวัดที่สร้างผลงานโดดเด่นในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ร่วมกับทีมแพทย์สาธารณสุขอย่างได้ผล และหลายวิธีการที่นำมาใช้ ได้กลายเป็นโมเดลหลักระดับประเทศให้จังหวัดอื่น ๆ เดินตาม

คงต้องยกนิ้วให้ “ผู้ว่าฯปู” “วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่วันนี้ได้ย้ายกลับบ้านเกิดไปนั่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง

ด้วยปัญหาสุขภาพหลังเฉียดความเป็นความตายจากการป่วยติดเชื้อไวรัสโควิดลงปอด ทำให้ต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 82 วัน ส่งผลต่อสุขภาพทำให้ลุยงานใหญ่ และหนักหน่วงที่จังหวัดสมุทรสาครไม่ได้เต็มที่

ปัจจุบันเหลืออายุราชการอีก 1 ปี จะครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2565

ผู้ว่าฯปูได้เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครได้ชื่อว่าเป็นเมืองศูนย์กลางภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะมีโรงงานขนาดใหญ่ กลาง เล็ก รวมกันเกือบ 7,000 แห่ง

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเลครบวงจร ตั้งแต่ภาคการประมงต้นน้ำ จนแปรรูปส่งออกไปต่างประเทศ สร้างรายได้ปีละหลายแสนล้านบาทให้กับประเทศไทย และเป็นเมืองที่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่อาศัยตั้งรกรากอยู่อันดับต้น ๆ ของประเทศ คือ กว่า 3 แสนคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากรในจังหวัด และแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ พูดกันว่ามีทั้งถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมาย 50 : 50

ดังนั้นการเข้ามานั่งบริหารจังหวัดสมุทรสาครในภาวะปกติมีหลายปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ ปัญหาภาคประมง ฯลฯ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ยิ่งมาเจอกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสถานการณ์ช็อก ! คนไทยทั้งประเทศ ที่ทำให้คนทั่ว ๆ ไปได้ยินชื่อและรู้จักหน้าตาของ “ผู้ว่าฯปู” เริ่มจากการแถลงข่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 รายงานสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งถือเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศไทย โดยพบผู้ติดเชื้อ 516 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวบริเวณตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร

หลังจากนั้นเชื้อโควิดได้แพร่ระบาดลุกลามเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นไปหลายพันคน

นำมาสู่การใช้มาตรการ bubble & seal คือ พนักงานที่เดินทางไป-กลับไม่มีที่พักในโรงงาน ให้มีการจัดระบบควบคุมออกจากโรงงานต้องตรงกลับบ้านเท่านั้น ห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามแวะไปซื้อของในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด สถานที่ชุมชนหนาแน่น ส่วนคนที่อาศัยอยู่ภายในโรงงานห้ามออกมานอกโรงงาน เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดสู่ภายนอกชุมชน

ตามมาด้วยมาตรการที่กลายเป็นประเด็นร้อนกันไปในแวดวงโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่ผู้ว่าฯปูได้ออกประกาศคำสั่งจังหวัดบังคับให้โรงงานหรือสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือมีกำลังเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไปเกือบ 7,000 แห่ง ต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกกักผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในโรงงาน (factory accommodation isolation : FAI)

โดยจะต้องมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานทั้งบริษัทภายใน 7 วัน หากใครทำไม่ได้ “สั่งปิดทันที” หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นระดับเกินกว่า 1,000 คน ตลอดช่วง 7 วันที่ผ่านมา

เนื่องจากมีกระแสข่าวแรงมากว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด และสาธารณสุขอีกหลายจังหวัดเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว และอยากเดินตามรอยจังหวัดสมุทรสาคร เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายจังหวัดที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์จากโรงงานอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันทุกจังหวัดได้นำทั้ง 2 มาตรการ คือ bubble & seal และการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน หรือ FAI มาใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ใน FB ของเพจหนังสือมิติมหาชัย ได้ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ผู้ว่าฯปูได้ถือโอกาสกล่าวอำลาผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา และภาคเอกชนที่ร่วมเป็นกรรมการ

โดยฝากงานสำคัญให้ช่วยกันสานต่อใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.เรื่องศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ (aquarium) ปี 2565 จังหวัดได้ของบประมาณมาปรับปรุง จะทำให้ดำเนินการได้ต่อเนื่องตามแผน ที่สำคัญขอให้ทุกคนช่วยกันหาจุดแข็งของอควาเรียมมาเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว

2.เรื่องแรงงานต่างด้าว จำนวนมากที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายเกือบ 3 แสนคน และที่ผิดกฎหมายอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแลด้านสุขลักษณะ และความเป็นอยู่ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในการอยู่ร่วมกัน

3.เรื่องโรคโควิด-19 จะอยู่ไปอีกนาน ทำอย่างไรจะอยู่กับโควิดให้ได้

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามภาคเอกชนในจังหวัดสมุทรสาครต่างยกย่องผู้ว่าฯปูว่า เป็นคนที่ทำงานอย่างทุ่มเทให้กับจังหวัดอย่างแท้จริง ต่างกับผู้ว่าฯหลายคนที่ผ่านมารับตำแหน่งเพื่อรอวันเกษียณ