5 ปีภาษีมรดก จิ๊บจ๊อยหลักร้อยล้าน

ภาษีที่ดิน
คอลัมน์ สามัญสำนึก
พิเชษฐ์ ณ นคร

 

นับจากวันที่ 1 ก.พ. 2559 ที่ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ อีกไม่กี่เดือนการจัดเก็บภาษีมรดกในประเทศไทยจะครบ 5 ปี

มาดูกันว่าผลการจัดเก็บภาษีมรดกที่ผลักดันมานาน ผ่านรัฐบาลหลายยุคสมัย เป็นหนึ่งในกฎหมายไม่กี่ฉบับที่แท้งแล้วแท้งอีก สุดท้ายร่างกฎหมายภาษีมรดกที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกาศใช้เป็นกฎหมายในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2558 ถูกนำมาบังคับใช้จริงแล้วผลในทางปฏิบัติเป็นอย่างไร

หลังไส้ในถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขใน สนช.ที่ส่วนใหญ่เป็นคนระดับบน ข้าราชการระดับสูง ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ตัวแทนจากภาคธุรกิจ ฯลฯ มีที่ดิน ทรัพย์สินในมือหลักร้อยล้านพันล้านบาท จนทำให้ร่างกฎหมายที่ดูดีในช่วงตั้งไข่กลายพันธุ์ไปเยอะ

ตะแกรงร่อนถูกถ่างให้กว้างขึ้น เศรษฐี นายทุนจำนวนไม่น้อยหลุดรอดไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมรดก ทั้งยังสามารถใช้แท็กติก วิธีการในการบริหารจัดการอีกสารพัดในการหลบเลี่ยง

โดยเฉพาะการปรับแก้บทบัญญัติจากเดิมที่กำหนดให้ผู้รับมรดกมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในส่วนที่มีมูลค่าเกินจาก 50 ล้านบาท อัตราร้อยละ 10 เป็นให้เสียภาษีมรดกส่วนที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป

ถามว่ากฎหมายที่ออกมาตอบโจทย์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย จากเดิมที่มุ่งเน้น 3 หลักการสำคัญคือ 1.ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชาชน 2.เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม และ 3.เพื่อสร้างรายได้เข้ารัฐ ได้มากน้อยแค่ไหน

ยอดจัดเก็บรายได้จากภาษีมรดกตั้งแต่ปีแรกปี 2560 จนถึงล่าสุดปี 2563 ที่ผ่านมา น่าจะเป็นคำตอบชัดเจน

ไม่ต่างจากการผลักดันจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เจอแรงต้านโดยใช้เกษตรกร คนชั้นกลางซึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกจัดเก็บภาษีด้วยบังหน้า ทำให้ร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ ถูกยำใหญ่พอ ๆ กับภาษีมรดก แถมเจอวิบากกรรมวิกฤตเศรษฐกิจ และสถานการณ์โควิด-19 น่าจะยังอีกนานกว่ารัฐจะมีรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

มาดูกันว่าในส่วนของภาษีมรดกนั้น หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้เกือบ 5 ปี แต่ละปีสร้างรายได้เข้ารัฐมากน้อยแค่ไหน

ข้อมูลจากกรมสรรพากรระบุว่า ปี 2560 มียอดจัดเก็บรายได้จากภาษีมรดกเป็นปีแรก 65.075 ล้านบาท จากนั้นปี 2561 จัดเก็บได้ 219.195 ล้านบาท ปี 2562 จัดเก็บได้ 450.606 ล้านบาท และล่าสุด ปี 2563 ที่ผ่านมาจัดเก็บภาษีมรดกได้รวม 158.941 ล้านบาท สร้างรายได้เข้ารัฐเกือบอันดับสุดท้ายเมื่อเทียบกับภาษี หรือรายได้อื่น ๆ

จู่ ๆ หยิบยกประเด็นภาษีมรดกขึ้นทบทวนความจำก็เพราะโควิด-19 กับวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ประเทศไทย คนไทยเผชิญมรสุมลูกใหญ่ ล่าสุด 20 ก.ย.ที่ประชุมคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน เห็นชอบให้ขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่ม จากเดิมต้องไม่เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นไม่เกิน 70% ของ GDP ให้รัฐบาลก่อหนี้ กู้เงินเพิ่มแก้วิกฤตประเทศ

หลายฝ่ายประสานเสียงรับ แต่เสนอให้รัฐหารายได้เพิ่มด้วยการรื้อโครงสร้างหรือขยายภาษี อย่างภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ฯลฯ

คิดได้แต่ทำได้จริงหรือไม่เป็นอีกเรื่อง อย่างภาษีมรดกกว่าผลักดันออกกฎหมายสำเร็จ เหมือนเป็นผลงานชิ้นโบแดง แต่ใครเห็นรายได้จากภาษีมรดกแต่ละปีแล้วต้องส่ายหน้า เพราะยอดจัดเก็บต่ำกว่ารายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลาย ๆ แห่งตั้งเยอะ