เรื่องเดียวเท่านั้น ในแต่ละคราว

คอลัมน์ นอกรอบ
รณดล นุ่มนนท์

 

“แนวทางที่ดีที่สุดในการบรรลุเป้าหมายที่เราต้องการ คือการยึดมั่นอยู่กับเรื่องเดียว” เป็นคำพูดที่หลาย ๆ คนรวมทั้งผม ฟังแล้วอาจจะฝืนความรู้สึก แต่สำหรับ แกรี่ เคลเลอร์ (Gary Keller) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เชื้อสายออสเตรีย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Keller Williams Realty บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่สุดในโลก กลับเชื่ออย่างสนิทใจ เพราะเป็นทฤษฎีที่ได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน

เคลเลอร์เคยตั้งเป้าชีวิตเหมือนกับอีกหลายคนว่า การตื่นนอนด้วยความกระปรี้กระเปร่า ทุ่มเทกับงานทุกอย่างที่ขวางหน้า ให้ความสำคัญเท่ากันหมดทุกเรื่อง ทำหลาย ๆ เรื่องพร้อม ๆ กัน จะนำไปสู่ความสำเร็จ

และเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายนั้น เคลเลอร์ก็พร้อมทำทุกอย่าง ตั้งแต่ลอกเลียนแบบของผู้ประสบความสำเร็จ ทั้งการพูด ท่าเดิน หรือแม้แต่บุคลิกในเรื่องการแต่งกาย ตื่นนอนแต่ไก่โห่ เปิดเพลงกระตุ้นพลังก่อนไปทำงาน นัดประชุมตั้งแต่เช้า 7 โมงครึ่ง ผ่านไป 1 นาทีจะปิดประตูไม่ให้คนมาสายเข้าห้อง เพราะเชื่อว่าการสร้างระเบียบวินัยจะทำให้ตนเองและผู้อื่นประสบความสำเร็จได้

อย่างไรก็ดี เคลเลอร์ปฏิบัติตนด้วยวิธีดังกล่าวได้ไม่นานก็พบว่า การทุ่มเทเต็มร้อยไม่ได้ช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจ สถานการณ์พลิกผัน บริษัทประสบปัญหา ตัวเองขาดความสมดุลในชีวิต เหนื่อยล้า หมดไฟ รู้สึกหดหู่ จนส่งผลต่อสุขภาพ และนี่ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต

เคลเลอร์ตัดสินใจแบบหน้ามือเป็นหลังมือ หันไปทำในสิ่งตรงกันข้าม เริ่มด้วยการทำตัวสบาย ๆ ใช้ชีวิตช้าลง และได้ค้นพบหลักการ “เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น” โดยให้เวลาและพลังที่มีจำกัดทำทีละเรื่อง

เคลเลอร์กล่าวว่า “เวลาที่มีความสำเร็จยิ่งใหญ่ ผมจะใจจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแค่เรื่องเดียว แต่เวลาที่พบกับความล้มเหลว และทำอะไรสำเร็จผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมมักจะวุ่นวายอยู่กับหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน”

เคลเลอร์ถ่ายทอดความคิดข้างต้นไว้ในหนังสือชื่อ “The ONE Thing” (ได้ทุกสิ่งด้วยสิ่งเดียว) ที่เขียนร่วมกับ เจย์ ปาปาซาน (Jay Papasan) ผู้ร่วมงาน กลายเป็นหนังสือขายดีระดับโลก พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2013 และมีการแปลไปกว่า 26 ภาษาทั่วโลก หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงทฤษฎีและหลักการของศาสตร์ต่าง ๆ ที่จะต้องทำไปพร้อม ๆ กัน 4 หลักการ เพื่อเป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จ

ทฤษฎีแรกคือทฤษฎีโดมิโน เป็นทฤษฎีทางด้านนโยบายด้านการต่างประเทศ อุปมาขึ้นจากลักษณะไพ่ต่อแต้ม ถ้าไพ่ล้ม 1 ใบ ไพ่ใบอื่น ๆ จะล้มกันเป็นแถบ เป็นการแสดงถึงพลังของการเริ่มต้น โดยเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ แล้วค่อยให้ใหญ่ขึ้นใหญ่ขึ้น เหมือนกับปรากฏการณ์โดมิโนที่พิสูจน์ว่า เมื่อโดมิโนตัวแรกไม่เพียงล้มโดมิโนตัวอื่น ๆ ได้ ยังสามารถล้มโดมิโนที่ใหญ่กว่าตัวมันเองได้อีกด้วย

โดยในปี 2001 นักฟิสิกส์จากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในเมืองซานฟรานซิสโก ได้ทำการทดสอบสร้างโดมิโน 8 ตัวมาเรียงกัน ตัวแรกมีขนาดเพียง 2 นิ้ว ตัวที่สองใหญ่กว่าตัวแรก 1 เท่าตัว ตัวต่อ ๆ ไปก็ใหญ่ขึ้นเป็นอีกเท่าตัว จนตัวสุดท้ายสูงเกือบ 1 เมตร และเมื่อนำโดมิโนทั้งหมดมาเรียงกัน และผลักตัวแรกให้ล้ม เสียงที่ล้มแบบเบา ๆ จะกลายเป็นเสียงดังโครม ๆ จนถึงตัวสุดท้าย นำมาสู่ผลสรุปของบีเจ ธอร์นตัน (BJ Thornton) ที่กล่าวไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ล้วนเริ่มต้นแบบเดียวกับการล้มของโดมิโนตัวแรก”

เปรียบเหมือนเราจะทำอะไรต้องตั้งเป้าหมาย คิดการใหญ่เข้าไว้ จัดลำดับความสำคัญของงาน เรียงโดมิโนชีวิตด้วยการตั้งต้นเป้าหมายเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ สร้างให้ใหญ่ทีละขั้นตอน สร้างไปเรื่อย ๆ ลงมือทำด้วยความมุ่งมั่นแน่วแน่ เราก็จะประสบความสำเร็จ

ทฤษฎีต่อมาเป็นหลักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ “พาเรโต 80/20” ของนักเศรษฐศาสตร์อิตาลีที่ศึกษาการกระจายรายได้ของประชากรในอิตาลี โดยสรุปว่า ประชากรอิตาลีเพียงร้อยละ 20 เป็นเจ้าของทรัพย์สินร้อยละ 80 ของประเทศ เท่ากับว่า “สิ่งสำคัญมีน้อยกว่าสิ่งไม่สำคัญ”

“เคลเลอร์เชื่อว่า ในโลกของความสำเร็จ ทุกเรื่องไม่ได้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จักเลือกที่จะทำในสิ่งที่ควรทำ จนได้คำตอบว่า อะไรคือเรื่องเดียวที่จะต้องทำ ในวันนี้ขอยกตัวอย่างให้เห็นกันชัด ๆ เช่น ถ้าหากผมอยากจะเป็นนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ก็ต้องตั้งเป้าหมายไว้ก่อนว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ผมจะเขียนหนังสือออกมาให้ได้ 3 เล่ม แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ผมต้องเขียน weekly mail ทุกสัปดาห์ให้ได้ก่อน และเมื่อจะลงมือเขียน แต่ละสัปดาห์ก็ต้องอ่านหนังสือทุก ๆ วันเสียก่อน สรุปได้ว่า เราต้องรู้จักเลือกจัดลำดับงานที่จะทำ มองข้ามบางสิ่งที่น่าจะทำได้ จดจ่อกับสิ่งที่ควรทำจริง ๆ”

ทฤษฎีที่สามเป็นทฤษฎีด้านจิตวิทยาที่รู้จักกันในชื่อ “การทดลองมาร์ชแมลโลว์สแตนฟอร์ด” (The Marshmallow Test) เป็นการทดลองกับเด็กอายุระหว่างสี่ถึงหกปี ในโรงเรียนอนุบาลบิงเนิร์สเซอรี่แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จำนวน 600 คน ด้วยการนำขนมใส่ถาดมาให้เด็ก ๆ โดยบอกกับเด็ก ๆ ว่า “หยิบไปได้คนละชิ้น เแต่ถ้าใครรอ 15 นาที จะได้รับขนมเพิ่มเป็น 2 ชิ้น”

ผลปรากฏว่า มีเด็กเพียงแค่ 180 คนเท่านั้นอดทนคอยได้ และจากการติดตามพัฒนาการของเด็กเหล่านี้ในอีก 10 ปีต่อมา เด็กที่อดเปรี้ยวไว้กินหวานจะประสบความสำเร็จทั้งในด้านการศึกษาและมีความฉลาดในอารมณ์ที่สูงกว่า

สรุปได้ว่า ความอดทน การรู้จักจังหวะเวลา และการโฟกัสสมาธิ ถือเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ

ทฤษฎีสุดท้ายคือ การประสบความสำเร็จที่มีความสุข รู้จักจัดเวลาให้กับตัวเอง ครอบครัว เรื่องส่วนตัว หน้าที่การงาน และเพื่อนร่วมงาน รู้จักถ่วงดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน

เจมส์ แพตเตอร์สัน (James Patterson) นักประพันธ์และนักสังคมสงเคราะห์ชาวอเมริกัน ได้ให้คำตอบไว้ในนวนิยายเรื่อง Suzanne’s Diary for Nicholas ว่า “ชีวิตเปรียบได้กับการโยนลูกบอลห้าลูกขึ้นบนอากาศพร้อม ๆ กัน

ลูกบอลแต่ละลูกเป็นตัวแทนของหน้าที่การงาน ครอบครัว สุขภาพ เพื่อนฝูง และความซื่อสัตย์

เราต้องพยายามให้ลูกบอลลอยอยู่ในอากาศ แต่ถ้าวันหนึ่งคุณพบว่า ลูกบอลที่เป็นตัวแทนของหน้าที่การงานร่วงลงมา แต่ยังจะกระเด็นกลับขึ้นได้ เพราะบอลลูกนั้นทำมาจากยาง ขณะที่ถ้าเราเผลอทำลูกบอลลูกใดลูกหนึ่งอีก 4 ลูกตกพื้น มีรอยร้าวหรือแตกเป็นเสี่ยง ๆ เพราะแต่ละลูกล้วนทำมาจากแก้วที่เปราะบาง”

เพราะฉะนั้น ห้ามละเลยที่จะจัดการกับเรื่องของตัวเอง ครอบครัว และส่วนตัวเป็นเด็ดขาด แต่ถ้าเป็นเรื่องงานก็ต้องเลือกรู้จักปฏิเสธ โยนบางเรื่องทิ้งไปบ้าง

ผมไม่แน่ใจว่า “ได้ทุกสิ่งด้วยสิ่งเดียว” จะเป็นหลักการที่พวกเราเห็นคล้อยตามหรือไม่ แต่สิ่งที่ผมได้รับจากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ “การรู้จักจัดลำดับความสำคัญของการบริหารจัดการ และเมื่อตัดสินใจที่จะทำอะไร จงทำอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจให้สำเร็จ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ต่อไป และความสำเร็จเกิดขึ้นง่ายมากเพียงแค่ทำสิ่งที่ถูกต้อง ถูกวิธี และถูกเวลา”

แหล่งที่มา : 1/Gary Keller, Jay Papasan The ONE Thing (ได้ทุกสิ่งด้วยสิ่งเดียว) Reliek Publishing Partners, 2012 แปลโดย นาถกมล บุญรอดพานิช สำนักพิมพ์วีเลิร์น ISBN 978-616-287-042-2 หน้า 108-110 2/นาถกมล บุญรอดพานิช หน้า 13 3/นาถกมล บุญรอดพานิช หน้า 16-21 4/นาถกมล บุญรอดพานิช หน้า 41-45 5/Th.wikipedia.org. 2021. การทดลองมาร์ชแมลโลว์สแตนฟอร์ด-วิกิพีเดีย. [online] Available at:<https://th.wikipedia.org/wiki/[Accessed 2 October 2021]. 6/นาถกมล บุญรอดพานิช หน้า 70-71 7/นาถกมล บุญรอดพานิช หน้า 80-92 และขอขอบคุณน้องฉัตรลดา โชตนาการ ที่แนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้