เข้าถึงผู้ประกอบการ เข้าใจหนทางอยู่ร่วมกับโควิด-19

นอกรอบ
นอกรอบ
ธนภรณ์ จิตตินันทน์ พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ
จิตา จีรเธียรนาถ ณัคนางค์ กุลนาถศิริ
พรพรรณ รุจิวาณิชย์

โควิด-19 ยืดเยื้อกว่าที่คาด จะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด ? เป็นสิ่งที่พวกเราข้องใจและกำลังต่อสู้เพื่อหาทางออก แต่ละคนก็มีวิธีเฉพาะตัว งานชิ้นนี้จึงได้รวบรวมเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ เพื่อถอดบทเรียนหนทางอยู่ร่วมกับโควิด-19 เริ่มจากทบทวนผลกระทบและแนวทางการปรับตัว รวมถึงประมวลการสนับสนุนด้านการเงินจากภาครัฐ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงพบปะกันได้รับผลกระทบอย่างมาก

อาทิ กลุ่มกิจกรรม 5 ประเภทที่มีผู้เสียหายรวมกว่า 5 ล้านคน คือ ร้านอาหาร ที่การจ้างงานหายไปเกือบครึ่ง และรายได้หายไปอย่างน้อย 70% ผู้ให้บริการแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างกว่าครึ่งที่คืนถิ่น สถานที่ท่องเที่ยวรายได้หายไป 80% โรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักไม่ถึง 10% และธุรกิจก่อสร้างที่ต้องปิดตัวชั่วคราวในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก

ผู้ประกอบการและแรงงานในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้เข้าใจความรุนแรงของสถานการณ์และมีความตั้งใจจริงในการปรับตัว แต่ยังได้รับความเดือดร้อนอยู่มากตราบใดที่กำลังซื้อจากผู้บริโภคและผู้ใช้บริการไม่ได้กลับมาเป็นปกติ

โดยแนวทางการปรับตัวแบ่งเป็น

1.ทำธุรกิจเดิม เพิ่มรายได้ด้วยดิจิทัล โดยร้านอาหารกว่า 70% ปรับตัวให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม แต่ยังมีรายได้น้อยกว่า 60% ของก่อนวิกฤต แท็กซี่และมอเตอร์ไซค์เปลี่ยนไปขนของแทนขนคน แม้ต้องเผชิญคู่แข่งจำนวนมากและรายได้น้อยลง

2.ขยายวงลูกค้าใหม่ ทั้งสินค้า บริการ และตลาด รถตู้รถบัสหันมารับงานภาครัฐและนิคมอุตสาหกรรม โรงแรมรับงาน hospitel และเพิ่มลูกค้า workation ก่อสร้างรับงานซ่อมและรับเหมาช่วง

3.เปลี่ยนอาชีพ ย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนา ผู้ให้บริการด้านท่องเที่ยวหันมาขายของออนไลน์ แรงงานจำนวนมากย้ายไปทำเกษตร

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายธุรกิจที่เคยมีเงินหมุนเวียนคล่องมือ รายได้ขาดหายจนต้องกู้มาพยุงการค้า แม้ไม่ชำนาญในการรวบรวมหลักฐานทางการเงิน ธุรกิจที่มีหนี้อยู่แล้ว มีเงินไม่พอจ่ายค่างวด บางรายต้องกู้นอกระบบ

ภาครัฐจึงออกมาตรการทางการเงินเพื่อเติมเงินและแก้หนี้ โดยผ่อนปรนเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เหมาะกับสถานการณ์และเสริมมาตรการเฉพาะ เช่น พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูฯ ประสานความช่วยเหลือระหว่างภาคธุรกิจและธนาคาร

เช่น การใช้หลักฐานทางดิจิทัลเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสินเชื่อในกลุ่มร้านอาหารและไรเดอร์ และในระยะต่อไปจะขยายความช่วยเหลือไปยังธุรกิจอื่น ๆ ตลอดจนออกมาตรการแก้หนี้ ระยะยาว เพื่อให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ได้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมาก และได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมนอกเหนือจากการขยายเวลาชำระหนี้

ทั้งนี้ มาตรการทางการเงินอย่างเดียวไม่เพียงพอรับมือกับวิกฤตการณ์โควิด-19 จึงต้องดำเนินการร่วมกับมาตรการภาครัฐอื่น ทั้งการคลัง สาธารณสุข และการปรับกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจ เพื่อให้เราสามารถอยู่รอดและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะผู้จัดทำประกอบด้วย ธนภรณ์ จิตตินันทน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ จิตา จีรเธียรนาถ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน

ณัคนางค์ กุลนาถศิริ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ และพรพรรณ รุจิวาณิชย์ เศรษฐกรฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ร่วมกับองค์กร สมาคมภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้รวบรวมและจัดทำข้อมูลจากการสำรวจและรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ 5 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวให้อยู่รอด สรุปได้พอสังเขป ดังนี้ (ดูตารางประกอบ)

1.ร้านอาหาร ทั้งโควิด ทั้งล็อกดาวน์ ธุรกิจร้านอาหารและการจ้างงานหายไปเกือบครึ่ง การท่องเที่ยวกระทบทำให้รายได้หายไปอย่างน้อย 70% หนี้ล้น เงินขาดมือ เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ ได้แก่

-การประกาศมาตรการฉุกเฉินควรชัดเจนเพื่อให้เตรียมตัวได้ทัน

-สร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นกำลังซื้อ โดยใช้โครงการคนละครึ่ง ผ่านฟู้ดดีลิเวอรี่

-เร่งแก้ปัญหาสาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่

-เพิ่มการฝึกอบรมเพื่อปรับสู่การขายออนไลน์ได้จริง

ทั้งนี้ กลุ่มร้านอาหาร มีธุรกิจและแรงงานอยู่ในระบบประกันสังคมทั้งสิ้น 5,000 บริษัท และแรงงาน 1.7 แสนคน ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมภัตตาคารไทย และเฟซบุ๊กเพจเพื่อนแท้ร้านอาหาร ระบุว่ามีกว่า 5 แสนร้าน

2.แท็กซี่ พี่วิน รถตู้ รถบัส นักท่องเที่ยวหาย คนเดินทางน้อยลง ผู้ขับขี่มากกว่าครึ่งกลับภูมิลำเนาเดิม ส่วนใหญ่อยู่นอกระบบ ไม่มีสวัสดิการ รายได้หาย หนี้ล้น เงินขาดมือ เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ คือ

-ให้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันให้ผู้ขับขี่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า

-พักชำระหนี้ทั้งต้น ทั้งดอกเบี้ย สนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

-งด ลด หรือเลื่อนค่าต่อทะเบียน

-ทำให้ขั้นตอนการขอ การต่อใบอนุญาตต่าง ๆ ง่ายขึ้น

3.กลุ่มธุรกิจบริการ การท่องเที่ยวสะดุด ฉุดกลุ่มธุรกิจบริการเจ็บหนัก ต้องใช้เงินเก็บประทังชีวิต โดยผู้ประกอบการมีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการถึงภาครัฐ

-ให้เร่งสร้างอาชีพเสริม เพื่อให้มีรายได้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

-ช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

-เร่งแก้ปัญหาสาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

4.กลุ่มโรงแรม นักท่องเที่ยวหาย ยอดจองหด รายได้ลดแทบเป็นศูนย์ การเข้าพักไม่ถึง 10% ปิดกิจการชั่วคราวกว่า 20% สภาพคล่องเหลือไม่ถึง 3 เดือน และการจ้างงานหายไปกว่าครึ่ง ผู้ประกอบการมีเสียงสะท้อน ดังนี้

-ให้ช่วยลดต้นทุนโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า

-ออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย เป็นการทั่วไป

-ให้ภาครัฐอุดหนุนค่าจ้างในรูปแบบ copayment

-ให้จัดประชุมสัมมนา โดยเว้นระยะห่างตามมาตรฐาน SHA

-เร่งแก้ปัญหาสาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่

5.ธุรกิจก่อสร้าง แคมป์ก่อสร้างถูกสั่งปิด สะเทือนตั้งแต่ผู้รับเหมายันโรงงานผลิตวัสดุ เสียงสะท้อนผู้ประกอบการจากภาคก่อสร้าง ประกอบด้วย

-ของด ลดค่าปรับ หรือขอขยาย ต่ออายุสัญญาและงาน

-ออกมาตรการสั่งปิดแคมป์เฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาการระบาดของโควิด-19