ปมจากโรค ASF

ฟาร์มหมู
บทบรรณาธิการ

 

สถานการณ์ราคาหมูแพงขึ้นและจะแพงไปจนถึงเทศกาลตรุษจีน ทั้งอาจลากยาวไปถึงช่วงสงกรานต์ ไม่เพียงเผยปัญหาโรคระบาดในหมูที่ส่งผลกระทบหนักต่อการผลิต ยังตอกย้ำถึงปัญหาอีกด้านของรัฐบาลและหน่วยงานราชการ เมื่อปลายปี 2564 รัฐบาลแถลงความสำเร็จด้านการควบคุมและป้องกันการเกิดโรคระบาดในสัตว์ได้สำเร็จ และว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ยังคงสถานะปลอดโรค ASF หรือไวรัสอหิวาต์แอฟริกันในสุกร แต่ถึงตอนนี้ชัดเจนว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว

ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยเปิดเผยถึงการส่งคำเตือนให้หน่วยงานรัฐ ลงวันที่ 7 ธ.ค. 2554 ว่า พบเชื้อระบาดและต้องควบคุมโรคอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันความเสียหาย แต่กรมปศุสัตว์ยืนยันไม่เคยเห็นหนังสือคำเตือนนี้ กระทั่งปัญหาระเบิดออกมาส่งผลกระทบอย่างถ้วนทั่วทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ฯลฯ ถึงแม้รัฐบาลจะออกมาตรการต่าง ๆ มารับมือ

รวมถึงห้ามส่งออกสุกรมีชีวิต, สั่งให้ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงตามฟาร์มต่าง ๆ, เพิ่มงบฯเยียวยาเกษตรกรรายย่อย แต่ดูเหมือนสถานการณ์ส่งผลกระทบบานปลายแล้ว ดังที่เห็นว่าการขึ้นราคาไข่ไก่ เนื้อไก่ อาหารทะเล ฯลฯ ประเดประดังเข้ามา

ASF เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร พบเป็นครั้งแรกที่จีน เมื่อกลางปี 2561 2-3 ปีมานี้พบในหลายประเทศทั้งเอเชียและยุโรป ส่งผลกระทบหนักเพราะไม่มียารักษาและไม่มีวัคซีน ทำให้หมูตายเฉียบพลัน เชื้อมีแนวโน้มแพร่กระจายในวงกว้างและส่งผลกระทบนาน เพราะเชื้ออยู่ในสิ่งแวดล้อมและซากได้นานหลายเดือน อีกทั้งมีอัตราการตายถึงร้อยละ 30-100

Advertisment

ระหว่างที่ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบของไทยเผชิญกับโรค ASF กรมปศุสัตว์ยืนยันมาตลอดว่า โรคที่ระบาดในไทยเป็นโรคกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ (PRRS) โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) และโรคอหิวาต์สุกร (CSF) แต่ไม่ใช่โรค ASF พร้อมชี้แจงว่ามีการเฝ้าระวังโรคนี้มาตลอด และระมัดระวังอย่างยิ่งกับกฎที่ว่า ประเทศใดประกาศการระบาดของโรค ASF ต้องรายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ผลกระทบที่ตามมาคือเชื่อว่าจะถูกห้ามส่งออกเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจลากยาวถึงปี 2570-2573

แม้ว่าเกษตรกรไทยเริ่มส่งเสียงวิตกกับโรคระบาดนี้ตั้งแต่เมษายน 2564 และปลายปีไทยตกเป็นข่าวดัง เมื่อไต้หวันตรวจพบกุนเชียงจากไทยปนเปื้อนเชื้อ ASF หน่วยงานราชการของไทยยังคงปฏิเสธการมีอยู่ของเชื้อ ASF อีกครั้ง ด้วยคำชี้แจงว่า เนื้อสุกรที่นำมาใช้ผลิตกุนเชียงน่าจะมีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่การปฏิเสธเชื้อ ASF ไม่มีในไทยตั้งแต่แรกนั้น กำลังถูกตั้งคำถามว่าเป็นการตัดสินใจที่ซื้อเวลาในการแก้ปัญหา และทำให้สถานการณ์มาถึงจุดที่น่าวิตกนี้หรือไม่