ถึงเวลาทำความคุ้นเคยกับ “อาเซียน เออาร์เอฟ”

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
โดย ประดาป พิบูล TEAM GROUP

 

ในหลายปีที่ผ่านมา วงการอาเซียนได้หมกมุ่นอยู่กับเรื่องการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ/เออีซี หรือไม่ก็กฎบัตรอาเซียน/เอซี มาช่วงนี้ในขณะที่ประชาคมอาเซียนได้ก่อร่างขึ้นแล้วและกำลังมุ่งเน้นร่วมมือดำเนินการตามพิมพ์เขียวการรวมตัวกันให้สมบูรณ์ ประเด็นเสถียรภาพของภูมิภาคนับวันกลับกลายเป็นปัญหาที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะเรื่องอาณาเขตในทะเลจีนใต้และการกระทบกระทั่งระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ ซึ่งได้สร้างความวิตกและนำไปสู่การคาดคะเนถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ไปในลักษณะต่าง ๆ

ประชาคมอาเซียนเองก็ถูกจับตามองว่าจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร

ภาคธุรกิจและสาธารณชนต่างมีความกังวล ข้อขัดแย้งใด ๆ และความไร้เสถียรภาพย่อมกระเทือนผลประกอบการของภาคเอกชน ตลอดจนความอยู่ดีกินดีของประชาชน อย่างไรก็ดี ต้องรำลึกถึงผู้นำอาเซียนในอดีตที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล ที่ได้จัดวางกลไกไว้เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ตั้งแต่เมื่อปี 2537 ซึ่งไทยได้จัด “การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก :เออาร์เอฟ” ขึ้นเป็นครั้งแรก

โดยมี 18 ประเทศเข้าร่วม คือ อาเซียน 6 และประเทศคู่เจรจา 7 (ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ สหรัฐ) จีน รัสเซีย เวียดนาม ลาว และปาปัวนิวกินี การประชุมระดับสูง “เออาร์เอฟ” มีขึ้นสองปีหลังจากที่ประเทศไทยได้รับประสบการณ์และความมั่นใจในการทำงานกับอริประเทศสมัยสงครามเย็น ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งสมาชิก ประกอบด้วยเวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า จีนตอนใต้และไทย

วัตถุประสงค์ของเออาร์เอฟนั้นเพื่อเร่งให้การปรึกษาหารือด้านการเมืองและความมั่นคงมีความเข้มข้นมากขึ้น อันจะปูลู่ทางไปสู่การเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค และไม่นานหลังจากการประชุมเออาร์เอฟ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า ได้ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน

การที่ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เข้าร่วมในองค์กรในปี 2542 นับว่าเป็นการสร้างความแข็งแกร่งและเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคและเป็นผลสำเร็จชิ้นแรกของเออาร์เอฟ

ปัจจุบัน เวทีการหารือนี้มีสมาชิก 26 ประเทศ กับอีก 1 กลุ่มประเทศ สมาชิกใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วม คือ เกาหลีเหนือ มองโกเลีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา และติมอร์-เลสเต

เออาร์เอฟได้ยึดแนวยุทธศาสตร์สามขั้นตอน ได้แก่ ในเบื้องต้น ดำเนินมาตรการสร้างความเชื่อมั่น ต่อจากนั้น ใช้แนวการทูตเพื่อการป้องกัน และขั้นสุดท้าย แสวงหาแนวทางแก้ไขข้อขัดแย้ง ในขณะนี้เออาร์เอฟใช้สองแนวทางแรกควบคู่กันไป

ปัญหาทะเลจีนใต้และการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นภัยคุกคามเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ทำให้หลายฝ่ายฉงนว่า เออาร์เอฟมีความเกี่ยวข้องและจะมีประสิทธิภาพอย่างไร ในการจัดการกับปัญหาทั้งสองนี้

ความกระจ่างสามารถแสวงหาได้จากองค์ประกอบและกิจกรรมต่าง ๆ ของเออาร์เอฟซึ่งคู่กรณีเป็นสมาชิกและร่วมมือกัน ตราบใดที่ประเทศเหล่านี้ยังคงทำงานด้วยกันและปรึกษาหารือกันได้ ก็ยากที่ข้อขัดแย้งจะนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพในภูมิภาค

บทบาทของเออาร์เอฟจึงเป็นสิ่งที่วิสาหกิจและสาธารณชนควรให้ความสำคัญอย่างเหมาะสม และใช้เป็นข้อมูลในการประเมินความเสี่ยงและระดับความมั่นใจในการเสริมสร้างผลประโยชน์ขององค์กรประชาคมอาเซียนบัญญัติคำย่อไว้มากมาย เช่น เออีซี, เอซี, เอพีเอสซี, เอเอสซีซี เป็นต้น ต่อจากนี้ไปเออาร์เอฟสมควรได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบเกี่ยวกับสภาวะความมั่นคงในภูมิภาค อาเซียนได้จัดพิมพ์เอกสารมุมมองความมั่นคงประจำปี (เอเอสโอ) ขึ้นเผยแพร่ตั้งแต่เมื่อปี 2543 โดยชี้ให้เห็นถึงความห่วงกังวลและทัศนะของสมาชิกประเทศต่อความท้าทายด้านความมั่นคง ตลอดจนบทบาทในการรักษาสันติภาพและความเจริญก้าวหน้า

สำหรับปีที่แล้วไทยได้เน้นที่ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย ความรุนแรงสุดโต่ง โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาอาหาร น้ำ พลังงานและ ไซเบอร์ นอกจากนั้นยังได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลี

“…เออาร์เอส-เอเอสโอ ถือได้ว่าเป็นเอกสารที่ผู้บริหารทั้งรัฐและเอกชนควรอ่าน…”