ท่องเที่ยวเอเชียเริ่มฟื้นตัว แต่เสี่ยงเผชิญ ศก.โลกถดถอย

เปิดประเทศ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ตัวเลขขององค์การท่องเที่ยวโลก (ดับเบิลยูทีโอ) แสดงให้เห็นว่า จำนวนนักท่องเที่ยวนานาชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อปี 2021 เหลือเพียง 21 ล้านคน ลดลงถึง 94% เมื่อเทียบกับปี 2019 ก่อนหน้าที่โควิด-19 จะอาละวาด ซึ่งสูงถึงกว่า 360 ล้านคน

2 ปีที่ผ่านมา จึงเป็น 2 ปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมด เมื่อผู้คนที่เคยคุ้นกับการเดินทางท่องเที่ยวแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับชีวิตในต่างแดน ถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทางไปจนหมดจากมาตรการทั้งของประเทศต้นทางและปลายทาง

แต่ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน เมื่อหลายประเทศในเอเชีย ตั้งแต่สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทย ไปจนถึงญี่ปุ่น พร้อมใจกันผ่อนคลายมาตรการเปิดพรมแดนต้อนรับต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวอีกครั้ง

หลังจากประสบความสำเร็จในการ “ควบคุม” การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยโครงการฉีดวัคซีนป้องกันในหมู่ประชากรส่วนใหญ่ของแต่ละประเทศได้

2 ปีที่ยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการต้องลดหรือโละพนักงาน สายการบินต่าง ๆ ต้องยกเลิกเที่ยวบิน ขณะที่เอเย่นต์หรือร้านค้าและแหล่งรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่สามารถพยุงตัวให้อยู่รอดได้ จำเป็นต้องปิดตัวลง

Advertisment

การกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติใหม่อีกครั้งของหลายประเทศในเอเชีย จึงไม่เพียงสร้างความโล่งอกให้กับอุตฯท่องเที่ยวเท่านั้น ยังเป็นสัญญาณส่อถึงโอกาสที่สดใสสำหรับผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดมาได้ เพราะคู่แข่งในแวดวงลดเหลือน้อยเต็มที

สิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ผ่อนคลายมาตรการเพื่อฟื้นการท่องเที่ยวก่อนใคร แสดงให้เห็นสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน เมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยมาเยือนแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

อินโดนีเซีย ซึ่งเคยมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 16,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ก่อนที่จะลดลงเหลือเพียง 360 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เปิดบาหลีต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือน เม.ย. เพียงเดือนเดียวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 114,537 คน จากเดือนก่อนหน้า ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังบาหลีเพียง 34,000 คนถึง 232%

เป็นตัวเลขที่สูงมากพอที่จะทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯของอินโดนีเซียตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปีนี้เป็น 3.6 ล้านคน ตั้งความหวังว่าการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวจะสร้างงานใหม่ให้เกิดขึ้นถึง 1.1 ล้านตำแหน่ง

Advertisment

ขณะที่มาเลเซีย สมาคมตัวแทนการท่องเที่ยวของประเทศ ประมาณว่าในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่น้อยกว่า 100,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในช่วง มิ.ย.-ก.ค.ที่จะถึงนี้

เทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเลเซียตลอดทั้งปี 2021 เพียง 130,000 คน

เช่นเดียวกับที่นักเดินทางต่างชาติที่เดินทางเข้าสิงคโปร์เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะเริ่มเปิดประเทศด้วยซ้ำไป เมื่อสถิตินักเดินทางจากต่างประเทศที่ท่าอากาศยานนานาชาติชางงี เมื่อเดือน มี.ค. พุ่งขึ้นเป็น 1.14 ล้านคน เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่ตัวเลขสูงเกินระดับ 1 ล้านคน

ตัวเลขเหล่านั้นอาจพุ่งสูงขึ้นมากกว่านี้ หากประเทศต้นทางนักท่องเที่ยวสำคัญอย่างจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ผ่อนคลายมาตรการสำหรับการเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น ไม่ใช่ยังคง “ปิดประเทศ” อย่างที่เป็นอยู่

นั่นคือปัญหาหลักประการแรก ถัดมาก็คือภาวะขาดแคลนแรงงานที่รู้และเชี่ยวชาญในการบริการนักท่องเที่ยว หลังจากหลายคนที่ถูกโละไปไม่กลับเข้ามาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีก

แต่ความเสี่ยงที่สูงที่สุดสำหรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเอเชีย-แปซิฟิก ก็คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นทั่วโลก

เพราะหากเศรษฐกิจโลกเกิดถดถอยขึ้นมาจริง ๆ ไม่เพียงความต้องการเดินทางท่องเที่ยวจะลดลงเหลือน้อยที่สุดเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลกระทบต่ออุปทานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จนไม่สามารถรองรับความต้องการเดินทางท่องเที่ยวได้เพียงพอ

ขณะที่ยุทธศาสตร์ “ซีโร่โควิด” ของจีน วิกฤตพลังงาน และสงครามรัสเซียบุกยูเครน ก็สร้างแรงกดดันการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในภูมิภาคพอแรงอยู่ก่อนแล้ว