สตาร์ตอัพที่เกิดได้เพราะวิกฤตเศรษฐกิจ

บทความ โดย มาโนช พฤฒิสถาพร

วิกฤตโควิตที่กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ผมนึกถึง Credit Karma สตาร์ตอัพฟินเทคที่อเมริกาที่ผมเคยทำงานด้วย เมื่อเดือนที่แล้ว Credit Karma ขายให้ Intuit ไปกว่า 2 แสนล้านบาท ความสำเร็จในวันนี้จริง ๆ แล้วมีจุดเริ่มต้นจากวิกฤตการเงินที่อเมริกาในปี 2008

ที่ประเทศอเมริกา ทุกคนจะมีคะแนนเครดิต (credit score) ซึ่งเป็นคะแนนที่บ่งบอกว่าเรามีวินัย มีความน่าเชื่อถือ และมีศักยภาพด้านการเงินขนาดไหน ซึ่งคำนวณจากประวัติการเป็นหนี้และการชำระหนี้ของเราในอดีต ประวัติการใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อมานานขนาดไหน จำนวนบัตรเครดิตและสินเชื่อที่เรามีและสมัคร

ที่นั่นคะแนนเครดิตสำคัญมาก เวลาเราจะสมัครงานเขาก็ดูคะแนนเครดิต เวลาจะเช่าบ้านก็ถูกเรียกดูคะแนนเครดิต คนที่นั่นรู้ว่าถ้าปีหน้าจะกู้เงินสร้างบ้านแล้วอยากได้ดอกเบี้ยต่ำ จะต้องทำให้คะแนนเครดิตตัวเองดีขนาดไหน

ปัญหาคือ ข้อมูลที่สำคัญเช่นนี้คนทั่วไปเข้าถึงได้ยากมากและต้องเสียเงิน

Ken Lin เห็นโอกาสตรงนี้ จึงสร้าง Credit Karma ขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลคะแนนเครดิตตัวเองได้ฟรี

เขาและทีมเปิดตัวเว็บไซต์ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2008

แต่แล้วในเดือนกันยายน วิกฤตการเงินในวอลสตรีตได้เกิดขึ้น กระทบคนหลายสิบล้านคน credit score ของพวกเขาย่ำแย่ เพราะไม่มีเงินจ่ายหนี้

พอต้องออกจากงาน พวกเขาอยากกลับไปสร้าง credit score ที่ดีอีกครั้ง พวกเขาจึงลองใช้ Credit Karma

ไม่ใช่แค่บอก credit score ให้ผู้ใช้รู้ แต่ Credit Karma ยังแนะนำวิธีเพิ่ม credit score ของผู้ใช้

เมื่อ product ที่ใช่ มาเจอกับ opportunity อันใหญ่ จำนวนผู้ใช้ Credit Karma จึงเติบโตเร็วมากในปีถัดมา จนกลายเป็นสตาร์ทอัพด้านฟินเทคที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรายนึง (อ่านเรื่องราวของ Credit Karma และอีก 19 สตาร์ทอัพที่น่าสนใจที่อเมริกาที่ยังไม่มีในไทย ได้ที่หนังสือ Winning With Ideas จากหนึ่งถึงพันล้าน)

อีกหนึ่งตัวอย่างของสตาร์ทอัพที่เกิดในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 คือ Airbnb ที่ทุกคนรู้จักดี

สมัยก่อนไอเดียที่ให้ใครก็ได้มาอยู่ในบ้านเราคงไม่มีใครเอาด้วย แต่ด้วยวิกฤตการเงินในอเมริกา เจ้าของห้องมองหาหนทางหารายได้เพิ่ม ขณะเดียวกันคนเดินทางก็มองหาทางเลือกที่พักที่ราคาถูก ทำให้ Airbnb โตกระฉุด กลายเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

ในวิกฤต…มีโอกาสสำหรับธุรกิจใหม่

หลายคนเปรียบเทียบวิกฤตโควิดกับวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 ซึ่งทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวของบริษัทนึงที่เรียกได้ว่าเป็นสตาร์ตอัพไทยรายแรกที่เข้าตลาดสำเร็จ ในสมัยที่ยังไม่มีใครรู้จักคำว่าสตาร์ตอัพ

บริษัทนั้นชื่อ ออฟฟิศเมท ก่อตั้งโดย พี่หมู วรวุฒิ อุ่นใจ

ออฟฟิศเมท เริ่มจากการเป็นร้านขายเครื่องเขียน พอพี่หมูเข้ามาบริหารก็เริ่มขยายไปขายลูกค้าองค์กร

พอเจอวิกฤตปี 40 ที่มาแบบไม่ตั้งตัว ยอดขายของออฟฟิศเมทก็กระทบเยอะอยู่

แต่พี่หมูกลับมองว่า วิกฤตนี้คือโอกาส สำหรับการทำสิ่งใหม่ ในช่วงที่เกิดวิกฤตสิ่งที่ลูกค้าต้องการคือความมั่นใจ และประหยัดค่าใช้จ่าย

ทำให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ในที่สุด

พี่หมูกล่าวไว้หลังวันที่เอาบริษัทเข้าตลาดว่า

“ช่วงวิกฤตปี 40 ผมมองว่าองค์กรหลายแห่งก็ยังอยู่ และพวกเขาไม่มีกำลังจะติดต่อกับใครมากรายอีกแล้ว ทางที่ดีเขาอยากได้ตัวเลือกชัวร์ ๆ ง่าย ๆ แห่งเดียวไปเลย ที่ไว้ใจได้สั่งซื้อได้โดยไม่ต้องออกไปเลือกหาข้างนอกให้เปลืองเวลาและน้ำมัน ผมเลยสวนกระแสออกแค็ตตาล็อกสีให้หนา 200 หน้าจากเดิมร้อยหน้า ใช้กระดาษดีที่สุด รูปเล่มสวยที่สุด ได้ผล ยอดขายของเรากลับโตขึ้น 30% และโตราว ๆ 30% ถึง 40% ทุกปี”

ในวิกฤต มีโอกาส ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู แต่คือสิ่งที่เป็นไปได้จริง

พี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ เคยกล่าวไว้ว่า

“กันดารคือสินทรัพย์”

“เมื่อหัวว่าง จึงสร้างสรรค์”

“ปัญหามีสองอย่าง ปัญหาที่แก้ได้ และปัญหาที่แก้ไม่ได้”

ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคน โดยเฉพาะผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ และคนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ ให้มองปัญหาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว คือโอกาสอันดีที่เรามีข้อจำกัดเราจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ หาโอกาส จากความเปลี่ยนแปลงใน lifestyle และรายได้ของผู้บริโภค และความเปลี่ยนแปลงที่บริษัทต่าง ๆ ต้องเผชิญ มองสิ่งเหล่านี้เป็น trend เป็น opportunity

โอกาสใหญ่ในตอนนี้คือ หนึ่ง ธุรกิจที่ช่วยให้คนมีรายได้เสริม และสอง ธุรกิจที่ช่วยให้แผนกใดแผนกหนึ่งในบริษัทลดต้นทุน

วิกฤตคือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว สิ่งที่กำลังจะเกิดคือโอกาสธุรกิจใหม่ ที่วิกฤตนี้ได้นำมา

ปล. ผมเขียนในวันที่เพื่อนเจ้าของกิจการหลายคนเพิ่งจ่ายเงินเดือนให้ลูกน้องไป


 

ข้อมูลผู้เขียน : มาโนช พฤฒิสถาพร มีประสบการณ์ทำสตาร์ตอัพทั้งในไทยและอเมริกา เขาจบ MBA จาก Kellogg School of Management และทำงานต่อในซานฟรานซิสโก ที่ Credit Karma บริษัทสตาร์ตอัพมูลค่าแสนล้าน ปัจจุบันทำงานที่ทีมสร้างสตาร์ทอัพ บริษัท SCB10X เขาเป็นผู้เขียนหนังสือ “A DREAM TO DIE FOR ล้ม 3,000 ครั้ง เพื่อชนะฝันเดียว” และ “WINNING WITH IDEAS จากหนึ่งถึงพันล้าน

 


ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์  “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน