จะได้เกษียณ (กัน) มั้ย ?

วัยเกษียณ
คอลัมน์ : เอชอาร์คอร์เนอร์
ผู้เขียน : พิชญ์พจี สายเชื้อ

คงจำกันได้ว่าหลังโควิดเรามีเทรนด์ใหม่ที่เรียกว่า the great resignation คือการที่คนวัยทำงานชิงกันลาออก เนื่องจากมีความต้องการในการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม และการมีโควิดทำให้ได้รับรู้ (รสชาติ) รูปแบบการทำงานใหม่ ๆ ที่พอจะกลับไปเหมือนเดิมก็รับไม่ได้ หรือกระทั่งบางคนค้นพบ purpose ในการทำงานรูปแบบอื่น (ที่ไม่ใช่การทำงานประจำ)

ตอนนี้มีเทรนด์เกิดใหม่อีกแล้วที่เรียกว่า “the great unretirement” (ซึ่งเป็นความสนใจส่วนตัวด้วย เพราะใกล้เคียงกับ (อายุ) ตัวเอง (ฮา) โดยทาง Techsause เว็บไซต์เทคโนฯชื่อดัง ได้ให้คำจำกัดความ unretirement คือการที่ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณอายุ หรือผู้ที่ใกล้จะเกษียณอายุเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแรงงาน หรือยังคงทำกิจกรรมที่สร้างรายได้และกำไรต่อตนเองต่อไป

ทั้งนี้มีข้อมูลทางสถิติที่น่าสนใจอื่น ๆ อีก เช่น ผลจาก CNBC Survey บอกว่า 65% ของคนทำงานที่เกษียณไปแล้วกำลังตัดสินใจจะกลับมาทำงานอีกครั้ง หรือเกือบ 94% ของคนที่ลาออกไปช่วงโควิด (คืออาจไม่ได้เกษียณก็ได้) ก็กำลังตัดสินใจกลับมาทำงานอีก ซึ่ง CNBC วิเคราะห์ว่า

ทั้งนี้เกิดจาก the great resignation ทำให้คนเครียดตัดสินใจลาออก แต่เมื่อโควิดเริ่มซาลงก็เกิดปัญหาใหม่ เศรษฐกิจตกต่ำ บวกกับเกิด “ความขาดแคลนคนทำงาน” ทำให้คนที่เกษียณและลาออกเริ่มตัดสินใจกลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ CNBC ยังบอกอีกว่า ตอนที่ออกกันไป 33% ออกเพราะปัญหาสุขภาพ 27% เพราะโควิด อีก 19% แค่ไม่อยากทำงานแล้ว ถึงตอนนี้โควิดซาไป (และ 85% ของคนที่อายุมากกว่า 50 ปีในสหรัฐ ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว) ทำให้คนที่ออกกันไปเลยอยากกลับมาทำงานอีก

ซึ่งข้อมูลจากกรมแรงงานสหรัฐก็ให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า ตอนนี้ 1.5 ล้านคนของคนที่จะเกษียณได้กลับมาทำงานแล้ว ซึ่งทาง Director of the Center for Retirement Research ที่ Boston College ได้สรุปสั้น ๆ ว่า “พนักงานที่อายุมาก (หรือเกษียณแล้ว) ได้ตัดสินใจกลับมาทำงานอีก”

ในอังกฤษก็เช่นเดียวกัน ค่าครองชีพและเงินเฟ้อ ทำให้คนเกษียณต้องกลับมาทำงาน ซึ่งทาง Office of National Statistic หรือสำนักงานสถิติของอังกฤษบอกว่า คนที่อายุมากกว่า 50 ปี (ที่ควรเกษียณแล้ว) ยังต้องทำงานอยู่หรือกำลังหางานทำ โดยสถิติบอกว่ามากกว่าครึ่งของคนที่หางานเป็นผู้ชายที่อายุมากกว่า 65 (ซึ่งเพิ่มขึ้น 8.5% จากเดิม)

ส่วนผู้หญิงเพิ่มขึ้น 6.8% จากเดิม ซึ่งคนเหล่านี้คือคนที่ “กลับ” มาทำงานหลังเกษียณไปแล้ว “ไม่ใช่” คนที่ขยายอายุการเกษียณนะคะ เนื่องจากว่าตอนแรกพวกเขาคิดว่าจะเกษียณพร้อมบำนาญที่เพียงพอที่จะอยู่ได้อย่างสบาย แต่เอาเข้าจริงมาเจอวิกฤตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อเข้าก็คิดว่าไม่พอแล้ว กลับมาทำงานดีกว่า !

มีเคสจากอังกฤษ คือ “Dr.James Derounian” ซึ่งกลับมาทำงานหลังจากเกษียณไปได้ 2 ปีบอกว่า “ผมมีแผนจะเกษียณ แต่เงินเฟ้อทำลายแผนนั้นหมดเลย”

นอกจากนี้ สถิติจากสำนักงานสถิติอังกฤษบอกว่า ได้ทำ survey กับคน 12,000 คนที่มีอายุ 50-70 ปี โดยถามว่าเขาจะกลับไปทำงานอีกมั้ย ? คำตอบที่ได้รับคือ 1 ใน 3 ของคนอายุ 50-64 และ 1 ใน 10 ของคนอายุมากกว่า 65 บอกว่า “กลับ”

โดยเทรนด์นี้สอดคล้องกับโพลของ Rest Less’s Retired Member ที่ว่า 32% บอกว่ากำลังคิดจะกลับไปทำงานหรือได้กลับไปทำงานแล้ว และ 70% บอกว่าพวกเขากลับไปทำงานเนื่องจาก “เหตุผลทางการเงิน”

สรุปสั้น ๆ สำหรับพวกเราในเมืองไทยที่กำลังจะเกษียณหรือเกษียณไปแล้วว่า คงต้องกลับไปดูสถานะทางการเงินอีกครั้งว่าจะเพียงพอรองรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น หรือเงินเฟ้อหรือสภาพเศรษฐกิจตกต่ำมั้ย

และถ้า “ไม่” จะมี “แผนสำรองอย่างไร” ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปทำงานอีก (จะมีงานให้ทำมั้ย ?) ประหยัดให้มากขึ้น (เงินจะพออยู่ถึงเสียชีวิตมั้ย ?) หรือออมให้มากขึ้นสำหรับคนที่ยังไม่เกษียณ (แค่ค่าใช้จ่ายก็มากเหลือเกิน)

ส่วนในภาครัฐหรือเอกชนก็อยากให้มีแผนรองรับเพื่อช่วยเหลือด้วย เช่น การจ้างงานผู้สูงอายุให้มากขึ้น การขยายอายุเกษียณสำหรับตำแหน่งที่จำเป็น หรือการมีโครงการหรือกฎหมายเกี่ยวกับการออมต่าง ๆ ที่จะ
ช่วยเหลือผู้เกษียณอายุในระยะยาว เป็นต้น


ขออนุญาตฝากไว้จาก (ใจ) ผู้ที่ (กำลัง) จะเกษียณอายุเหมือนกัน ?