อีกนิด…พิชิตเอดส์ ระดมภาคียุติโรคร้ายเป็นศูนย์

ถึงแม้ว่าในปี 2559 ประเทศไทยจะได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ต่ำกว่า 2% ซึ่งเป็นประเทศแรกของเอเชีย และเป็นประเทศที่ 2 ของโลก

แต่กระนั้น เอดส์ยังไม่ได้หายไปจากสังคมไทย จากสถิติของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (พฤศจิกายน 2559) พบว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ จำนวน 427,000 คน มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ จำนวน 15,000 คน เฉลี่ยวันละ 42 คน และมีผู้ติดเชี้อรายใหม่มากถึง 6,300 คน ซึ่งเฉลี่ยถึงวันละ 19 คน

ฉะนั้น จึงเกิดคำถามตามมาว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันการสนับสนุนงบประมาณจากต่างชาติก็กำลังจะหมดลง และการต่อสู้เพื่อไปถึงเป้าหมายการพิชิตเอดส์ คงต้องหยุดชะงัก การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีจะกลับมา และจะกระทบต่อสังคมในภาพรวมอย่างไรบ้าง ?

ด้วยเหตุนี้ การทำงานเพื่อยุติเอดส์ในประเทศไทย จึงไม่ใช่เป็นหน้าที่ของภาครัฐบาล ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน หรือของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมที่สนับสนุนการขับเคลื่อน เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ภายในปี 2573 หรืออีก 12 ปี ตามเป้าหมายของนานาชาติ

“โครงการอีกนิด…พิชิตเอดส์ (AIDS-Almost Zero)” เป็นการรวมตัวของภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร และทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ ภาคเอกชนที่มีแนวทางที่พร้อมจะช่วยเหลือสังคมในการแก้ไขปัญหาระดับชาติจึงเกิดขึ้น

ทั้งยังเกิดกลไกภายใต้ชื่อคณะกรรมการอีกนิดพิชิตเอดส์ (AIDS-Almost Zero Committee) โดยการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการจาก UNAIDS และได้มอบหมายให้มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย (มอท.) เป็นองค์กรแกนนำในการระดมทุน เพื่อจัดสรรสู่องค์กรที่นำเสนอโครงการที่ทำงานด้านเอดส์ ตามมาตรฐานและเป้าหมายในการพิชิตเอดส์ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับกองทุนโลก จนนำมาปรับใช้กับการทำงาน โดยอาศัยกลไกภายในประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

“เย็นจิต สมเพาะ” ผู้อำนวยการมูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการอีกนิดพิชิตเอดส์ ดำเนินงานภายใต้แผนงานของประเทศ และยุทธศาสตร์สำคัญในการลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีให้หมดไปจากประเทศไทย ด้วยการเข้าถึงความรู้ อุปกรณ์ป้องกันเอดส์ ตรวจภาวะการติดเชื้อเอชไอวี และหากตรวจพบรักษาทันที รักษาอย่างถูกต้อง อย่างต่อเนื่อง

“ในการทำงานยังต้องอาศัยการระดมทุนเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการพิชิตเอดส์ตามแผนงานในอีก 12 ปี โดยทางโครงการตั้งเป้าหมายในการระดมทุน 50 ล้านบาทในปีแรก และเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป 100-200 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานป้องกันเอดส์ในกลุ่มประชากรต่าง ๆ ด้วยวิธีการที่สอดคล้องและเหมาะสมกับเป้าหมายโครงการ เราเชื่อว่าการจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ภายในปี 2573 ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ”

“โดยเฉพาะการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการ และสนับสนุนเงินทุนของภาคเอกชนถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการร่วมกันทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ของประเทศ และเป็นภาคี หุ้นส่วนที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ปัจจุบันมีภาคเอกชนตอบรับเข้าร่วมโครงการอยู่ประมาณ 10 ราย ทั้งนี้ ยังมีเอกชนบางรายที่อยู่ในระหว่างการตัดสินใจ”

“ในการเข้ามาร่วมทำงานของภาคเอกชน เรามองถึงการนำเอาศักยภาพของภาคเอกชนที่มีมาใช้ในการขับเคลื่อนโครงการนี้ อาทิ เรื่องการตลาด การระดมทรัพยากร การจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับเรื่องเหล่านี้ รวมถึงการระดมทุน ซึ่งเราเชื่อว่าหากภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้เกิดภาคีของภาคเอกชนที่มากขึ้น หรืออาจจะพูดง่าย ๆ ว่าภาคเอกชนที่เข้ามา นอกจากการร่วมกันรณรงค์แล้ว ยังช่วยกันระดมทุนสนับสนุนโครงการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้”

ขณะที่หนึ่งตัวแทนของภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม (ไม่ขอระบุนาม) กล่าวว่า การเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนอกจากการมอบเงินทุนสนับสนุนแล้ว ส่วนหนึ่งยังได้ร่วมกันทำงานในเรื่องของแผนการตลาด และการสื่อสาร เพราะเราถือว่ามีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบข้อมูล และสามารถสื่อสารให้กับผู้บริโภคได้อย่างตรงไปตรงมา ช่วยให้การทำงานของโครงการ และมูลนิธิ ในการนำเนื้อหาไปเชื่อมโยงกับการระดมทุนจากภาคธุรกิจอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

“ขณะเดียวกัน เรายังเข้ามาร่วมคิดแผนการดำเนินงาน และเป็นที่ปรึกษา รวมถึงการดึงเอาภาคเอกชนที่รู้จักเข้ามาเป็นพันธมิตร และมีส่วนร่วมในโครงการ มูลนิธิ ตลอดจนระดมเงินทุนในองค์กรเพื่อไปช่วยในการสนับสนุนโครงการ และการที่เราเป็นประเทศที่ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ หรือเป็นศูนย์นั้น ประเด็นที่สำคัญคือความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาลที่ทำหน้าที่ในการรักษา ภาคประชาสังคมทำหน้าที่ในการรณรงค์ป้องกัน ซึ่งภาคประชาสังคมยังขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ทำให้ไม่สามารถลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงได้”

“ฉะนั้น ภาคเอกชนจึงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกันผลักดันกับภาคประชาสังคม เพื่อช่วยสนับสนุนงบประมาณที่ยังขาดอยู่ ทั้งยังสามารถนำเอาศักยภาพ หรือความเชี่ยวชาญในการทำงาน ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนมาสอดประสานการทำงาน เพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมาย”

นอกจากนั้น ตัวแทนภาคเอกชน (ไม่ขอระบุนาม) ยังกล่าวอีกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ และการที่เราขอผลักดันในฐานะเบื้องหลัง เนื่องจากเราเป็นองค์กรเล็ก ๆ ที่ร่วมสนับสนุนเงินทุนบางส่วน เพื่อนำศักยภาพขององค์กรที่มีมาช่วยในการสื่อสารและขับเคลื่อนโครงการว่ามีความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องมีโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งถ้าหากมีหลายองค์กรเข้ามาช่วยเชื่อว่าคนละเล็กละน้อย จะทำให้ประเทศไทยสามารถยุติการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

“จากการที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของการทำงานอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจเรื่องเหล่านี้ง่ายมากขึ้น มีข้อมูลที่ชัดเจนแบบเดียวกัน แต่ไม่ใช่เน้นเป็นแบบวิชาการ ซึ่งเมื่อการสื่อสารเข้าใจง่าย มีรูปแบบชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนมีความสนใจที่จะเข้ามาร่วมในโครงการนี้ และบางส่วนมีการตอบรับที่จะสนับสนุนเงินทุนบ้างแล้วด้วย”

“เราเชื่อว่าไม่ใช่แค่เพียงการสนับสนุนเงินทุนเท่านั้น แต่หากภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมในการยุติการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม”

ทั้งยังสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และช่วยลดการกีดกัน หรือตีตราทางสังคมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

 


 

หยุดตีตราทางสังคม

การยุติการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในสังคมไทย นอกจากการรณรงค์ป้องกัน, การเข้าถึงความรู้, อุปกรณ์ในการป้องกันเอดส์, ตรวจภาวะการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งหากมีการตรวจพบจะต้องรักษาทันที และจะต้องรักษาอย่างถูกต้อง และต่อเนื่อง

แต่กระนั้น ประเด็นเรื่องการตีตราของสังคมถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ

“นพรุจ หมื่นแก้ว” ประธานกลุ่มรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีน กลุ่มเยาวชนที่เกิดจากการรวมตัวของเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวี และเด็กเยาวชนที่ไม่ได้รับเชื้อเอชไอวี เพื่อทำงานเกี่ยวกับเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า ในมุมมองของผมหากจะยุติการแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวีในสังคมนั้น การตีตราทางสังคมจะต้องหมดไปด้วย ซึ่งผมคิดว่าอาจเป็นเพราะความผิดพลาดของคนรุ่นก่อน ๆ ที่รณรงค์เรื่องเอดส์/เอชไอวีในเชิงลบ จนเกิดความน่ากลัว

“แต่เมื่อผ่านยุคสมัยหนึ่ง เรื่องของเอชไอวีกลับเปลี่ยนไป เพราะเอดส์รักษาได้ คนติดเชื้อเอชไอวีสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทำงานร่วมกันได้ และใช้ชีวิตร่วมกันได้ เพราะเชื้อเหล่านี้ไม่ได้ติดกันง่าย ๆ อีกทั้งผู้ได้รับเชื้อสามารถเข้าถึงยาในการรักษา ผมอยากให้สังคมยอมรับ ซึ่งผมคิดว่าเอชไอวีถือเป็นโรคเชิงวิทยาศาสตร์ และเป็นโรคเชิงสังคมด้วย”

“ผมจำได้ว่ามีครั้งหนึ่งที่ผมได้ยินผู้บริหารโรงเรียนท่านหนึ่งนำข้อมูลเด็กที่ได้รับเชื้อเอชไอวีมาพูดหน้าเสาธงในตอนเช้า ซึ่งมีเด็ก ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก และผมก็เป็นหนึ่งในสาธารณชนที่นั่งฟังอยู่ในวันนั้น และจำเหตุการณ์ได้ดี ผู้บริหารท่านนั้นพูดถึงน้องที่ได้รับเชื้อเอชไอวีว่า เป็นอาชญากรเงียบ และมีความน่ากลัว เหมือนกับไปฆ่าคนทางอ้อม ตรงนี้เป็นมุมมองของผู้บริหาร จนทำให้ผมจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ว่า การตีตราทางสังคม มีความสำคัญเป็นอย่างมาก”

“ถ้าหากย้อนไปในวันนั้น ผมอยากบอกผู้บริหารโรงเรียนว่า ท่านอยู่ระดับที่สามารถโน้มน้าวแนวคิดของเด็ก และสังคมได้ อยากลองให้เปิดใจกว้างกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่แค่ท่านอย่างเดียว แต่ผมอยากจะสื่อสารไปยังทุกภาคส่วนที่ทำงานในระดับบริหารให้เปิดใจต่อทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวี”

เพราะคุณอาจเป็นส่วนหนึ่งของการหยุดการตีตราและสร้างการยอมรับของสังคม จนทำให้เกิดการยุติการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในสังคมไทย ที่แม้อาจจะเป็นเพียงแสงสว่างปลายอุโมงค์ก็ตาม