ถอดรหัสศิษย์เก่าวิทยาลัยดุสิตธานี ปั้นธุรกิจอย่างไรให้สำเร็จและยั่งยืน

ศิษย์เก่าวิทยาลัยดุสิตธานี

สำนักศิษย์เก่าวิทยาลัยดุสิตธานี ฐานะสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจบริการโดยตรงในเครือโรงแรมดุสิตธานี จัดเสวนา DTC Alumni Talk ครั้งที่ 3 ขึ้น ในหัวข้อ “ถอดรหัส DNA ปั้นธุรกิจสำเร็จได้สไตล์ DTC” เพื่อหาคำตอบว่าผู้ประกอบการสามารถทำอย่างไรให้ดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน

หลังจากที่โรคระบาดหนักโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นวงกว้าง บางธุรกิจต้องปิดกิจการลง อีกหลายธุรกิจต้องใช้เวลาฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในอุตสาหกรรมบริการที่โดนเล่นงานอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการหลายรายที่สามารถพาธุรกิจผ่านอุปสรรคต่าง ๆ และอยู่รอดมาได้

สำนักศิษย์เก่าวิทยาลัยดุสิตธานีจึงได้ชวนศิษย์เก่า ที่สามารถทำธุรกิจให้สำเร็จและยั่งยืนผ่านวิกฤตโควิดได้ มาขึ้นเวทีร่วมแบ่งปันแนวทาง ได้แก่ ธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ (เชฟจากัวร์) เจ้าของและ Executive Chef ร้านอาหาร SARN Khonkaen Fine Dining, บุษกร ยอเกียรติยศ ผู้อำนวยการผู้บริหารฝ่ายพันธมิตรและสำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย,

เสาวรส อริยรัชโตภาส เจ้าของโรงแรม Talakkia Boutique Hotel และ Loftel Group และอดิศร สกลวิทยานนท์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการครัว ผู้เข้าร่วมรายการ Shark Tank Thailand Season 3 โดยมีภัทรา ชูวิเชียร ผู้อำนวยการแผนกห้องพักโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สยามสแควร์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

“ธีรวีร์” กล่าวว่า ประเทศไทยเหมาะสำหรับการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพราะค่อนข้างมีกฎระเบียบและข้อจำกัดน้อยหากเทียบกับประเทศอื่น อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญในการก่อตั้งธุรกิจคือ cash flow หรือกระแสเงินสดที่ต้องมีมากเพียงพอสำหรับไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน พร้อมกับยกตัวอย่างกิจการร้านอาหารของตนที่ขอนแก่น ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ต้องปิดร้านไปนานกว่า 20 วันจากปัญหาน้ำท่วม ว่าถ้ากระแสเงินสดไม่ได้เตรียมไว้อย่างเพียงพอก็อาจต้องถึงกับยุติกิจการ

“ปัจจุบันสถาบันการเงินให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยอย่างมาก จึงมีรูปแบบการให้บริการทางการเงินมากมาย ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องมีความโปร่งใส จัดเตรียมเอกสารอย่างรัดกุม ไม่ว่าจะเป็นเอกสารการซื้อการขาย หลักฐานการเสียภาษี ฯลฯ เพราะจะทำให้สถาบันการเงินพิจารณาให้ความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น”

“บุษกร” ผู้ทำงานในแวดวงการเงินสนับสนุนว่า สถาบันทางการเงินมีเส้นทางการเรียนรู้ (learning curve) จากประสบการณ์ของลูกค้า จึงสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เหมาะสมตามความต้องการอันหลากหลายของลูกค้าได้ จึงนับเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการที่มีทางเลือกมากขึ้น

“ผู้ประกอบการควรตระหนักเรื่องต้นทุนเป็นสำคัญ และไม่ควรที่จะลงทุนแบบเทหน้าตัก เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุนมาก แต่ควรลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือไปเพิ่มทุนในภายหลัง อีกทั้งปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจแนวคิดความยั่งยืน (sustainability) มากขึ้น เพราะต่อให้สินค้าหรือบริการดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคก็จะไม่สนับสนุน”

“เสาวรส” กล่าวเสริมว่า นอกจากแนวคิดเรื่อง sustainability แล้ว ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสินค้าหรือบริการก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน แทนที่จะแข่งขันกันเรื่องราคา ก็ควรแข่งขันสร้างแบรนด์ให้โดดเด่น เพราะราคาที่ย่อมเยาไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคยุคนี้ต้องการเพียงอย่างเดียว

“หากสินค้าหรือบริการมีความโดดเด่น ถึงจะต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น ผู้บริโภคก็ยินดีจ่าย อย่างเช่นธุรกิจโรงแรมของตนซึ่งตั้งอยู่ในย่านตลาดน้อย ก็ใช้วิธีดึงความโดดเด่นของชุมชนมาเป็นจุดขายไปพร้อม ๆ กับการสร้างความเข็มแข็งภายในชุมชน ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สะท้อนถึงแนวคิดเรื่อง sustainability ด้วย”

ขณะที่ “อดิศร” แนะนำว่า การจะดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสำรวจตลาดและความต้องการของผู้บริโภคให้ถ่องแท้เสียก่อน เพื่อที่เราจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างดีที่สุด

“ข้อผิดพลาดส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ คือความใจร้อนเกินไป และตีความหมายของคำว่า ลงมือทำทันทีผิด เพราะอันที่จริงแล้วคำว่า ลงมือทำทันทีไม่ได้หมายถึงการเปิดกิจการในทันที แต่เพียงแค่เริ่มสำรวจตลาดก็เรียกว่าเป็นการลงมือทำแล้ว”

ด้าน “ธีรวีร์” กล่าวทิ้งท้ายว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ดังเช่นผู้ร่วมเสวนาทุกคนที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยดุสิตธานีที่สอนครอบคลุมทั้งทักษะภาคปฏิบัติและการบริหารจัดการ ทำให้สามารถนำเอาความรู้มาใช้ในการประกอบธุรกิจ ก่อนที่เขาจะตั้งคำถามกับผู้ประกอบการที่เผชิญกับวิกฤติโควิดที่ผ่านมาว่า การปิดกิจการมีสองแบบ แบบแรกคือปิดเพราะยอมแพ้ อีกแบบคือปิดพักเพื่อทบทวนปัญหา แล้วกลับมาเปิดใหม่ในรูปแบบที่ดีกว่าเดิมและยั่งยืน สุดแท้แต่ว่าผู้ประกอบการจะเลือกแบบไหน