
แรงงานต่างด้าวหลุดระบบ 5 แสนคน เร่งนายจ้างดำเนินการยื่นเอกสารทำตามขั้นตอน กกจ. เตรียมคน รับคำยื่นถึงเวลา 16.30 น. ของวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
จากสถิติในไตรมาสที่ 1/2566 ของกระทรวงแรงงาน มีแรงงานต่างชาติในไทยจำนวน 2,743,673 คน แบ่งเป็น กัมพูชา 4.14 แสนคน เมียนมา 1.86 ล้านคน ลาว 2.10 แสนคน และเวียดนาม 2,230 คน ส่วนอีก 3 แสนคนเป็นแรงงานสัญชาติอื่น ๆ นับว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวในไทยถือเป็นร้อยละ 6.92 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในไทย และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยระบุว่า จำนวนแรงงานต่างด้าวปัจจุบัน เพิ่มขึ้นจากในช่วงโควิก-19 ที่ลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน และคาดว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวในไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านคน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่
เพราะปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไทย โดยเฉพาะด้านกิจการก่อสร้าง เกษตรและปศุสัตว์ และกิจการให้บริการต่าง ๆ ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) จำนวนมาก
ที่ผ่านมากรมการจัดหางาน (กกจ.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจยังคงปรากฏอยู่ โดยการนำเข้าแรงงานจะเป็นในรูปแบบภายใต้ข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศต้นทาง
เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบถูกกฎหมายตามเอกสารหรือหนังสือที่มีการบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Understanding หรือ MOU) วาระจ้างงาน 4 ปี นายจ้างจะต้องยื่นคำขอแรงงานต่างด้าว โดยสามารถระบุคุณสมบัติของแรงงานได้ไม่ว่าจะเป็น เพศ จำนวนแรงงาน หรือแม้แต่ทักษะในการทำงาน
5 แสนคน สถานะยังไม่ถูกกฎหมาย
หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย นายจ้าง/สถานประกอบการก็มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางส่วนจำเป็นต้องจ้างงานคนต่างด้าวที่วาระจ้างงานตาม MOU ครบ 4 ปีแล้ว หรือจ้างคนที่เข้าเมืองโดยไม่ถูกต้อง
กระทรวงแรงงานจึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ประสงค์จะทำงานต่อในประเทศไทย
จะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานภายใน 13 กุมภาพันธ์ 2566 และดำเนินการเพื่อให้ได้เอกสารหลักฐานต่าง ๆ แล้วนำมายื่นกับกรมการจัดหางาน ภายใน 15 พฤษภาคม 2566 ซึ่งมีประมาณ 7 แสนคน แต่มีประมาณ 2 แสนคนที่ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานสำเร็จ
เท่ากับมีคนต่างด้าวที่ไม่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวนประมาณ 500,000 คน ปัจจุบันกลายเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้
ยื่นรายชื่อ ภายใน 31 ก.ค. 2566
ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ และสามารถทำงานกับนายจ้างไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
แต่นายจ้างต้องดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่าย ต่อกรมการจัดหางาน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th หรือ ณ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
กกจ. เตรียมกำลังคน ทำงานถึงเที่ยงคืน
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เห็นชอบตามที่สํานักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีเสนอ เรื่อง การกําหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ประจําปี 2566 (เพิ่มเติม) โดยกําหนดให้วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 เป็นวันหยุดราชการเพิ่ม
กรณีหน่วยงานที่มีภารกิจ ในการให้บริการประชาชน หรือมีความจําเป็นหรือราชการสําคัญ ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดําเนินการ ตามที่เห็นสมควร โดยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและกระทบต่อการให้บริการประชาชนนั้น
กรมการจัดหางาน (กกจ.) พิจารณาแล้ว เพื่อให้การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอให้สํานักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสํานักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ดำเนินการดังนี้
1. รับยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวถึงเวลา 16.30 น. ของวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 และดําเนินการตามแนวทางหนังสือกรมการจัดหางาน
2. จัดเจ้าหน้าที่จนถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เพื่ออํานวยความสะดวก และเตรียมความพร้อมในการแก้ไขข้อขัดข้องจากการยื่นเอกสารเป็นวันสุดท้าย
หากนายจ้างติดปัญหาในขั้นตอนการยื่นบัญชีรายชื่อฯ หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694