สยามพิวรรธน์ มุ่ง Net Zero กางโรดแมปพัฒนาย่านปทุมวันยั่งยืน

“สยามพิวรรธน์” เจ้าของและผู้บริหารสยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพฯ ประกาศเป้าหมายเดินหน้าสู่ net positive impact โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกในไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2030 ซึ่งการประกาศเป้าหมายนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากโครงการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี

โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการขยะ ภายใต้โครงการ “Siam Piwat 360 Waste Journey to Zero Waste” ที่ยกระดับแผนจัดการบริหารขยะแบบ 360 องศา เพื่อเป้าหมาย “zero waste” ด้วยการรณรงค์ให้ลูกค้า ประชาชน และพนักงานเข้าใจ และเรียนรู้การคัดแยกขยะ ด้วยการสร้างระบบคัดแยกขยะที่ครบวงจร เพื่อส่งต่อไปรีไซเคิล หรือกระบวนการแปรรูปเป็นวัตถุดิบเพื่อนำมาสู่การอัพไซคลิ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

อีกทั้งยังเปิดพื้นที่บริเวณศูนย์การค้าทำเป็น recycle collection center ด้วยการจัดวางถังเพื่อจัดเก็บวัสดุประเภทต่าง ๆ ที่ใช้แล้ว และสะอาด 8 ประเภท ได้แก่ กระดาษ, แก้ว, อะลูมิเนียม, ขวดน้ำ (PET), พลาสติกยืด, พลาสติกแข็ง, multilayer plastic และกล่องนม กล่องน้ำผลไม้

ยิ่งเฉพาะอย่างยิ่งประเภท multilayer (พลาสติกซองขนมขบเคี้ยว, ถุง refill และน้ำยาต่าง ๆ) ที่ยังไม่เคยมีการจัดเก็บอย่างถูกต้องมาก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคนำมาหย่อนลงในถัง ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลและอัพไซคลิ่ง เพื่อเพิ่มมูลค่ากลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

Advertisment

โดยจะมีบางผลิตภัณฑ์นำมาจัดแสดง และจำหน่ายในพื้นที่สำหรับสินค้ารักษ์โลก “อีโคโทเปีย” ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ อันสอดรับกับเป้าหมายลดปริมาณการฝังกลบขยะของสยามพิวรรธน์ จากการดำเนินงาน 50% ภายในปี พ.ศ. 2573 และปีที่ผ่านมาเก็บปริมาณขยะกว่า 1 หมื่นกิโลกรัม ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 4,000 ตัน หรือเทียบกับการปลูกต้นไม้ 2,700 ต้น

รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล-นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์

เดินหน้าสู่ net positive impact

“นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์” ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า สยามพิวรรธน์ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมามากกว่า 10 ปีแล้ว จากนี้ไปเราตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเดินหน้าสู่ net positive impact ตั้งเป้าเป็นศูนย์การค้าแรกในไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2030 เพื่อไปสู่เป้าหมายใหญ่ คือ net zero ในปี 2050

นอกจากนั้น ยังเตรียมที่จะยกระดับย่านปทุมวัน สู่แนวคิดการสร้างสรรค์เมืองให้เป็นย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ ซึ่งสยามพิวรรธน์ไม่ได้สร้างแค่ศูนย์การค้าอย่างเดียวอีกต่อไป แต่สร้างเมืองขนาดย่อม ๆ สร้างพื้นที่ให้คนใช้ชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้อีกด้วย

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราพัฒนาการทำพลังงานสะอาด ทำอีโคโปรเจ็กต์ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการขยะ การบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานร่วมกับหลายพันธมิตร เพื่อพัฒนาระบบการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ renewable energy (RE) ในทุกศูนย์การค้าภายในกลุ่มสยามพิวรรธน์ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในพื้นที่ศูนย์การค้าต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน 30% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ที่สยามพิวรรธน์บริหารจัดการเอง ภายในปี 2569 และ 100% ภายในปี 2573”

Advertisment

ซึ่งร่วมกับบริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังพยายามปรับเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด โดยร่วมมือกลุ่มบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกันพัฒนาและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (solar rooftop)

บนพื้นที่ สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ กว่า 20,000 ตารางเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 70 ล้านบาท ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละกว่า 4,800,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 4,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

อีกส่วนคือโซลาร์รูฟท็อปที่ไอคอนสยาม สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 550 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

“นราทิพย์” กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสยามพิวรรธน์อนุรักษ์พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟ LED ช่วยประหยัดพลังงาน และการใช้ระบบ AI ในการควบคุมการทำงานของระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร รวมทั้งติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มมากขึ้นในทุกศูนย์การค้า จากปัจจุบันดำเนินการแล้ว 47 จุดชาร์จ

“ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นแผนการลดคาร์บอนในแผนระยะที่ 1-2 ของสยามพิวรรธน์ ส่วนในระยะถัดไป คือปี 2567 จะเดินหน้าร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกหลาย ๆ แบรนด์ ร่วมกันขับเคลื่อนสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ net zero ภายในปี 2050 ต่อไป”

อย่างไรก็ตาม นอกจากแผนเรื่อง net zero แล้ว “นราทิพย์” กล่าวอีกว่า ยังมีแผนจะพัฒนาย่านปทุมวันอย่างต่อเนื่อง เพราะสยามพิวรรธน์ทำธุรกิจในย่านนี้มามากกว่า 60 ปี เริ่มตั้งแต่โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ในปี 2509 ต่อมาพัฒนาศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ในปี 2516 ถัดมาในปี 2540 พัฒนาสยามดิสคัฟเวอรี่ และล่าสุดในปี 2548 เปิดตัวสยามพารากอน ซึ่งเป็นศูนย์การค้าระดับลักเซอรี่ มีแบรนด์ระดับโลกอยู่กับเรามากมาย

จนทำให้เราตระหนัก และพยายามจะยกระดับเรื่องความยั่งยืนเข้ามาพัฒนาธุรกิจให้ไปสู่มาตรฐานสากล พร้อมกับการพัฒนาสยามให้เป็นย่านของคนรุ่นใหม่ตลอดเวลา เป็นย่านต้นแบบอัจฉริยะภายใต้แนวคิด SMART ECO-DISTRICT และมีกรอบทิศทางในการพัฒนาร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้เมืองที่ยั่งยืนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสูง

“ดิฉันคิดว่าการจะพัฒนาย่านปทุมวัน และสยามต้องเกิดจากความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชนด้วยกัน ซึ่งเราจะมีการศึกษาโรดแมปร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็น gateway ที่สำคัญของประเทศไทย โดยจะมีการทำเป็นผังยุทธศาสตร์ออกมาในไตรมาส 1 ของปี 2567 หลังจากนั้นในไตรมาส 2-4 จะดำเนินการขยายผลออกมาให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมจับต้องได้”

“รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล” ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ย่านปทุมวันเป็นอีกหนึ่งย่านหัวใจสำคัญของกรุงเทพฯ พื้นที่โฟกัสของย่านนี้จะเริ่มบริเวณสี่แยกปทุมวัน ในรัศมี 1 กิโลเมตร เทียบระยะที่สามารถเดินเท้าได้ โดยอดีตจนถึงปัจจุบัน ภาพจำความก้าวหน้าของย่านแห่งนี้ เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ความก้าวหน้าแห่งยุคสมัย ทั้งเป็นพื้นที่ตั้งของศูนย์การค้า แหล่งรวมแฟชั่น เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ในทุกสัปดาห์

อีกทั้งยังมีการเดินทางและขนส่งสาธารณะรองรับครบครัน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบนดินเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน รถโดยสารสาธารณะ การขนส่งทางเรือ มีแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ จุดพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งมีทางเดินเชื่อมในระยะ 800 เมตร ที่คนสามารถเข้าถึงได้ เป็นแรงจูงใจให้คนใช้ตัวเลือกในการเดินทาง โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ ลดการปล่อยก๊าซ

“ดิฉันคิดว่าพื้นที่ตรงนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ สามารถเชื่อมระหว่างคน และสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตร่วมกันได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมกันศึกษาผังเมืองย่านปทุมวัน เพื่อวางแผนขยายผลมิติต่าง ๆ ในการพัฒนาต่อไป ซึ่งแผนพัฒนาที่จะเกิดขึ้นจะมีมาตรการที่จะนำมาใช้ในพื้นที่ปทุมวัน เพื่อจะสร้างประโยชน์ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อคนที่อาศัยเมือง ปกป้องสุขภาพของคน รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ ทั้งยังช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศสอดรับการพัฒนาที่ยั่งยืน”