Zero Waste Living การบินไทยมุ่งสู่ความยั่งยืนปี 2050

ชาย เอี่ยมศิริ
ชาย เอี่ยมศิริ

การบินไทย (Thai Airway) ประกาศปรับโฉมเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง หรือชุดแอร์โฮสเตสใหม่ โดยจะเริ่มทยอยสวมใส่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อสอดรับกับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ซึ่งชุดแอร์โฉมใหม่ยังคงเป็นชุดไทยเรือนต้น แต่นำไปผลิตใหม่ ตัดเย็บด้วยเส้นไหมไทย ถักทอผสมผสานกับเส้นใยที่แปรรูปมาจากขวดพลาสติก

ดังนั้น หากย้อนกลับไปตั้งแต่การบินไทยเริ่มเปิดบริการรับ-ส่งผู้โดยสารเมื่อปี 2503 เครื่องแบบพนักงานต้อนรับภาคพื้นดิน และบนเครื่องเป็นสูทสั้นสีม่วงอัญชัน เสื้อตัวในและกระโปรงสีม่วงอ่อน พร้อมด้วยหมวกสีเดียวกับชุด มีโลโก้ที่ติดหมวกเป็นรูปนางรำในละครไทย ออกแบบโดยดีไซเนอร์ระดับแถวหน้าของเมืองไทย

นับแต่นั้นมามีการปรับโฉมเครื่องแบบอยู่หลายครั้งเรื่อยมา แต่ทุกครั้งยังคงแฝงไปด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านชุดเครื่องแบบ จนกระทั่งเป็นชุดไทยเรือนต้นในปัจจุบันอวดสายตาชาวโลก

ชาย เอี่ยมศิริ
ชาย เอี่ยมศิริ

 

ปรับโฉมชุดเครื่องแบบใหม่

“ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ ผู้โดยสารกว่า 80% เป็นชาวต่างชาติ และอีก 20% เป็นชาวไทย พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสวมใส่ชุดไทยมาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ เป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ

และได้รับการยอมรับในเรื่องความสวยงาม การจดจำ และเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้โดยสารจากประเทศต่าง ๆ

“การปรับโฉมชุดเครื่องแบบใหม่ครั้งนี้ยังคงความเป็นชุดไทย แต่เราตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบินเองก็มีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อย”

สำหรับการบินไทยมีเที่ยวบินมากกว่า 120 เที่ยวต่อวัน และใน 1 เที่ยวบินมีผู้โดยสารประมาณ 300 คน เราต้องการจะลดขยะที่เกิดจากเที่ยวบินให้น้อยลง ซึ่งหากคำนวณจากจำนวนผู้โดยสาร 300 คนนี้ เราให้บริการน้ำดื่มที่เป็นขวดพลาสติกแล้วกว่า 300 ขวดใน 1 เที่ยว ซึ่งหากคำนวณเที่ยวบินร้อยเที่ยวต่อวัน สร้างขยะจากขวดพลาสติกมหาศาล

“ที่ผ่านมาเรามีการนำขวดพลาสติกและขยะอื่น ๆ ที่เกิดจากบริการเที่ยวบินไปขาย ซึ่งไม่ได้อะไร อาจจะได้เงินกลับมาบ้างจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ดังนั้น จึงร่วมมือกับพาร์ตเนอร์นำขวดพลาสติกไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นเส้นใย เพื่อนำมาผลิตเป็นชุดเครื่องแบบพนักงานต้อนรับหญิง ซึ่งชุดไทยเดิมของพนักงานต้อนรับวัสดุเนื้อผ้าเดิมทอด้วยไหม 100% การดูแลผ้านั้นยากพอสมควร ต้องทะนุถนอม และนำไปซักที่ร้าน”

เครื่องแบบการบินไทย

เผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทย และรักษาสิ่งแวดล้อม

แต่การปรับโฉมชุดใหม่จะเปลี่ยนวัสดุใหม่เป็นไหม 30% ผสมกับเส้นใยพลาสติก 70% ผ้าไหมทอ 1 หลา ใช้ขวดน้ำพลาสติกประมาณ 18 ขวด เท่ากับว่าใน 1 ชุดใช้ขวดประมาณ 54 ขวด คุณสมบัติชุดเครื่องแบบใหม่จะมีความคงทนมากขึ้น รวมถึงลดการซักแห้ง และการขนส่งไปซัก สามารถประหยัดเงินได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับผ้าไหมธรรมดา

นอกจากความง่ายในการรักษาแล้ว ยังให้ความยืดหยุ่น และคล่องตัวในการใช้งาน ทั้งยังได้มีการทดสอบในด้านความปลอดภัยที่เป็นตามมาตรฐานสากลแล้ว

“ชาย” กล่าวต่อว่า พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทยมี 2,100 คน จะเริ่มทยอยสวมใส่ชุดที่ทอจากผ้าไหมผสมเส้นใยจากขวดพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนเครื่องแบบใหม่แล้วเสร็จภายในกลางปี 2567

“เป้าหมายของการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับหญิงครั้งนี้ หลัก ๆ คือเราต้องการเผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทย และรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังหวังสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศ เพราะการบินไทยมีเที่ยวบินเฉลี่ยที่ 120 เที่ยวบินต่อวัน และมีพนักงานหญิงบนเครื่องบินให้บริการครอบคลุมเส้นทางทั่วโลกเฉลี่ย 600-700 คนต่อวัน

พนักงานการบินไทย

ดังนั้น หากพนักงานสวมชุดไทยไปให้บริการทุกที่จะทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ทั้งยังมีนโยบายให้พนักงานต้อนรับต้องแต่งชุดไทยมาปฏิบัติภารกิจ จากเดิมที่ต้องสวมยูนิฟอร์มสีม่วงมาก่อน และเมื่ออยู่บนเครื่องจึงเปลี่ยนเป็นชุดไทย หลังจากนี้จะให้แต่งชุดไทยมาจากบ้านเลย เพื่อให้พนักงานสะดวกมากขึ้น”

“ชาย” กล่าวอีกว่า เนื่องจากบริษัทกำลังอยู่ในช่วงแผนฟื้นฟู เราต้องมองรอบด้าน อะไรที่ไม่ต้องลงทุนมาก และสามารถทำได้เลยก็ต้องค่อย ๆ ทำไป เพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

ซึ่งการบินไทยจะขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ภายใต้แนวคิด “Zero Waste Living” ซึ่งประกอบด้วยหลัก 3 ประการ ได้แก่ FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

การบินไทย

ปรับปรุงแผนความยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงแผนความยั่งยืน ที่ผ่านมามีการทำอยู่หลายเรื่อง แต่พอเรามีการฟื้นฟู ลำดับความสำคัญจึงเน้นไปที่การฟื้นฟูเป็นหลัก และตอนนี้ต้องกลับมาดูแผนใหม่ว่าจะมีการทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะวัสดุที่ใช้แล้วเอามาสร้างประโยชน์อะไรได้บ้างในองค์กรเรา

ขวดพลาสติกนอกจากเอาไปทำชุดพนักงานต้อนรับ ก็อาจจะต่อยอดไปทำชุดยูนิฟอร์มอื่น ๆ ได้อีก หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ สำหรับบริการ เพื่อลดขยะบนเครื่องบินให้ได้มากที่สุด เพราะเรามีแผนพัฒนาให้เที่ยวบินของการบินไทยเป็นเที่ยวบินรักษ์โลก

“ขณะนี้ริเริ่มจากการจัดใช้อุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ อาทิ travel kit bag แก้วน้ำที่ใช้บริการผู้โดยสารเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย รวมไปถึงแนวคิดในการนำช้อนส้อมอะลูมิเนียมกลับมาใช้ทดแทนช้อนส้อมพลาสติก”

สำหรับแผนยุทธศาสตร์มีหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการใช้พลังงานสะอาด ถามว่าจะทำอย่างไรบ้าง ก็คงต้องมาดูว่าจะลงทุนเอง หรือหาพาร์ตเนอร์มาช่วย แต่ทั้งหมดอยู่ในแผน ทุกสายงานต้องมาร่วมกันดู ร่วมกันทำ

รวมถึงการริเริ่มใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (sustainable aviation fuel : SAF) ตามมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) ที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย net zero ในปี ค.ศ. 2050

การบินไทย

ส่วนแผนระยะสั้น การบินไทยตั้งเป้าปี 2030 ต้องเริ่มใช้ SAF ถามว่าที่ผ่านมาบนเครื่องบินการบินไทยมีใช้ SAF ไหม ต้องบอกว่าเรามีใช้แล้วบ้าง แต่น้อยมาก เพราะเราไปเติมที่อื่น หรือประเทศที่เราบินไปเขามีใช้แล้ว แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการผลิตจริงจัง คาดว่าปลายปี 2024 น่าจะเริ่มมีผู้ผลิตมากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม การจะใช้ SAF ในอุตสาหกรรมต้องมีการผลักดันร่วมกับหลาย ๆ ภาคส่วน ต้องมานั่งคุยกันว่าเราจะมีแผนอย่างไรบ้าง วัตถุดิบเอามาจากไหนได้ รวมถึงต้องดูกำลังการผลิตกับความต้องการการใช้สมดุลกันหรือยัง สมมติว่าการบินไทย และสายการบิน ก. อยากใช้ 100 ตัน จะเอามาจากไหน ก็ต้องยอมรับว่าน้ำมัน SAF แพงกว่าน้ำมันธรรมดาถึง 3-4 เท่า”

“ชาย” กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีความท้าทายหลายด้าน รวมถึงด้านกฎระเบียบที่อุตสาหกรรมการบินจะต้องเผชิญ ซึ่งเป็นผลจากการมุ่งสู่การลดการปล่อยคาร์บอน เช่น คำนวณเส้นทางการบินเพื่อให้เครื่องบินใช้เชื้อเพลิงได้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้รถบัสไฟฟ้าในการขนส่งพนักงานหรือลูกเรือจากศูนย์ปฏิบัติการไปยังสนามบิน

“ทั้งหมดเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนชั้นบรรยากาศ และเป็นแผนที่จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนทางธุรกิจ และสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจอีกด้วย”