World Economic Forum 2024 “ผู้นำโลก” มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.48 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมมีความเสี่ยงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN) ระบุว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 ล้านคน ทั้งยังเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อม ๆ กันนั้น ระบบนิเวศทางธรรมชาติยังถูกทำลายอีกหลายแห่ง จนส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงแหล่งอาหารและน้ำไปโดยปริยาย

ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ผลเช่นนี้ จึงทำให้ผู้นำแต่ละประเทศถูกเรียกร้องให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารเศรษฐกิจโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยเฉพาะการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวสำหรับสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติ และพลังงานอันเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญต่อการประชุมประจำปีของ World Economic Forum (WEF) 2024 เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “การประชุมดาวอส” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

สำหรับการประชุม WEF เป็นฟอรั่มที่มีผู้นำหลายประเทศทั่วโลกมารวมตัวกันมากที่สุดเวทีหนึ่ง เพราะนอกจากจะมาหารือเกี่ยวกับวิธีการพัฒนาแนวทางที่เป็นระบบในระยะยาว เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของโลก คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และการสร้างผลเชิงบวกต่อธรรมชาติ (Nature-Positive) ภายในปี 2593

Advertisment

หากยังเป็นการระดมสมองเพื่อหาแนวทางร่วมกันแก้ปัญหาการเข้าถึงพลังงาน อาหาร และน้ำ ในราคาที่เอื้อมถึง ปลอดภัย และครอบคลุม เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นโลก และสังคมโดยรวมอีกด้วย

มุ่งใช้พลังงานยั่งยืนแก้ปัญหา

“ฟาติห์ บิโรล” กรรมการบริหารขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) กล่าวว่า ความสนใจเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของแต่ละประเทศมีเพิ่มมากขึ้น โดยเหตุผล 4 ประการที่เรื่องนี้มีความสำคัญมาก ได้แก่

1.เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากค่าไฟที่สูงเกิน

2.เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการใช้พลังงานน้อย ก็นำเข้าพลังงานน้อยลง

Advertisment

3.เพื่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม

4.เพื่อลดรอยเท้านิเวศ (Ecological Footprint) เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“การใช้พลังงานยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย และเรายังไม่เห็นนโยบายด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากพอ ดังนั้น World Economic Forum ที่เมืองดาวอส จึงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความร่วมมือ”

ปรับแต่งยีนฟื้นฟูพันธุ์พืช

ในขณะที่มิติของมนุษย์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ด้วย เพราะผู้ร่วมเสวนาหลายคนได้อภิปรายถึงแนวทาง หลักฐาน และข้อมูลที่จำเป็นในการบรรเทาผลกระทบด้านสุขภาพจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน

ยกตัวอย่าง “บิล แอนเดอร์สัน” ซีอีโอของ ไบเออร์ เอจี กล่าวว่า เกษตรกรทั่วโลกได้รับความกดดันเพิ่มขึ้นในการเพาะปลูก เพื่อเป็นอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ปัจจุบันพืชผลจำนวนมากสูญเสียไปกับคลื่นความร้อน ฝนตกหนัก และภัยแล้ง รวมถึงจำนวนประชากรที่คาดว่าจะสูงถึง 1 หมื่นล้านคนภายในปี 2593

“ดังนั้น ความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง และต้องมองประโยชน์ของการปรับแต่งยีน เพราะโลกของเราไม่มีเวลาสำหรับการฟื้นฟูพันธุ์พืชในวิธีดั้งเดิมที่ใช้เวลานานกว่าหนึ่งทศวรรษ เพื่อทำให้พืชผลปรับตัวเข้ากับโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการปรับแต่งยีนพืชจะทำให้กรอบเวลาแก้ปัญหานี้สั้นลง”

ปกป้องป่าไม้เก่าแก้วิกฤตอากาศ

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงใน World Economic Forum เมืองดาวอสคือ ผู้ประกอบการทั่วโลกกำลังค้นหาโซลูชั่นทางนวัตกรรม เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การลดการปล่อยคาร์บอนอย่างรวดเร็ว และติดตามผลได้ ไปจนถึงการจัดการมลพิษจากพลาสติก นอกจากนั้น ยังมีการพิจารณาร่วมกันว่าจะนำการจัดหาเงินทุนร่วมทุนระยะเริ่มต้นมาใช้มากขึ้น เพื่อปรับใช้นวัตกรรมอย่างรวดเร็วในวงกว้าง

นอกจากนั้น คงเป็นเรื่องของป่าไม้ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ เพราะป่าไม้คิดเป็น 1 ใน 3 ของตัวช่วยในการกักเก็บคาร์บอนเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และมีประโยชน์มากมายสำหรับสิ่งมีชีวิต

“เจน กู๊ดดอลล์” นักวานรวิทยาร่วมกับนักอนุรักษ์ หารือเกี่ยวกับวิธีการปกป้องป่าไม้และระบบนิเวศชายฝั่ง รวมถึงปกป้องวิถีชีวิตท้องถิ่น กล่าวว่า การปลูกต้นไม้เป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่ชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่ว่าการปกป้องป่าเดิมที่มีก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้เก่าแก่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์

“การปลูกต้นไม้ใหม่ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเติบโตถึงขั้นที่โตเต็มวัย และสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ ดังนั้น ทุกคนต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้”

นำเทคโนโลยี AI ช่วยปกป้องโลก

สำหรับผู้นำที่มุ่งเน้นเรื่องการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่มีการเสวนากันใน World Economic Forum เมืองดาวอส เช่น แอปพลิเคชั่นเตือนภัยล่วงหน้าที่ขับเคลื่อนด้วย AI, การเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน การคาดการณ์
ทางการเกษตร และอื่น ๆ

ทั้งนี้ จากรายงานศึกษาวิจัย “นวัตกรรมและการปรับตัวในวิกฤตสภาพภูมิอากาศ : เทคโนโลยีจะช่วยให้ผู้นำปรับตัวเข้ากับ New Normal ได้อย่างไร” (Innovation and Adaptation in the Climate Crisis : How Technology will Enable Leaders to Adapt to the New Normal) ที่เปิดตัวในฟอรั่มนี้เมื่อ 16 มกราคม 2567 ระบุว่า ชุดเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และดิจิทัลที่ทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ

เพราะเครื่องมือดังกล่าวสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเอไอในการปรับตัว พร้อมกับสร้างความยืดหยุ่นให้กับชุมชน ธุรกิจ และไม่เพียงเป็นกลยุทธ์ลดความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งของความได้เปรียบทางการแข่งขันอีกด้วย

นับว่าโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจ รัฐบาล และภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกัน เพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขและดำเนินการอย่างเด็ดขาด ดังนั้น การประชุม World Economic Forum 2024 จึงผสมผสานความพยายามระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อให้บรรลุผลเป้าหมายมากขึ้น