ซีเอสอาร์ฉบับ “NEDA” ภารกิจเพื่อสังคมจากไทย-สปป.ลาว

ต้องยอมรับว่าบทบาท และภาระหน้าที่ของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือในชื่อภาษาอังกฤษ คือ NEDA (Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency (Public Organization) ในกำกับกระทรวงการคลัง ไม่เพียงมีอำนาจหน้าที่สำคัญ 4 อย่าง ประกอบด้วย

หนึ่ง การให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่น ๆ ทั้งด้านการเงิน และวิชาการ

สอง การให้ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน

สาม การศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะนโยบาย ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ ในการให้ความร่วมมือ

สี่ การประสานการใช้อำนาจหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อบูรณาการความร่วมมือ

หากยังมีอำนาจหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแบบให้เปล่า (Grant) และเงินกู้แบบเงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน (ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกำหนด) และกู้ยืม (ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด) หรือระดมเงินทุนเองได้ (ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกำหนด)

ตลอดเวลา 12 ปี ผ่านมา สพพ.ดำเนินการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน 7 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว), สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา, ราชอาณาจักรภูฏาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และวิชาการรวม 72 โครงการ โดยใช้วงเงินทั้งสิ้น 15,730.47 ล้านบาท

โดยล่าสุด สพพ.ให้ความช่วยเหลือ สปป.ลาว ในโครงการปรับปรุง และก่อสร้างถนนช่วงบ้านฮวก (จ.พะเยา)-เมืองคอบ-เมืองเชียงฮ่อน และเมืองคอบ-บ้านปากคอบ-บ้านก้อนตื่น (แขวงไซยะบุลี) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) รวมระยะทาง 104 กิโลเมตร ใช้วงเงินทั้งสิ้น 1,390 ล้านบาท

ฉะนั้น ระหว่างทางของการปรับปรุง และก่อสร้างถนนในโครงการดังกล่าว สพพ.จึงมีแนวความคิดที่จะดำเนินกิจกรรม CSR ภายใต้โครงการ “น้ำใจเนด้า” สู่โรงเรียนชนบทครั้งที่ 7 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเดินตามกรอบ SDGs (Sustainable Development Goals)อันเกี่ยวข้องกับการสร้าง, การพัฒนา, การเสริมสร้างความรู้กับสถานศึกษา, ชุมชน, ท้องถิ่น, สาธารณสุข และศาสนสถาน ในพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านบนเส้นทางของโครงการดังกล่าว

โดยเริ่มจากโรงเรียนบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา ตามมาด้วยโรงเรียนประถมศึกษาบ้านบ่อ แขวงไซยะบุลี สปป.ลาว ซึ่งมีบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด, บริษัท เอเซี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุน

“เนวิน สินสิริ” ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือเนด้า กล่าวในเบื้องต้นว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการทำกิจกรรมซีเอสอาร์ของเรา คือ หลังจากที่ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เขตที่ต่อเนื่องกับโครงการก่อสร้าง เราอยากช่วยเหลือ และส่งเสริมให้นักเรียน และประชาชนที่อยู่ใกล้พื้นที่โครงการ เข้าใจในบทบาทของเนด้าด้วย

“เพราะเรามองเรื่องการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และการที่เราดึงบริษัทต่าง ๆ มาร่วมกิจกรรม อย่างบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ที่แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการ แต่เขามีจิตสาธารณะที่อยากจะช่วยเหลือสังคมเหมือนกับเรา ด้วยการเข้ามาดำเนินการสร้าง และมอบอุปกรณ์เครื่องเล่น สนามเด็กเล่นให้กับโรงเรียนบ้านฮวก เนื่องจากโรงเรียนนี้อยู่ในพื้นที่พิเศษติดชายแดน สปป.ลาว”

“ส่วนบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้ามาดำเนินโครงการปรับปรุง และก่อสร้างถนนสายนี้ ก็มาช่วยเปลี่ยนหลังคากระเบื้องโรงอาหาร 30 แผ่น เพราะช่วงผ่านมาถูกพายุพัด จนทำให้เกิดความเสียหาย รวมถึงการติดตั้งประปาภูเขา ขณะที่เราเองสนับสนุนยาสามัญประจำบ้านในห้องปฐมพยาบาล, คอมพิวเตอร์จำนวน 15 เครื่อง รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภค สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์การเรียนและกีฬา”

“ที่สำคัญ โรงเรียนบ้านฮวก เป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้จุดผ่านแดนบ้านฮวก ทั้งยังเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต และตลอดช่วงเวลาผ่านมา เรามักทำกิจกรรมเพื่อสังคมในโรงเรียนที่อยู่ใกล้ชายแดนอยู่แล้ว แต่ต่อไปเรามองเรื่องสาธารณสุขชุมชน และวัดวาอารามต่าง ๆ ตรงนี้เป็นแผนในอนาคตที่จะทำต่อไป”

ถึงตรงนี้ “วิจิตร สมศรีวัฒนา” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา บอกว่า โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2484 หรือ 76 ปีมาแล้ว โดยมีราษฎรร่วมใจกันก่อสร้าง และพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นโรงเรียนบ้านฮวก ซึ่งมีพื้นที่ 10 ไร่ โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนต้น ปัจจุบันมีนักเรียน 142 คน แบ่งเป็น นักเรียนชาย 75 คน นักเรียนหญิง 67 คน และครู 16 คน

“โรงเรียนของเรามีอาคารเรียนที่ได้รับการบริจาคทั้งหมด 3 หลัง แบ่งออกเป็น ห้องเรียน 5 ห้อง ห้องกิจกรรม 2 ห้อง ห้องพักครู ห้องปฐมพยาบาล ห้องคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการบริจาคคอมฯทั้งหมด 15 เครื่อง มาตั้งแต่ปี 2548 ในระบบ Window XP ซึ่งตอนนี้ตกรุ่นไปแล้ว ขณะที่โรงอาหารหลังคาก็ชำรุด แต่ที่หนักกว่านั้นคือเราขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้อย่างมาก โดยเฉพาะหน้าแล้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จะขาดแคลนหนักมาก ผ่านมา อบต.บ้านฮวกเข้ามาช่วยเหลือด้วยการนำรถน้ำเข้ามาส่ง สิ่งเหล่านี้คือปัญหาของโรงเรียนที่เจอะเจอ”

“ส่วนเรื่องการจัดการเรียนการสอน ถ้าสมมติว่าอนาคตมีการเปิดด่านถาวร เราจะประชาสัมพันธ์โรงเรียนของเราให้นักเรียนจากฝั่ง สปป.ลาวข้ามมาเรียน คล้าย ๆ กับโรงเรียนแถวแม่สาย จ.เชียงราย ที่มีนักเรียนชาวเมียนมาเข้ามาเรียน เพราะเราเชื่อว่าระบบการเรียนการสอนของเราดีกว่าฝั่งเขา อีกอย่างยังเป็นการเชื่อมโยงระบบการศึกษาเข้าหากันด้วย”

“เพราะถ้าเปิดด่านจะเกิดการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวต่าง ๆ เกิดขึ้น ที่สำคัญการศึกษาจะช่วยทำให้คนทั้ง 2 ประเทศเกิดความสัมพันธ์กันต่อไปในอนาคต ซึ่งตอนนี้บุคลากรครูทางด้านภาษาอังกฤษ เรามีความพร้อมระดับหนึ่ง แต่ครูภาษาจีนหายากมาก เราไม่มีเงินจ้างครูที่เชี่ยวชาญภาษาจีนมาสอน ส่วนภาษาลาวไม่ต้องพูดถึง นักเรียนฝั่งเราพูดได้อยู่แล้ว ตรงนี้คือแผนการศึกษาของเรา”

ขณะที่ “พนัส วัฒนชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับรถพ่วง รถเทรลเลอร์ และรถที่ใช้ในการขนส่งทั้งหมด ที่ตั้งอยู่บริเวณ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี บอกว่า จุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของเรา แรก ๆ อาจเป็นไปตามคำร้องขอของลูกค้าที่มีโอกาสพูดผ่านฝ่ายขายที่เขาลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่าง ๆ จนไปเจอโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศของไทยขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องเล่น

“ตอนนั้นเราให้พนักงานนำเศษเหล็กที่เหลือใช้จากการขนส่งมาดัดแปลงทำเป็นอุปกรณ์เครื่องเล่น เช่น ม้าหมุน ชิงช้า กระดานลื่น และอื่น ๆ เพื่อแจกจ่ายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ที่ขาดแคลน แต่ตอนหลังเราจัดตั้งแผนกซีเอสอาร์ขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อมกับสั่งซื้อเหล็กจากที่ต่าง ๆ เพื่อทำอุปกรณ์เครื่องเล่นอีกที เพราะเศษเหล็กของเราไม่มีแล้ว”

“เราบริจาคอุปกรณ์เครื่องเล่นมา 10 ปี ทั้งหมด 100 กว่าโรงเรียน รวมถึงโรงเรียนบ้านฮวกครั้งนี้ด้วย เพราะทุกครั้งที่เราส่งมอบอุปกรณ์เครื่องเล่นให้กับโรงเรียนต่าง ๆ เรามีความสุข จนอยากทำต่อ บางทีเราร่วมมือกับลูกค้า และแรก ๆ เราบริจาคให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้กับโรงงานของเราก่อน แต่ตอนหลังเริ่มกระจายออกไปทั่วประเทศแล้ว และทุกครั้งที่ออกไป เราจะมีพนักงานจิตอาสาไปด้วยทุกครั้ง และครั้งนี้ก็เช่นกัน”

สำหรับโรงเรียนประถมศึกษาบ้านบ่อ เมืองคอบ ในเขต สปป.ลาว ซึ่งอยู่ติดกับถนนของโครงการ โดยสภาพของโรงเรียนมีอาคารเรียน 1 หลัง 3 ห้องเรียน และทุกห้องเรียนมีสภาพทรุดโทรมมาก ดังนั้นเมื่อทาง สพพ. และหน่วยงานต่าง ๆ ของเอกชนเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ครู นักเรียน และประชาชนในชุมชนเมืองคอบ จึงรู้สึกดีใจอย่างมาก

ยิ่งเฉพาะ “เพ็งนิลัน คำพันเพ็ง” รองเจ้าแขวงไซยะบุลี สปป.ลาว ที่บอกว่าข้าพเจ้ารู้สึกขอบใจอย่างมากที่ทางเนด้า และบริษัทต่าง ๆ เข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคมยังโรงเรียนแห่งนี้ เพราะโรงเรียนนี้ค่อนข้างขาดแคลน โดยเฉพาะอุปกรณ์การศึกษา และอุปกรณ์กีฬา ทั้งสภาพของโรงเรียนก็อยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยเฉพาะในส่วนของห้องเรียน และห้องสุขา

“ทั้งโรงเรียนมีนักเรียน 77 คน ระดับอนุบาล 33 คน และระดับประถม 44 คน มีครูทั้งหมด 5 คน โดย 4 คนแรก สอนระดับประถม และอีก 1 คน สอนระดับชั้นอนุบาล ดังนั้นการที่ทางเนด้านำเครื่องคอมพิวเตอร์มามอบให้จำนวน 2 เครื่อง, ตู้เก็บเอกสาร, สื่อการเรียนการสอน เช่น แบบเรียนภาษาอังกฤษ, ภาษาลาว, แผนที่, อุปกรณ์กีฬา, เครื่องอุปโภคบริโภค, เวชภัณฑ์ และรองเท้า”

“รวมถึงบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มาช่วยสร้างห้องสุขา 1 หลัง จำนวน 2 ห้อง พร้อมกับช่วยซ่อมแซมห้องสุขาเดิมอีก 2 ห้อง เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของครู และนักเรียน ทั้งยังช่วยเดินท่อระบบน้ำประปาอีกจำนวน 800 เมตร จึงน่าจะทำให้คุณภาพชีวิตในการเรียนการสอน และการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ข้าพเจ้าจึงขอขอบใจอย่างยิ่ง”

คงจะจริง เพราะหลังจากที่ สพพ. และคณะผู้บริหารของบริษัทเอกชนต่าง ๆ ส่งมอบอุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์กีฬา พร้อมกับสื่อการเรียนการสอน และเครื่องอุปโภคบริโภค สีหน้าแววตาความดีใจของนักเรียนจากโรงเรียนประถมศึกษาบ้านบ่อออกมาอย่างชัดเจน จนทำให้ทุกคนสัมผัสได้ว่าสายใยที่เชื่อมโยงระหว่างความเจริญที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต คงอาจจะทำให้เยาวชนทั้งจากฝั่งไทย และฝั่ง สปป.ลาว ที่อยู่แนวตะเข็บชายแดน คงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสักวัน

เราหวังเช่นนั้นจริง ๆ