เอกชน-รัฐ กลไกสำคัญขับเคลื่อน SE โดย วิทวัช เนตรแสนสัก

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ Inside Out Story โดย วิทวัช เนตรแสนสัก

 

แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. …. จะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นครั้งที่ 2 แล้วก็ตาม ซึ่งหากดูจากไทม์ไลน์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คาดว่าจะมีการประกาศใช้ภายในกลางปี 2561

แต่ขณะนี้ ครม.ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้

เพราะถ้าหาก ครม.พิจารณาเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หลังจากนั้นจะต้องส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 1 เพื่อรับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารายละเอียดของ พ.ร.บ. โดยขั้นตอนนี้อาจใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 45-60 วัน ซึ่งถ้าไม่แล้วเสร็จอาจจะขอขยายระยะเวลาในการทำงานของคณะกรรมาธิการ

เมื่อแล้วเสร็จจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ สนช. ในวาระที่ 2 วาระที่ 3 ต่อไป และถ้าที่ประชุมลงมติเห็นชอบ หลังจากนั้นจะส่งกลับไปยัง ครม. ในการนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ถ้าดูตามขั้นตอนแล้ว การประกาศใช้ พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคมฉบับนี้จะต้องเลื่อนออกไปอย่างแน่นอน

โดยในฝั่งผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม (social enterprise-SE) รวมถึงผู้ที่ทำงานด้านการส่งเสริมต่างมองว่า หากไม่มีกฎหมายรับรองที่ชัดเจน จะทำให้ SE รายเล็ก รายน้อย ไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และไม่ได้รับการส่งเสริมทั้งด้านองค์ความรู้ และด้านการเงิน

เนื่องจากกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีทุนไม่เยอะมาก แต่หากดำเนินธุรกิจด้วยความตั้งใจที่จะยกคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ชาวชุมชน รวมถึงไปถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม

และถ้าหากมีกลไกของรัฐเข้ามาสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการ SE ที่เป็นธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก เชื่อว่าทำให้กิจการเพื่อสังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาและยกระดับสังคมไทยไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าการผลักดันร่าง พ.ร.บ.จะยังไม่มีความชัดเจน แต่ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการจำนวนมากที่ดำเนินกิจการ SE รวมไปถึงเอกชนรายใหญ่ ๆ ที่ต่างเข้ามาลงทุน หรือดำเนินกิจการเพื่อสังคม อย่าง Local Alike, แดรี่โฮม, เลมอนฟาร์ม, Osisu, Cabbages & Condoms, Bike and Travel

อีกทั้งยังมีเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่จัดตั้งกองทุน CP Social Impact Fund งบประมาณราว 1,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่มีการจัดตั้งบริษัทเพื่อสังคมในชื่อบริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด (LPC) ในการให้บริการทำความสะอาดที่เน้นความยั่งยืน โดยเปิดโอกาสการจ้างงานกับกลุ่มสตรีด้อยโอกาสในสังคมไทยเป็นหลัก ทั้งยังมีบริษัท หรือกิจการอื่น ๆ ที่อาจจะยังไม่ได้กล่าวถึงอีกมากมาย

ไม่เพียงเท่านี้ ภาคเอกชนยังมีการส่งเสริมสนับสนุน SE ผ่านกิจกรรม แคมเปญ หรือโครงการประกวดต่าง ๆ มากมาย อย่างเช่น โครงการ The Venture ของบริษัท เพอร์นอต ริคาร์ด (ประเทศไทย) (ชีวาส รีกัล) ในการค้นหาสุดยอดนักธุรกิจหรือผู้ที่มีแนวคิดสร้างธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน

หรือโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change-BC4C) ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 8 โดยร่วมกับสถาบัน ChangeFusion ในการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจในการทำธุรกิจเพื่อสังคม นำเสนอแผนธุรกิจ และลงมือดำเนินกิจการด้วยตนเอง

ล่าสุดบ้านปูได้ร่วมกับ ChangeFusion ในการจัดทำ SE.School (https://se.school/) แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์แห่งแรกในประเทศไทย สำหรับผู้ที่มีใจรักที่จะเป็นผู้ประกอบการไปพร้อมกับสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมขึ้น

โดยมุ่งหวังที่จะให้เป็นคลังความรู้ สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไป ที่สนใจในกิจการเพื่อสังคม พร้อมเคล็ดลับความสำเร็จจากตัวอย่าง SE ที่โดดเด่น เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ และก้าวผ่านความท้าทายสู่ความสำเร็จซึ่งผลสำรวจของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พบว่า กลุ่มคน Gen Y มีแนวโน้มที่อยากทำธุรกิจส่วนตัว หรือเป็นเจ้าของกิจการเองเพิ่มมากขึ้นทุกปี และคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มองหาความอิสระในการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ มีความตั้งใจอยากจะมีธุรกิจส่วนตัว

ส่งผลให้กิจการเพื่อสังคมเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นผู้ประกอบการ เพราะนอกจากจะตอบโจทย์ด้านการสร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่ตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นลูกจ้างใครแล้ว ยังเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมได้อีกด้วย

การเริ่มต้นสร้างกิจการเพื่อสังคมกิจการหนึ่ง ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะการดำเนินกิจการให้ประสบความสำเร็จได้นั้น นอกจากการหาแนวทางในการจัดการ หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น

รวมถึงความเปลี่ยนแปลงในยุคที่เทคโนโลยีมีความรวดเร็ว มีข้อมูลที่หลากหลาย และที่สำคัญ คือการดำเนินกิจการที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง ขณะเดียวกันยังสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมอย่างยั่งยืน เพื่อวัดผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

สำหรับแพลตฟอร์ม SE.School ที่บ้านปู และ ChangeFusion ร่วมกันจัดทำขึ้นนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษา และทำแบบทดสอบ เพื่อวัดผลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งยังมี 12 บทเรียน ตั้งแต่พื้นฐานความรู้เกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม ไปจนถึงข้อมูลเชิงลึกในการดำเนินกิจการ

นอกจากนี้ยังจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ หรือเคล็ดลับความสำเร็จของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ BC4C ในหลากหลายกิจการ และเจ้าของกิจการเพื่อสังคมชั้นนำที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศ ผ่านบทเรียนต่าง ๆ เช่น การเข้าใจปัญหาสังคม, การทดสอบตลาดและโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม, การนำสินค้าเข้าตลาด, การพัฒนานวัตกรรม, การสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ-เอกชน และการพัฒนาทีม การสื่อสารสินค้า บริการ และตัวตนของกิจการเพื่อสังคม เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เชื่อว่าไม่เพียงแต่กลไกของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในการสนับสนุนส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SE สามารถดำเนินกิจการได้ต่อเนื่อง

และประสบความสำเร็จ แต่ในอีกทางหนึ่ง ภาครัฐต้องมีมาตรการ มีกฎหมายในการรองรับ เพื่อเข้ามาหนุนเสริม หรืออุดช่องว่างที่เกิดขึ้นในกิจการเพื่อสังคม

เพื่อทำให้กิจการเพื่อสังคม หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมของไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตและก้าวหน้าต่อไป