แนวทาง “เซ็นทรัลทำ” สร้างโรงเรือนพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่

นอกจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคธุรกิจจะเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชน แต่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมยังส่งผลกลับมาสู่องค์กรนั้น ๆ ด้วย โดยเฉพาะด้านความยั่งยืนของธุรกิจ เพราะไม่มีธุรกิจใดจะดำเนินอยู่ได้หากสังคมไม่เข้มแข็ง

กลุ่มเซ็นทรัลเองก็ยึดมั่นในความเชื่อนี้ เหมือนกับที่ “สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์” ผู้ก่อตั้งกลุ่มเซ็นทรัล เคยกล่าวไว้ว่า…ความสำเร็จของเราเติบโตขึ้นจากความตั้งใจแน่วแน่ที่จะนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่ความทันสมัย เรายึดมั่นพันธสัญญาที่จะมีส่วนร่วมสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวไทยทุกคน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้กลุ่มเซ็นทรัลกำหนดกรอบโครงการเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ “เซ็นทรัลทำ” โดยล่าสุดรุกโมเดล “โรงเรือนพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่” เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางความคิดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งยังสร้างสุขลักษณะที่ดีให้กับเด็ก ๆ ก่อนที่จะต่อยอดโมเดลสู่การเพิ่มรายได้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อครู และนักเรียน ตลอดจนชุมชน เพื่อสามารถเลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืน

“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า องค์กรของเรามีจิตวิญญาณเรื่องความยั่งยืนมานาน ส่งผลให้ธุรกิจมั่นคงมาได้กว่า 73 ปี โดยตั้งแต่ก่อตั้งเราไม่คิดถึงการเติบโตเชิงปริมาณอย่างเดียว แต่คิดถึงส่วนรวม และคำนึงความต้องการของสังคม เพียงแต่ในอดีตเราอาจไม่ได้เรียกว่ากิจกรรมเพื่อสังคม

“ตอนนี้เราพัฒนาการทำเพื่อสังคมมาสู่เซ็นทรัลทำ ซึ่งเป็นชื่อเรียกการกระทำด้าน CSV (creating shared value) ของกลุ่มเซ็นทรัล โดยมีเจตนารมณ์ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พนักงาน และสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่ง CSV เป็นการสร้างคุณค่าร่วม ที่เรามองว่าจะมีความหมายก็ต่อเมื่อพนักงานของเรามีส่วนร่วม เราจึงเน้นสร้างจิตวิญญาณการทำเพื่อสังคมให้กับพนักงาน”

“เราเริ่มจากการทำเพื่อสังคมที่อยู่รอบ ๆ ธุรกิจ และมุ่งมั่นในการสร้างสัมพันธภาพอย่างแน่นแฟ้นกับชุมชนระดับท้องถิ่น สิ่งนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม การที่เราสอนให้กับพนักงาน เราอยากให้พนักงานที่อยู่ทั่วประเทศทุ่มเทให้กับสังคมอย่างต่อเนื่อง และให้เขามีหลักคิดที่เรียกว่า C.A.R.E. คือ Commitment : มุ่งมั่นสร้างสรรค์สังคมไทยอย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และพัฒนาความเป็นอยู่ของสังคมไทยให้ดีขึ้น”

“Awareness : ตระหนักที่จะสร้างกระแสการรับรู้ในการช่วยเหลือผู้อื่น และสังคมในหมู่พนักงาน ตลอดจนขยายผลสู่สังคมภายนอก, Rethinking : คิดอย่างสร้างสรรค์ พร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อนำมาพิจารณา และคิดหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น, Encouragement : สร้างแรงบันดาลใจและเป็นแรงผลักดันพนักงาน ชุมชน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้สังคม”

“พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า กิจกรรมหลัก ๆ ภายใต้เซ็นทรัลทำมี 4 ด้าน คือ หนึ่ง การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย สอง ความเสมอภาคทางสังคม สาม ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และสี่ คุณภาพสิ่งแวดล้อม เพราะการที่สังคมจะเข้มแข็ง แต่ละด้านต้องเกื้อหนุนกันและกัน

“โครงการโรงเรือนพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่อยู่ภายใต้เรื่องความเสมอภาคทางสังคม ด้านการพัฒนาคน ซึ่งสอดคล้องกับการที่กลุ่มเซ็นทรัลเป็นหนึ่งในองค์กรที่อยู่ในโครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐาน และการพัฒนาผู้นำ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการพูดคุยกับกลุ่มโรงเรียนประชารัฐ เพื่อหาสิ่งที่ครูและนักเรียนต้องการ เพราะหากเราให้ในสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ พวกเขาจะไม่อยากสานต่อ และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์”

“จากการร่วมกันคิด จึงได้ข้อสรุปว่า เป็นการสนับสนุนการเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งตอบโจทย์สิ่งที่เซ็นทรัลอยากมอบให้เช่นกัน เพราะเราอยากให้ทั้งองค์ความรู้ การสร้างสุขภาพที่ดี และสร้างรายได้ให้กับโรงเรียน โดยกลุ่มเซ็นทรัลได้รับความร่วมมือจากบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ในการทำโครงการ”

ทั้งนี้ จำนวนโรงเรียนประชารัฐซึ่งมีมากถึง 3,351 แห่งทั่วประเทศ ในช่วงแรกกลุ่มเซ็นทรัลจึงคัดเลือกมา 62 โรงเรียน ครอบคลุมนักเรียนประมาณ 14,124 คน ครู 895 คน รวม 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง, กระบี่, พังงา, ภูเก็ต, ตรัง และนครศรีธรรมราช โดยล่าสุดได้ทำการส่งมอบโรงเลี้ยงไก่ที่โรงเรียนวัดห้วยนาง (วันครู) อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

“กรอบการทำงานของกลุ่มเซ็นทรัลคือ การสนับสนุนงบฯลงทุนในการก่อสร้างทั้งหมด โดยใช้งบประมาณ 200,000 บาทต่อโรงเรียน ให้พันธุ์ไก่ 100 ตัวต่อโรงเรียน ให้อาหารไก่ 4 เดือน โดยพันธุ์ไก่และอาหารไก่เราซื้อตรงจากเบทาโกรเพื่อให้ได้พันธุ์ไก่ที่ปลอดการฉีดยาปฏิชีวนะ ไม่ใช้ฮอร์โมน หรือสารเร่งการเติบโต นอกจากนั้น เราส่งเจ้าหน้าที่ของเซ็นทรัลลงพื้นที่เพื่อสำรวจ และกำกับดูแล”

“โดยมีหลักการว่า โรงเรือนเลี้ยงไก่ห้ามอยู่ติดกับอาคารเรียน สนามบอล โรงอาหาร หรือห้องน้ำ เพราะเสี่ยงต่อเชื้อโรคที่กระทบต่อทั้งตัวไก่ และเด็กนักเรียน ส่วนด้านเบทาโกรให้ความช่วยเหลือด้านความรู้ในการเลี้ยงไก่ไข่ มีการจัดอบรม วางระบบ และช่วยคิวซี รวมทั้งมีสัตวบาลคอยดูแล โดยมีการตรวจโรคอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง”

“พิชัย” อธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนมีโครงการโรงเรือนพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่ ทางโรงเรียนดำเนินกิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่โดยการขออนุมัติงบฯจากองค์การบริหารส่วนตำบล หรือหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อมาซื้อพันธุ์ไก่ไข่ แล้วนำไข่มาปรุงเป็นอาหารกลางวัน ส่วนไข่ที่เหลือจะแจกจ่าย และเมื่อไก่ปลดระวาง ออกไข่น้อยลง หรือไม่ออกไข่แล้ว จะทำเรื่องขออนุมัติงบฯเพื่อมาซื้อพันธุ์ไก่ใหม่ หากปีใดไม่ผ่านการอนุมัติก็จะกลายเป็นกรงร้าง

“กลุ่มเซ็นทรัลจึงสอนให้พวกเขาเปลี่ยนวิธี โดยนำงบฯอาหารกลางวันที่ได้จากรัฐบาลที่ให้มาคนละ 20 บาทต่อวันมาซื้อไข่ที่ตนเองเลี้ยงในโครงการ ในราคา 2 บาทต่อฟอง ซึ่งถูกกว่าท้องตลาด และทำบัญชีจำนวนไข่ และบัญชีการซื้อไข่แยกออกมา โดยห้ามนำเงินส่วนนี้มาใช้ เพื่อโรงเรียนจะได้มีงบประมาณเพียงพอในการซื้ออาหารไก่ และไก่พันธุ์ใหม่หลังไก่ปลดระวาง โดยไม่จำเป็นต้องขออนุมัติงบฯจากหน่วยงาน หรือองค์กรใดอีก ทำให้โรงเรียนสามารถมีพันธุ์ไก่ไข่และมีไข่ไก่มาบริโภคได้ทุกปีอย่างยั่งยืนด้วยตัวเอง”

เมื่อก่อนทางโรงเรียนจะมีรายได้จากการขายไก่ปลดระวางตัวละ 50 บาท ดังนั้น 100 ตัวได้ 5,000 บาท แต่หลังจากร่วมโครงการโรงเรียนจะมีเงินถึง 73,000 บาทต่อปี โดยไก่ 100 ตัวที่โรงเรียนได้รับจะสามารถออกไข่เฉลี่ย 34,000 ฟองต่อปี

“นอกจากนั้น เรายังวางแผนขยายโครงการไข่ไก่ไปที่จังหวัดอื่น ๆ อีก 4 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี, เชียงใหม่, อุดรธานี และอุบลราชธานี และหากโครงการนี้สามารถผลิตไข่ไก่เป็นจำนวนมากในอนาคต กลุ่มเซ็นทรัลจะรับซื้อมาจำหน่าย เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้โรงเรียนอีกทางหนึ่งด้วย”

“พิชัย” กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า การช่วยเหลือชุมชนต้องทำครอบคลุมทั้งโรงเรียน, โรงพยาบาล และวัด เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกันในทุกชุมชน ดังนั้น ระหว่างการเดินทางไปส่งมอบโรงเรือนเลี้ยงไก่ที่โรงเรียนวัดห้วยนาง (วันครู) เราจึงเข้าไปสนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในชุมชน ด้วยการมอบโคมไฟผ่าตัดให้กับโรงพยาบาลห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง มูลค่า 1,443,000 บาท

นับว่าโมเดลของโครงการเลี้ยงไก่ไข่ จะช่วยให้ครู และนักเรียน เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดโมเดลกับสิ่งอื่น ๆ เช่น ปลูกผัก, ปลูกข้าว และเลี้ยงปลา โดยนำงบประมาณอาหารกลางวันที่ได้มาซื้อของที่ตัวเองเป็นคนปลูก เป็นคนเลี้ยง

โดยไม่เดือดร้อน หรือพึ่งพาใคร อันเป็นการสร้างความยั่งยืนในที่สุด