ทำงานไม่ดีขอลดเงินเดือนได้ไหม ? 

คอลัมน์ HR Corner โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

แปลกดีนะครับทำไมระยะนี้ถึงมีแต่คำถามทำนองนี้มาบ่อย ๆ ?

“พนักงานทดลองงานทำงานไม่ดีจะเรียกมาแจ้งผล ขอลดเงินเดือนลง และให้เวลาต่อทดลองงานออกไปดีหรือไม่” หรือ “พนักงานเก่าทำงานมานาน ผลงานไม่ดีจะเชิญมาคุยเพื่อขอลดเงินเดือนลง และจะมอบหมายงานให้เขามี value ในงานที่เพิ่มขึ้น ถ้าพนักงานยินยอมจะทำได้ไหม”

หรือ “ถ้าบริษัทไม่ลดเงินเดือนเพราะพนักงานคงไม่ยินยอมและจะผิดกฎหมายแรงงาน แต่บริษัทขอลดเงินตัวอื่นที่ไม่ใช่เงินเดือน เช่น ค่าน้ำมัน จะได้หรือไม่”

ผมเลยอยากจะมาทำความเข้าใจในหลักของ “ค่าจ้าง” ให้ตรงกันเสียก่อน คือการลด “ค่าจ้าง” นั้นทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมายแรงงานครับ แต่ถ้าพนักงานยินยอมที่จะลดค่าจ้างโดยการทำ

สัญญายินดีลดค่าจ้างของตัวเองลงแล้วเซ็นชื่อก็อาจทำได้ แต่ถามใจของตัวเราเองดูสิครับว่าถ้าใครมาบอกให้เราลดค่าจ้างลงน่ะเรารู้สึกอย่างไร และเราอยากให้บริษัทลดค่าจ้างของเราหรือไม่ ?

ผมใช้คำว่า “ค่าจ้าง” เพราะกฎหมายแรงงานไม่มีคำว่าเงินเดือน ถ้าจะถามว่าค่าจ้างมีความหมายว่าอย่างไร ก็ตอบได้ (ตามมาตรา 5 ไปหาอ่านในกฎหมายแรงงานนะครับ) แบบเร็ว ๆ ว่า คือเงินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาในเวลาทำงานปกติ

ดังนั้น จึงต้องมาตีความว่า “เงิน” ประเภทต่าง ๆ ที่บริษัทจ่ายให้กับพนักงานนั้น เงินตัวไหนบ้างที่เป็นค่าจ้าง หรือเงินตัวไหนที่ไม่เป็นค่าจ้าง เช่น…เงินเดือนเป็นค่าจ้างแหงแก๋ เพราะเป็นค่าตอบแทนการทำงานที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง คือฉันทำงานให้เธอ เธอก็ต้องจ่ายค่าตอบแทน (คือเงินเดือน) ให้ฉัน

ค่าวิชาชีพก็เป็นค่าจ้าง เพราะเป็นค่าตอบแทนการทำงานที่ลูกจ้างต้องใช้วิชาชีพนั้น ๆ ในการทำงานนายจ้างก็เลยต้องจ่ายค่าวิชาชีพให้ค่าตำแหน่ง, ค่าภาษาก็เป็นค่าจ้าง เพราะเป็นค่าตอบแทนการทำงานที่ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งนั้น หรือทำงานโดยต้องใช้ภาษานั้น ๆ ในการทำงาน ฯลฯ

จากที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ จึงต้องมาตีความกันว่าเงินอะไรบ้างที่เป็นค่าจ้าง อะไรที่ไม่เป็นค่าจ้าง เพื่อจะได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องครับ

คราวนี้เรากลับมาสู่คำถามข้างต้นคือ “การลดค่าจ้างน่ะทำได้หรือไม่ ?”

แต่ผมอยากจะตั้งคำถามกลับไปยังผู้ถามว่า…การลดค่าจ้างควรทำหรือไม่ และลดค่าจ้างไปแล้วบริษัทจะได้อะไร ?

ถ้ายังคิดไม่ออกลองตอบคำถามเหล่านี้ดูก่อนไหมครับ

1. บริษัทจะลดค่าจ้างพนักงานเพื่อจะลงโทษที่เขาทำงานไม่ดีใช่หรือไม่, บริษัทคาดหวังหรือมีเป้าหมายอะไรในการลดค่าจ้างพนักงานที่ทำงานไม่ดี ตอบให้ชัด ๆ ได้ไหมครับ

2. ถ้าลดค่าจ้างพนักงานลง เพราะพนักงานทำงานไม่ดีแล้ว จะทำให้พนักงานทำงานดีขึ้นกว่าเดิมได้จริงหรือไม่ เช่นเมื่อลดเงินเดือนพนักงานทดลองงานลงแล้วเขาจะทำงานดีขึ้นได้ตามเม็ดเงินที่ถูกลดลงไปหรือ เมื่อลดเงินเดือนพนักงานประจำที่ทำงานไม่ดีลงแล้วจะแน่ใจไหมครับว่าเขาจะทำงานดีขึ้น ถ้าเขายังทำงานไม่ดีขึ้นล่ะ บริษัทจะต้องลดเงินเดือนลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าเขาจะทำงานให้ดีขึ้นหรือเปล่าครับ

แล้วเมื่อไหร่เขาจะทำงานดีขึ้น และถ้าสมมุติว่าเขาทำงานดีขึ้นแล้วบริษัทจะปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นให้เขาตามไปด้วยไหม ?

3. แน่ใจไหมครับว่าพนักงานที่ถูกลดค่าจ้างลงจะไม่แอบ “วางยา” บริษัทด้วยการสร้างความเสียหายแบบลับ ๆ โดยไม่ให้หัวหน้ารู้ เช่น การนำข้อมูลลับที่สำคัญ ๆ ออกไปเผยแพร่ หรือการไปปล่อยข่าวลือต่าง ๆ ให้เกิดความระส่ำระสายขึ้นในบริษัท ฯลฯ

4. เมื่อลดค่าจ้างพนักงานลงแล้ว เขาจะยังคงมีความก้าวหน้า (career path) ต่อไปกับบริษัทได้อยู่อีกหรือไม่ ? บริษัทจะไว้วางใจเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งเขาในอนาคตหรือไม่ ?

จากคำถามข้างต้นในมุมมองของผม การลดเงินเดือน หรือลดค่าจ้างพนักงานลง เพราะผลงานไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นพนักงานทดลองงานหรือพนักงานประจำก็ตาม ไม่ได้ทำให้เกิดผลดีอะไรขึ้นมาเลย !

ควรทำอย่างไรถ้าพนักงานทำงานไม่ดี ?

1. มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน และแจ้งผลการปฏิบัติงาน (feedback) ให้พนักงานรับทราบแบบตรงไปตรงมา เช่น ถ้าพนักงานทำงานไม่ดีมีปัญหาในการทำงานมากจนหัวหน้ารับไม่ไหว จริง ๆ ก็ต้องกล้าประเมินผลงานให้ต่ำสุด เช่น D หรือ E

2. นำผลการประเมินไปใช้ร่วมกับการให้คุณให้โทษที่ชัดเจน เช่น เมื่อถูกประเมินผลการปฏิบัติงานต่ำสุด ก็อาจจะได้ขึ้นเงินเดือนประจำปีในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก หรือไม่ได้ขึ้นเงินเดือน หรือได้โบนัสน้อยกว่าค่าเฉลี่ย หรือไม่ให้โบนัสเลย เนื่องจากผลงานไม่เป็นที่ยอมรับของหัวหน้า และแจ้งผลให้เขาทราบ

ถ้าทำแบบนี้ตัวพนักงานอาจจะตัดสินใจเลือกทางเดินของตัวเองด้วยการลาออกไป โดยที่บริษัทไม่ต้องไปลดเงินเดือนลงให้มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องศาลแรงงาน เพราะการขึ้นเงินเดือนประจำปี

และการจ่ายโบนัสโดยหลักการแล้วเป็นสิทธิของนายจ้างที่จะขึ้นหรือจะจ่ายให้กับใครมากน้อยแค่ไหน หรือไม่ให้เลยก็ย่อมได้ (ถ้านายจ้างไม่นำสิทธิของนายจ้างนี้ไปทำให้กลายเป็นสภาพการจ้างที่เป็นคุณกับลูกจ้างนะครับ)

3. ถ้าในที่สุดแล้วบริษัทเห็นว่าพนักงานที่มีผลการทำงานไม่ดีเหล่านี้ไม่พัฒนาตัวเอง ไม่ปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้น หรือมีทัศนคติที่เป็นปัญหาที่ไม่สามารถจะทำงานร่วมกันไปได้แล้วจริง ๆ ก็คงจะต้องเจรจากับพนักงานเพื่อหาทางจากกันด้วยดี ซึ่งก็แล้วแต่เงื่อนไขข้อตกลงซึ่งกันและกันครับ

แต่พูดง่าย ๆ ว่าหลักการข้อนี้คือ “เจ็บแต่จบ” ไม่ควรยืดเยื้อแบบเรื้อรังครับ

ถ้าบริษัทของท่านมีปัญหาข้างต้นก็ลองนำความคิดเห็นของผมกลับไปคิดทบทวนด้วยหลักกาลามสูตรหาข้อมูล และไตร่ตรองคิดด้วยเหตุผลให้ดี ๆ และขอให้ท่านหาทางออกของปัญหานี้เจอด้วยตัวท่านเองครับ