เนสท์เล่ สร้างเด็กสุขภาพดี “กินถูกหลัก ห่างไกลโรคอ้วน”

กนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์

ตลอดระยะเวลา 150 ปีที่ผ่านมาของ “เนสท์เล่” ยังคงเน้นไปที่เป้าหมายในการให้ความสำคัญกับ “Good Food Good Life” โดยเฉพาะการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีคุณค่าโภชนาการอาหาร ที่มีพื้นฐานมาจากความใส่ใจที่จะเสริมสร้างสุขภาพที่ดีสู่อนาคต ซึ่งถือเป็นดีเอ็นเอของเนสท์เล่ที่ยึดถือและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติมาจนถึงปัจุบัน

และเพื่อตอกย้ำเป้าหมายข้างต้น ในปี 2561 เนสท์เล่ยังได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันทั่วโลกว่า “จะร่วมกันเพิ่มพูนคุณภาพชีวิต เสริมสร้างสุขภาพดีสู่อนาคต” ภายใต้ค่านิยมขององค์กรที่ว่า “จะยึดมั่นในค่านิยมการทำงานที่มีพื้นฐานมาจากความใส่ใจ” โดยแบ่งแนวทางปฏิบัติที่สามารถจับต้องได้ ประกอบด้วย

หนึ่ง การใส่ใจเพื่อผู้คนและครอบครัว 

สอง การใส่ใจเพื่อชุมชน 

และ สาม การใส่ใจเพื่อโลกของเรา

“กนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและสื่อสารโภชนาการเพื่อสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า จากค่านิยมขององค์กรนำมาแบ่งเป็นแนวปฏิบัติได้ 3 เรื่อง คือ การใส่ใจเพื่อผู้คนและครอบครัว ที่นอกจากการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยแล้ว ยังต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่อร่อยและมีคุณค่าทางด้านโภชนาการ และผ่านการคิดค้นจากศูนย์วิจัยและพัฒนาของเนสท์เล่ ทั้งยังได้รับการยอมรับจากสถาบันวิทยาศาสตร์

“สิ่งสำคัญที่เนสท์เล่พยายามจุดประกายให้กับผู้บริโภคคือการเลือกใช้ เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ และนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาเผยแพร่ ด้วยการสร้าง collaboration กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนชุมชนต่าง ๆ”


ขณะที่การใส่ใจเพื่อชุมชนนั้น เนื่องจากสินค้าที่เราผลิตขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากผลผลิตทางการเกษตร เนสท์เล่จึงให้ความสำคัญกับเกษตรกรรมตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง หรืออาจจะเรียกว่าตลอดทั้ง value chain เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในชนบท เกิดการจ้างงานที่หลากหลาย สร้างรายได้ที่หมุนเวียนในชุมชน พร้อมกับการผลักดันในเรื่องของสิทธิมนุษยชน

ส่วนการใส่ใจเพื่อโลกของเรา จะมุ่งเน้นเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อคนรุ่นต่อไป โดยเฉพาะการอนุรักษ์การใช้น้ำ ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ food and beverage ให้ความสำคัญ รวมทั้งการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การปกป้องสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ

“ทั้งนี้ ค่านิยมในเรื่องการใส่ใจของเนสท์เล่ทั้ง 3 ด้าน จะถูกส่งผ่านการดำเนินงานในทุกแบรนด์ ว่าจะทำอะไรเพื่อผู้คน ครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอันดับแรก เพราะเด็กเป็นจุดเริ่มต้นตั้งแต่การก่อตั้งของบริษัท ซึ่งเห็นได้จากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่เกิดมาจากพฤติกรรมในวัยเด็ก จนฝังรากลึกติดตัวมาสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งตรงนี้เราจึงต้องแก้ปัญหาที่รากเหง้าก่อน”

“จากข้อมูลทั่วโลก พบว่าผู้ที่ประสบปัญหาภาวะอ้วนมีอยู่กว่า 2,000 ล้านคน และขาดสารอาหารอีกกว่า 800 ล้านคน ซึ่งภาวะทั้งสองที่เกิดจากการได้รับสารอาหารที่ไม่สมดุล หรือขาดสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งที่เรียกภาวะนี้ว่า “ทุพโภชนาการ” ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า ภาวะทุพโภชนาการเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อสาธารณสุขของโลก”


“กนกทิพย์” กล่าวเพิ่มเติมว่า หากย้อนกลับมามองภาวะโภชนาการของไทยในปัจจุบัน จะพบว่ากว่า 37.5% ของประชากรไทยประสบปัญหาภาวะอ้วน ซึ่งถือเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากมาเลเซีย และหากโฟกัสลงมาที่ในกลุ่มเด็กที่มีอายุระหว่าง 0-5 ปี จากข้อมูลระบุว่า เด็กที่ขาดธาตุเหล็ก กว่า 29.5% มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ราว 6.7% และมีน้ำหนักเกินเกณฑ์กว่า 8.2% ส่วนในกลุ่มเด็กที่มีอายุ 6-12 ปี ขาดธาตุเหล็กมีกว่า 35.7% น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ราว 3.7% และน้ำหนักเกินเกณฑ์กว่า 9.7%

ไม่เพียงเท่านี้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO, 2018) ยังได้ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่น้ำหนักเกินมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 38% ระหว่างปี 2000-2016 และมีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกินไม่ถูกต้อง การไม่ออกกำลังกาย และการติดหน้าจอ

“จากปัญหาดังกล่าว เนสท์เล่จึงได้ประกาศจุดมุ่งหมายระดับโลกว่า “จะช่วยให้เด็ก 50 ล้านคนทั่วโลกมีวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ภายในปี 2573” โดยในส่วนของประเทศไทย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จึงได้ดำเนินโครงการ “เนสท์เล่เพื่อเด็กสุขภาพดี (Nestle for Healthier Kids)” เพื่อรวบรวมความพยายามต่าง ๆ ที่เนสท์เล่ดำเนินการ ในการสนับสนุนผู้ปกครองและผู้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีสุขภาพดี”


ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กอย่างต่อเนื่องตามความต้องการในแต่ละปี และแต่ละช่วงวัย ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย ผ่าน 2 โครงการ ที่ประกอบด้วยโครงการเด็กไทยสุขภาพดี และโครงการรวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี (United For Healthier Kids)

“โดยโครงการเด็กไทยสุขภาพดี เราได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นโครงการสำหรับเด็กวัย 6-12 ปี ในการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนและรูปแบบกิจกรรมเพื่อช่วยครูในการสอนเด็กในโรงเรียน และที่ผ่านมาถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากโรงเรียนต่าง ๆ เพราะโครงการนี้ทำให้โภชนาการเป็นเรื่องง่ายและสนุก (active learning) ผ่านกิจกรรม 4 ด้านหลัก ที่ประกอบด้วย การอ่าน ฉลากโภชนาการ ปรับ กินหลากหลาย เพิ่มผักผลไม้ ขยับ กินเท่าไหร่ ใช้ให้หมด และเปลี่ยน กินหวานมันเค็มพอดี”

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการเด็กไทยสุขภาพดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราสามารถเข้าถึงเด็กได้กว่า 1.67 ล้านคน ครูกว่า 7,578 ท่าน และโรงเรียนกว่า 13,125 แห่ง อีกทั้งครูกว่า 60% ใช้สื่อของโครงการอย่างน้อย 6-10 ครั้งต่อปีการศึกษา (2560) ขณะที่เด็กนักเรียนที่ใช้สื่อในโครงการมีความรู้เพิ่ม 28% (2559) นอกจากนี้ยังจะสนับสนุน 10 โรงเรียนต้นแบบต่อไป เพื่อเป็นตัวอย่างด้านการส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป

“โครงการนี้เราจะยังทำต่อไป เนื่องจากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีกว่า 30,000 แห่ง และเราต้องผลักดันเพื่อให้เรื่องเหล่านี้ถูกบรรจุเข้าไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีการรวบรวมและพัฒนาสื่อต่าง ๆ ของโครงการทั้งหมดไว้ในเว็บไซต์ www.dekthaidd.com เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าใช้ เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา”

“กนกทิพย์” กล่าวอีกว่า แม้ว่าโครงการเด็กไทยสุขภาพดีจะได้รับผลตอบรับที่ดีจากทางโรงเรียน ครู และนักเรียน แต่ในทางกลับกันเด็กไทยยังประสบปัญหาภาวะอ้วน ด้วยเหตุนี้เนสท์เล่จึงพยายามนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้ไปสู่การปฏิบัติจริง จึงเป็นที่มาของโครงการรวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี ในปี 2559

สำหรับโครงการรวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี เป็นการมุ่งเน้นการรวมพลังของทุกภาคส่วนในการทำให้เด็กไทยมีสุขภาพดี ด้วยการจุดประกายให้พ่อแม่และผู้มีส่วนร่วมในการดูแลเด็กให้ช่วยกันปลูกฝัง 3 สุขนิสัยในเด็กอายุ 3-5 ปี เพื่อลดปัญหาโรคอ้วนในเด็ก ได้แก่ การกินหลากหลาย เพิ่มผักผลไม้ การเลือกดื่มน้ำเปล่า และขยันขยับ ออกกำลังกาย ซึ่งทั้งสามเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับโครงการเด็กไทยสุขภาพดี เพียงแต่ย่อให้ง่ายลงเท่านั้น โดยมีพันธมิตรที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการจากหลายภาคส่วน

“และในโครงการมีโรงเรียนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 5 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงเรียนวัดหนัง โรงเรียนวัดนาคปรก โรงเรียนอรรถวิทย์ และโรงเรียนใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ โรงเรียนศรีบางไทร โรงเรียนอนุบาลศูนย์ศิลปาชีพบางไทร โดยได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งกิจกรรมถาดมหัศจรรย์ฮีโร่ เพื่อกำหนดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อของนักเรียน ทั้งยังมีแก้วน้ำที่ให้เด็กได้ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน ซึ่งเด็กนำไปใช้จริงที่โรงเรียนและที่บ้าน และยังส่งต่อความรู้เหล่านี้ไปยังผู้ปกครองอีกด้วย”

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมปลูกต้นอ่อนทานตะวันกินเอง เพื่อทำให้เด็กได้เห็นคุณค่าของผักที่ตัวเองปลูก อีกทั้งยังมีการแจกกระติกน้ำที่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสะสมสติ๊กเกอร์ และนำไปแลกกระติกน้ำ ล่าสุดในปีนี้เราได้ขยายกิจกรรมเพื่อให้เกิดการสื่อสารสร้างความเข้าใจในวงกว้าง ผ่าน YouTubers & FB Bloggers อย่าง Easy Cooking, Little Monster เป็นต้น

ถึงตรงนี้ “กนกทิพย์” บอกว่า จากการดำเนินโครงการรวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดีในปี 2560 ที่ผ่านมา เราได้มีการประเมินโครงการจาก 5 โรงเรียนต้นแบบ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าพฤติกรรมของผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการกว่า 80% ตระหนักถึงความสำคัญของการกินผักผลไม้ และมีเพียง 39% สามารถจัดเมนู ผักผลไม้ให้ลูกได้ทุกวัน และ 93% รู้ว่าการให้ลูกดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด แต่ 39% ยังซื้อน้ำหวานให้ลูกดื่มเกือบทุกวัน ขณะที่ 68% รู้ว่าควรจำกัดเวลาหน้าจอของลูก

“เป้าหมายต่อไปของโครงการคือ การขยายความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ให้ไปสู่วงกว้าง เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนำไปสู่การสร้างสุขภาพที่ดี ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของเนสท์เล่ในระดับโลก ที่จะช่วยให้เด็ก 50 ล้านคน ทั่วโลกมีวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ภายในปี 2573 ต่อไป”