‘ลอรีอัล’ ชูนักวิจัยสตรี สานต่องานวิทยาศาสตร์พัฒนาโลก

ปีนี้เป็นอีกหนึ่งครั้งที่บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด สานต่อการสนับสนุนทรัพยากรบุคคลสายวิทยาศาสตร์ ในโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (For Women in Science) ปีที่ 16 เพราะเล็งเห็นว่าการค้นคว้าและวิจัยจะนำไปสู่การพัฒนาสังคม

โดยปี 2561 มีนักวิจัยสตรี 5 ท่าน จาก 2 สาขา ที่ได้รับทุน คือ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่ “ดร.จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์” จากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การเพิ่มอัตราการผลิตเกล็ดเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อประโยชน์ทางการรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง”

“ผศ.ภกญ.ดร.วริษา พงศ์เรขนานนท์” จากภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาบทบาทของโปรตีน CAMSAP ต่อความรุนแรงของเซลล์มะเร็งปอด” และ “ดร.วิรัลดา ภูตะคาม” จากห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทยเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน”

สำหรับสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพคือ “ดร.จุฬารัตน์ วัฒนกิจ” จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การสังเคราะห์สารอิแนนทิโอเมอร์และการแยกไครัลโมเลกุลด้วยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าบนขั้วโลหะเคมีไฟฟ้า” และ “ผศ.ดร.สุรภา เทียมจรัส” จากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูและอำนวยความสะดวก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กับผลงานวิจัยหัวข้อ “ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย”

“อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โครงการทุนวิจัยลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศไทยเป็นความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) โดยผู้ที่สามารถสมัครรับทุนได้คือนักวิจัยอิสระอายุ 25-40 ปี และมีงานวิจัยที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ นักวิจัยที่ผ่านการรับเลือกจะได้รับทุน 250,000 บาท เพื่อนำไปต่อยอดการวิจัย

“โดยหัวข้อการวิจัยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของลอรีอัล แต่ต้องเป็นผลงานวิจัยที่คำนึงถึงความยั่งยืนต่อสังคมและประเทศชาติเป็นหลัก นอกเหนือจากนั้น กระบวนการวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมไปถึงจริยธรรมในการทำงานของนักวิจัย และต้องเป็นที่ยอมรับในวงการนักวิจัย”

“สำหรับระดับโลก โครงการทุนวิจัยลอรีอัลเดินทางมาถึง 20 ปี โดยปีนี้มูลนิธิลอรีอัลฉลองเส้นทางความสำเร็จด้วยการจัดตั้ง For Women in Science Academy ซึ่งเป็นสถาบันที่ทำการส่งเสริมและพัฒนาทักษะทางธุรกิจและสังคมแก่นักวิจัยสตรีทั่วโลกบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมุ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการ, การพัฒนาทักษะสู่ความเป็นผู้นำ, การสื่อสาร และการแนะนำแหล่งความรู้, รวมถึงเครื่องมือเสริมการทำงาน”

“นอกจากนั้นประเทศไทยยังได้รับโอกาสเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าว โดยจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักวิจัยสตรีนำไปต่อยอดในสายงาน และการนำเสนองานวิจัย ติดตามผลงานความก้าวหน้างานวิจัยของนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนจากโครงการ และสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งของนักวิจัยสตรีในโครงการทั่วโลก”

“ดร.จันทร์เจ้า” กล่าวว่า การวิจัยนี้เป็นการสร้างความเข้าใจในกลไกการทำงานของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการเจริญเติบโต และผลิตเกล็ดเลือดได้ดีขึ้น ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อต่อยอดในการผลิตเกล็ดเลือดในระดับที่ใหญ่ขึ้นต่อไป

“เพราะเกล็ดเลือดคือส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีบาดแผล ช่วยอุดรอยฉีกขาดของเส้นเลือดเวลานาน เมื่อผู้ป่วยได้รับเกล็ดเลือดเพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที จะส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น ลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ลดภาระค่าใช้จ่าย ทั้งยังช่วยเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เกิดการจ้างงาน ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อสังคมและประเทศชาติได้”

ขณะที่ “ผศ.ภกญ.ดร.วริษา” ศึกษาบทบาทของโปรตีน CAMSAPs ต่อความรุนแรงของเซลล์มะเร็งปอดในระดับโมเลกุล เนื่องจากเป็นมะเร็งที่พบอันดับต้น ๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งโปรตีน CAMSAPs เป็นโปรตีนที่เชื่อมต่อกับไมโครทูบูล รวมทั้งโปรตีนนี้ต่างไปจากเซลล์ปกติ

“เซลล์มะเร็งปอดยังเป็นเซลล์ที่มีความรุนแรงสูง มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมีการดื้อต่อยาเคมีบำบัดสูง จึงทำให้มีอัตราการรอดชีวิตต่ำ หากงานวิจัยสามารถทำให้เข้าใจองค์ความรู้พื้นฐานของกลไกระดับโมเลกุล จะสามารถนำไปเป็นโมเลกุลเป้าหมายในการพัฒนายารักษามะเร็งได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วต่อไป”

ส่วนงานวิจัยของ “ดร.วิรัลดา” เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์ในการค้นหาและพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลสนิปเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย จนกระทั่งได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์มาศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเล และการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทย เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ

“การวิจัยนอกจากจะมีการเก็บตัวอย่างปะการังที่กระจายอยู่ในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมาสกัดดีเอ็นเอ เพื่อใช้ในการเพิ่มจำนวนชิ้นส่วนของดีเอ็นเอบาร์โค้ดและประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรม ควบคู่ไปกับการสกัดอาร์เอ็นเอเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบระดับการแสดงออกของยีนในปะการังระหว่างสภาวะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงเทียบกับสภาวะอุณหภูมิปกติ พร้อมกับทำการเปรียบเทียบการแสดงออกของยีนระหว่างปะการังโคโลนีที่ทนร้อน และโคโลนีที่ฟอกขาวรุนแรงในช่วงที่อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น”

“ผลของงานวิจัยจะช่วยทำนายโอกาสในการอยู่รอดของแนวปะการังไทยเมื่อสภาวะแวดล้อมเกิดการแปรปรวนในอนาคต อีกทั้งยังเป็นประโยชน์แก่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการคัดเลือกปะการังเพื่อนำไปขยายพันธุ์ก่อนทำการย้ายปลูกกลับสู่ทะเลภายใต้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการังให้ดำรงสภาพสมบูรณ์อย่างยั่งยืนได้ต่อไป”

สำหรับสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ “ดร.จุฬารัตน์” กล่าวถึงงานวิจัยว่า เป็นการสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ สำหรับพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยา และการใช้เทคนิคทางเคมีไฟฟ้าในการออกแบบวัสดุที่มีรูพรุนแบบต่าง ๆ เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์สารอิแนนทิโอเมอร์ (enantiomer) ด้วยเทคนิคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“สารอิแนนทิโอเมอร์มีความบริสุทธิ์สูง และมีความสำคัญในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง และเคมีวิเคราะห์ ปัจจุบันสามารถพัฒนาวัสดุเพื่อใช้ในการผลิตสารผลิตภัณฑ์อิแนนทิโอเมอร์ของสารประกอบอนุพันธ์ในน้ำมันชีวภาพ (bio-oil) ได้แล้ว ซึ่งจะช่วยพัฒนาค่าการเลือกเกิดของสารผลิตภัณฑ์อิแนนทิโอเมอร์ที่ต้องการได้สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์”

อันเป็นรากฐานที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมทางเคมีวิเคราะห์ ทั้งยังสามารถนำมาใช้ในการต่อยอดในการผลิตวัสดุ และสารเคมี เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต จะทำให้ต้นทุนการผลิตยาลดลง ส่งผลให้ราคายาและเครื่องสำอางลดต่ำลง

“ผศ.ดร.สุรภา” ผู้ที่ได้รับทุนในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพอีกท่านหนึ่ง ซึ่งทำงานวิจัยระบบช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์การก้าวเป็นสังคมผู้สูงอายุ ด้วยการทำวิจัยอุปกรณ์ที่มีเซ็นเซอร์อัจฉริยะขนาดเล็ก โดยใช้เทคโนโลยีโครงข่ายเซ็นเซอร์ร่างกาย และไอโอที (internet of things-IOT)มาสนับสนุนระบบการดูแล ซึ่งจะคอยเฝ้าระวังผู้สวมใส่ และแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลหากมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น หรือผู้สวมใส่อยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ดูแลสามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที

“โดยระบบจะทำงาน 3 ส่วน คือการคาดการณ์ล่วงหน้า, การป้องกัน และการปรับแต่งการใช้งานเฉพาะบุคคลสำหรับแพทย์ในอนาคต ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและภาครัฐที่ต้องใช้ในการรักษา”

นับว่าเป็นโครงการที่เบิกทางให้กับทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์ของไทยให้เป็นที่รู้จักสู่เวทีระดับโลก