ทิศทาง CSR ปี”62 มุ่งคุณค่า+ผลกระทบสู่ความยั่งยืน

เพราะความตื่นตัวในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (ซีเอสอาร์) มีปัจจัยมาจากแรงผลักดันใน 2 ขั้วหลัก คือ การทำตามกระแส ทั้งที่เกิดจากองค์กรข้างเคียงในอุตสาหกรรมนั้น ๆ หรือจากคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจ ตลอดจนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นขั้วของการทำซีเอสอาร์ในเชิงรับ โดยรูปของการดำเนินงานที่เห็นบ่อยครั้ง คือ กิจกรรม (อีเวนต์) รายครั้ง ที่สามารถประชาสัมพันธ์ให้เห็นเป็นรูปธรรมง่าย แต่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจที่ทำอยู่

ขณะที่อีกขั้วหนึ่งทำเพราะเห็นคุณค่า ที่ได้รับประโยชน์ร่วมทั้งแก่องค์กร อาทิ ช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มผลิตภาพ การขยายโอกาสทางธุรกิจ และทั้งแก่สังคม อาทิ การเพิ่มทักษะอาชีพให้คนในชุมชน การช่วยกระจายรายได้ การทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น โดยฝั่งนี้ถือเป็นการทำซีเอสอาร์เชิงรุก ซึ่งมีรูปแบบที่เป็นกระบวนการ (process) ที่ต่อเนื่อง สอดคล้องกับสายงาน การปฏิบัติงาน หรืออยู่ในการดำเนินธุรกิจปกติ

ทั้งนั้น องค์กรที่ต้องการได้ประโยชน์ที่ครอบคลุมจากการทำซีเอสอาร์ จำเป็นที่ต้องยกระดับจากการทำกิจกรรม มาสู่กระบวนการ และกิจการเหล่านั้นจำเป็นต้องปรับเป้าหมายของการทำซีเอสอาร์ ให้มุ่งไปที่การได้มาซึ่ง “คุณค่า (value)” และ “ผลกระทบ (impact)” ที่มากขึ้นจากเดิม

ด้วยเหตุนี้เอง สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะองค์กรที่มุ่งเน้นงานด้านการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ด้วยการวิจัย การฝึกอบรม และการให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชน ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงแถลงถึงผลการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม ประจำปี 2562 ภายใต้รายงานชื่อ “6 ทิศทาง CSR ปี 2562 : The Power of Sustainability” เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงาน และองค์กรธุรกิจในการนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ และความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “คุณค่า” และ “ผลกระทบ” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กร และความคาดหวังของสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

“ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ในการประมวลทิศทางซีเอสอาร์ของสถาบันไทยพัฒน์เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 นั้น พบว่าแนวโน้มของทิศทางมีได้หลากหลายมิติขึ้นอยู่กับความพร้อมองค์กร และความเป็นไปของโลกในแต่ละปี ทั้งยังต้องทำให้ครอบคลุมกับการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มธุรกิจ กลุ่มอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่ได้จำกัดว่าบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ที่สำคัญ ทั้ง 6 ทิศทางที่ประกาศออกในแต่ละปีจึงถือว่าครอบคลุมรอบตัว เหมือนทิศทั้ง 6 ตามหลักพุทธศาสนา

สำหรับ 6 ทิศทางซีเอสอาร์ ประจำปี 2562 ที่สถาบันไทยพัฒน์ประมวลผลออกมา ประกอบด้วย

ทิศทางที่ 1 The Rise of Waste-Free Campaign แปลงขยะ (waste) ปลายทาง ให้กลับมาเป็นวัสดุ (materials) ต้นทาง โดยในปี 2562 ธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคหลายแห่ง จะลุกขึ้นมาจัดการกับขยะบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะพลาสติก ทั้งในแง่ของการส่งเสริมการลดใช้บรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียวทิ้ง การหาวิธีทดแทนบรรจุภัณฑ์เดิม และการใช้ซ้ำบรรจุภัณฑ์ ในขณะที่ธุรกิจในหมวดพาณิชย์ที่เป็นผู้ให้บริการจำหน่ายสินค้าปลีก โดยเฉพาะที่มีหน้าร้านเป็นสถานที่จัดจำหน่าย จะออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นหรือจูงใจให้ผู้บริโภค ลดการรับหีบห่อหรือภาชนะที่เป็นพลาสติกอย่างต่อเนื่อง

ทิศทางที่ 2 Inclusive Supply Chain เปลี่ยนบทบาทผู้ด้อยโอกาส จากการเป็น “ผู้รับมอบ” ความช่วยเหลือมาเป็น “ผู้ส่งมอบ” ในสายอุปทาน ซึ่งภาคธุรกิจจะให้ความช่วยเหลือทางสังคมแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ถูกคัดเลือก ด้วยการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ การสร้างอาชีพรายได้ แทนการมอบเงิน หรือสิ่งของ ในลักษณะที่เป็น CSR-after-process มาสู่การจัดหาด้วยการเปิดโอกาสให้เป็นผู้ส่งมอบในสายอุปทาน ซึ่งจัดเป็น CSR-in-process ที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

ทิศทางที่ 3 The Shift to the SDG Economy การเคลื่อนย้ายสู่ระบบเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ความเข้มข้นของการขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองต่อ SDGs ในภาคธุรกิจ จะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบ (act responsibly) ต่อผลกระทบในเชิงลบ แต่รวมถึงการแสวงหาโอกาส (find opportunities) ที่เป็นการสร้างคุณค่าหรือผลกระทบในเชิงบวก เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG economy) ในอีกทางหนึ่งด้วย

ทิศทางที่ 4 Investments in the Third Dimension เปิดโลกทัศน์การลงทุน จาก risk-return profile ไปสู่การเพิ่มมิติที่เป็น real world impact โดยผู้ลงทุนประเภทสถาบันที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG จะเพิ่มการพิจารณาผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (real world impact) เป็นมุมมองของการลงทุนในมิติที่สาม เพิ่มเติมจากการพิจารณาคุณลักษณะความสัมพันธ์ด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน (risk-return profile) ในแบบทั่วไป

ทิศทางที่ 5 Impact is the New Accountability Principle ใช้หลักการ accountability เพื่อจัดการ sustainability อย่างบูรณาการ ถือเป็นที่คาดหมายว่า กิจการที่ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือในผลการดำเนินงาน และการรายงานด้านความยั่งยืน ผ่านการให้ความเชื่อมั่นจากหน่วยงานภายนอก (external assurance) จะนำชุดหลักการ accountability ที่ได้เพิ่มเติมหลักผลกระทบ (impact) ไว้เป็นหลักการที่สี่ มาใช้กำกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และสื่อสารถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในรอบปีการดำเนินงานนี้ เป็นต้นไป

ทิศทางที่ 6 Sustainability S-curve ยกระดับจากกลยุทธ์ความยั่งยืน (sustainability strategy) ไปสู่กลยุทธ์ที่ยั่งยืน (sustainable strategy) โดยวิสาหกิจที่อาศัยกลยุทธ์ความยั่งยืนเป็นเครื่องมือดำเนินงานมาระยะหนึ่ง จะเริ่มผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์องค์กร มีการวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงด้านความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ และคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้กำกับดูแลกลยุทธ์ (องค์กร) ที่ยั่งยืน (sustainable strategy) โดยไม่จำเป็นต้องมีคณะผู้รับผิดชอบด้านความยั่งยืนแยกต่างหากอีกต่อไป

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก 6 ทิศทางที่สถาบันไทยพัฒน์ประกาศออกมาแล้ว ส่วนที่เป็นปัจจัยสำคัญ และถือเป็นไฮไลต์ของการทำซีเอสอาร์ในปีนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “คุณค่า value” และ “ผลกระทบ impact” เนื่องจากสองเรื่องนี้จะเป็นตัวเชื่อมของทั้ง 6 ทิศทาง ที่ทางสถาบันได้ประกาศออกมา

“อย่างการทำเรื่องขยะในทิศทางที่ 1 เพื่อมุ่งให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือทิศทางที่ 4 เรื่องการลงทุนที่ยั่งยืน ที่ดูว่ารูปแบบ วิธีการลงทุนในตลาดทุนจะเป็นส่วนเสริมที่ทำให้โลกดีขึ้นได้อย่างไร ตลอดจนทิศทางที่ 3 เรื่องของ SDG economy ที่เป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

“ฉะนั้น เรื่องของคุณค่า และผลกระทบ จึงเป็นตัวเชื่อมของทั้ง 6 ทิศทาง ทั้งยังเป็นแนวทางหลักของการทำซีเอสอาร์สำหรับองค์กรที่ต้องการได้ประโยชน์เต็มจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าทั้งต่อสังคม และต่อกิจการที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมถึงคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของกิจการในการสร้างผลกระทบเชิงบวก และบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป”

อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนถึงพัฒนาการเรื่องซีเอสอาร์ของประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา “ดร.พิพัฒน์” มองว่า เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความเข้าใจขององค์กรเกี่ยวกับซีเอสอาร์ว่าไม่ใช่เรื่องการทำ พี.อาร์. หรือกิจกรรมเพื่อสังคม แต่เป็นเรื่องกระบวนการที่ต้องตอบสนองต่อความยั่งยืนในมิติที่ครอบคลุมมากขึ้น

“ปัจจุบันไม่มีองค์กรไหนในตลาดทุนที่ออกมาสร้างภาพลักษณ์ในเชิงของอีเวนต์ แต่จะเน้นภายในกระบวนการมากกว่า ตรงนี้ถือเป็นพัฒนาการด้านซีเอสอาร์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างเห็นได้ชัดเจน”

อันเป็น 6 ทิศทางที่มุ่งสร้างคุณค่าและผลกระทบให้กับกิจการ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืน 

คลิกอ่านเพิ่มเติม.. Value x Impact เครื่องมือซีเอสอาร์ใหม่