กลยุทธ์ “ซีพีเอฟ” จากป่าชายเลนถึงชันโรง

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ พร้อมส่งเสริมชาวประมงใน ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา เลี้ยงชันโรง (ผึ้งจิ๋ว) เป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ชุมชนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อคืนสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน

“วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ชุมชนชะแล้มีความพร้อม และมีความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อคืนสมดุลธรรมชาติให้เป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนในชุมชน นับเป็นความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชน และภาคเอกชน ผ่านโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน” ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

“ทั้งนี้ จากการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ป่ายังเป็นที่อยู่ของแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะชันโรง ซึ่งเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรคล้ายผึ้ง สามารถเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน ซีพีเอฟจึงต่อยอดโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงชันโรงให้เป็นอาชีพเสริมของคนในชุมชน โดยนำผู้สนใจไปดูงานเลี้ยงชันโรงที่พัทลุง ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงชันโรงที่มีชื่อเสียงที่สุดของทางภาคใต้ เพื่อเผยแพร่ความรู้ และทำผลิตภัณฑ์จากชันโรง เช่น น้ำผึ้ง สบู่ เป็นต้น”

“ปัจจุบันมีชาวชุมชน 8 ครอบครัวที่หันมาเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น มีรายได้เฉลี่ย 50,000-60,000 บาทต่อปี ทั้งยังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าได้ เช่น น้ำผึ้ง และสบู่ โดยซีพีเอฟมีโครงการพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนเลี้ยงชันโรง เพื่อให้ความรู้แก่คนในชุมชนที่สนใจสามารถนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพได้ อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างมั่นคง”

“ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้เสาหลักสู่ความยั่งยืนของบริษัท คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่ โดยทำงานร่วมกับ ทช. เครือข่ายภาคประชาสังคม และชุมชนในพื้นที่ในการอนุรักษ์ฟื้นฟู และเพิ่มพื้นที่สีเขียวรวมทั้งสิ้น 2,388 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ระยอง, สมุทรสาคร, พังงา, สงขลา และชุมพร โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ SDGs (Sustainable Development Goals)”

“ประพัฒน์ โนเรศน์” หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 38 จ.สงขลา กล่าวเสริมว่า ป่าชายเลนเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสังคม และชุมชน รวมทั้งความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ เครือข่าย และภาคประชาสังคมร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแล

“ดังนั้น การที่ภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน จึงทำให้เกิดประโยชน์ชัดเจน คือ เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนให้กับประเทศและชุมชน กระตุ้นให้ชุมชนในพื้นที่เห็นความสำคัญของป่าชายเลน ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชนเอง อาทิ การทำอาชีพประมงพื้นบ้าน นอกจากนี้ ในพื้นที่ปลูกป่าชายเลนที่ ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซีพีเอฟยังเข้ามาสนับสนุนคนในชุมชนเลี้ยงผึ้งชันโรง ทำให้เกิดการสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน”

“ภาครัฐอยากเห็นหน่วยงานเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เพราะภาคเอกชนนำองค์ความรู้เข้ามาใช้ผสมผสานในการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่า ส่งเสริม

ชุมชนให้อยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่าง ซีพีเอฟที่เข้ามาสนับสนุนแนวคิดในการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ รวมถึงงบประมาณในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน จึงทำให้หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการได้อย่างราบรื่น และรวดเร็วขึ้น”

จนทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน