IWG เผย การทำงานที่ยืดหยุ่น คือคำตอบของพนักงานยุคใหม่

นักธุรกิจกว่า 15,000 คน ใน 80 ประเทศทั่วโลกได้ร่วมตอบแบบสอบถามจาก “International Workplace Group (IWG)” ผู้ดำเนินการบริหารแบรนด์ผู้ให้บริการพื้นที่สำนักงานชั้นนำระดับโลก อย่าง Regus, Spaces, No18, Basepoint, Open Office และ Signature ในหัวข้อ “Global Workspace Survey” จากแบบสอบถามพบว่า บริบทใหม่ของคนทำงานในยุคปัจจุบันคือ “การทำงานที่ยืดหยุ่น” และยังถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกองค์กรเข้าร่วมทำงาน โดยจะคำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ให้ความยืดหยุ่นมากกว่าจำนวนวันหยุด

ผลสำรวจดังกล่าวยังบอกอีกว่า องค์กรที่ขาดนโยบายด้านความยืดหยุ่นมีแนวโน้มสูงที่จะสูญเสียพนักงานที่มีความรู้ความสามารถสูงกว่าองค์กรที่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านเวลาและสถานที่ในการทำงาน และที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความยืดหยุ่นคือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 85 ขององค์กรต่าง ๆ ได้มีการปรับเพิ่มนโยบายในการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ในขณะที่องค์กรที่ไม่สามารถประยุกต์แนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ มาจากองค์กรที่มีการทำงานมาอย่างยาวนาน การจะเพิ่มเรื่องความยืดหยุ่นในการทำงานจึงมีข้อจำกัด โดยเฉพาะข้อกังวลที่ว่า ความยืดหยุ่นอาจส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมองค์กรและแนวทางในการทำงานที่มีมาอย่างยาวนานหรือไม่

“ลาส์ วิททิก” รองประธานฝ่ายขายประจำภูมิภาคอาเซียนของ IWG กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าวทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งเป็นบริบทใหม่ของการทำงานที่องค์กรต่าง ๆ นั้นมุ่งเน้น เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน รวมไปจนถึงการสรรหาทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานกับองค์กรได้ไม่ยากนัก ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความต้องการในการทำงานนอกสถานที่อย่างน้อย 2-3 วันต่อสัปดาห์

“ปัจจุบันองค์กรทั่วโลกเพิ่มความคล่องตัว รวมถึงการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้น ผลสำรวจที่ได้จึงชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ว่า องค์กรในยุคนี้จะต้องนำเอาแนวคิดความยืดหยุ่นมาปรับใช้กับองค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงกลยุทธ์และการสร้างเงิน นอกจากนี้ยังช่วยดึงดูดพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้มีความสนใจในองค์กรยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถรักษาพนักงานเดิมที่มีความรู้ความสามารถไว้ได้”

ทั้งนี้ จากผลสำรวจร้อยละ 71 ของผู้ตอบแบบสำรวจยังระบุว่า การนำแนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่นมาใช้กับองค์กร ช่วยดึงดูดและเฟ้นหาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถและตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรได้ดี ส่วนพนักงานที่มีอยู่เดิมก็ยังเลือกที่จะทำงานร่วมกับองค์กรต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของพนักงานที่มีต่อการทำงานที่ยืดหยุ่น โดยร้อยละ 32 ของผู้ตอบแบบสำรวจพบว่า แนวคิดดังกล่าวมีความสำคัญและตอบโจทย์ความต้องการพนักงานได้ดีกว่าการมอบหมายงานที่มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่สูงขึ้น

“พนักงานส่วนมากให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (work/life balance) โดยจากผลสำรวจยังพบว่า การทำงานที่ยืดหยุ่นมีส่วนช่วยสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ถึงร้อยละ 78 รวมไปถึงการช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากความเครียด มีปัญหาด้านสุขภาพจิต พนักงานสูงอายุ เป็นต้น”

“ลาส์” กล่าวอีกว่า แนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่น ไม่เพียงช่วยให้พนักงานมีความสุขกับงานเท่านั้น เพราะยังมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย โดยผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 85 เห็นว่าความยืดหยุ่นถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีที่สุด รองลงมาคือร้อยละ 21 ระบุว่า ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีเป็นผลมาจากรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น

จากตัวเลขดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อมูลขององค์การสหประชาชาติที่ระบุว่า ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ส่งผลต่อการการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงไม่กี่ปีผ่านมา ทำให้องค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญในด้านความคล่องตัวของธุรกิจและประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยร้อยละ 55 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ในปี 2562 นี้ องค์กรต้องการความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้นและมีแนวโน้มในการมองหาช่องทางการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอีกด้วย และกว่าร้อยละ 64 ของผู้ตอบแบบสำรวจยังระบุว่า การทำงานแบบยืดหยุ่นมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและย่นระยะเวลาในการขยายธุรกิจสู่ตลาดใหม่ในต่างประเทศ ส่วนร้อยละ 66 ของผู้ตอบแบบสำรวจเลือกใช้แนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความต้องการในการขยายธุรกิจ ส่วนจำนวนร้อยละ 65 ระบุว่า ต้องการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการทำงานโดยเลือกใช้พื้นที่สำนักงานที่มีความยืดหยุ่นและการบริการอย่างครบวงจร

ถึงตรงนี้ “ลาส์” บอกว่า จากผลสำรวจดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่าร้อยละ 40 ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าระยะเวลาในการเดินทางไปทำงานในแต่ละวันถือเป็นส่วนที่เลวร้ายที่สุดในการทำงาน และเชื่อว่าการเดินทางไปทำงานอาจเป็นเรื่องที่ล้าสมัยในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2573) โดยร้อยละ 22 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า พวกเขาเดินทางไปทำงานสายเป็นประจำ เนื่องจากการจราจรในช่วงเช้าติดขัด อีกทั้งยังใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินทางไปทำงาน จึงมองว่าองค์กรควรปรับระเบียบเวลาในการเข้างานของพนักงาน โดยรวมเวลาที่ใช้ในการเดินทางเข้าไปกับเวลาการทำงาน

จากผลสำรวจนี้ได้ข้อสรุปว่า “ความยืดหยุ่น” คือ โจทย์ที่ท้าทายขององค์กรยุคนี้ หากตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานได้ นั่นหมายถึงว่าประสิทธิภาพการทำงานจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย