“โซล” เมืองแบ่งปัน (จบ)

ภาพจาก : https://medium.com/@bartclaeys/ten-days-in-seoul-south-korea-bda98d585546

คอลัมน์ CSR Talk

โดย กัญรัตน์ โภไคยอนันต์

หรืออย่างโครงการแบ่งปันบ้าน ด้วยความต้องการที่ต่างกัน แต่สามารถใช้วิธีการแก้ปัญหาวิธีเดียวกัน เพราะการจับคู่ผู้สูงอายุที่เป็นเจ้าของบ้านที่มีห้องที่ไม่ได้ถูกใช้งาน กับนักศึกษาที่ต้องการที่พักอาศัยในราคาเข้าถึงได้ สามารถช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุได้ ทั้งยังสร้างรายได้ประจำผ่านการเช่าห้องพัก และนักศึกษาเองมีที่พักอาศัยที่ตรงกับจำนวนเงินในกระเป๋า แถมยังเป็นการช่วยดูแลกันและกันของสองคนต่างวัยหรือแม้แต่นักท่องเที่ยวสามารถขอเช่าห้องที่ไม่ได้ใช้งานด้วยแนวคิดเดียวกับ Airbnb ได้

นอกจากนี้ กรุงโซลยังเปิดชั้นใต้ดินของอาคารศาลาว่าการกรุงโซลเพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่เรียกว่า “citizens hall” ให้กลายเป็นสถานที่สำหรับประชาชนในการพบปะผู้คน สามารถเพลิดเพลินกับกิจกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งการจัดงานโซลไอเดียเอ็กซ์โปช็อปที่ตลาดโซล และการใช้พื้นที่จัดพิธีแต่งงาน

การสร้าง “sharing city team” ภายใต้สำนักนวัตกรรมสังคม (social innovation) เป็นหนึ่งในขั้นตอนแรกที่สำคัญ และเป็นฝ่ายเริ่มทำงานเพื่อพัฒนานโยบาย และสถาบันเพื่อการแบ่งปันเมืองร่วมกับเขตท้องถิ่นในกรุงโซล ทั้งยังทำงานร่วมกับ ShareHub โดยมี creative commons Korea เป็นหนึ่งในโครงสร้างที่สำคัญ

โครงการเมืองแบ่งปันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกรัฐบาลได้ช่วยบริษัทสตาร์ตอัพ และบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างบริการแบ่งปันทั้งในแง่เงินลงทุนและกฎหมาย ในช่วงที่สองปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเทศบาลกำลังผลักดันให้ประชาชนพัฒนาแอปพลิเคชั่นของตัวเอง ด้วยการเปิดข้อมูลสาธารณะที่มีมูลค่าทางสังคมหรือทางเศรษฐกิจสูงใน “open data plaza”

จากการแบ่งปันที่จอดรถที่ไม่ได้ใช้ไปจนถึงการเช่าห้องว่าง การแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า หนังสือ อาหารไปจนถึงแรงงาน และการให้ประชาชนใช้พื้นที่ว่างในที่สาธารณะ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกของรัฐบาล จะเห็นได้ว่าการสนับสนุนของรัฐบาลที่มีส่วนร่วมเชิงรุกกับสาธารณะโดยการจัดหาทรัพยากรของเมือง เช่น พื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้ใช้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับประชาชน และสนับสนุนการแบ่งปันรูปแบบธุรกิจทางเศรษฐกิจ

เมืองแห่งการแบ่งปัน จึงเป็นการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนอีกรูปแบบหนึ่งในศตวรรษที่ 21 ควรเป็นสถานที่รวมเสรีภาพทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริหารรัฐกิจแบบมีส่วนร่วม เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจากการรบกวนของกระแสต่าง ๆ ในโลก การสร้างชุมชนเมืองหากขาดจิตสำนึกร่วมที่แข็งแกร่ง เมืองต่าง ๆ จะไม่เป็นเมือง ดังที่ “Yochai Benkler” ศาสตราจารย์ด้านการศึกษากฎหมายผู้ประกอบการที่ Harvard Law School กล่าวถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล สาธารณชน และภาคประชาสังคมที่จะสามารถดึงอำนาจกลับมาจากแพลตฟอร์มหลัก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสและประชาธิปไตย

เมืองแบ่งปันไม่ได้สร้างผลลัพธ์เพียงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อรองอำนาจของพลเมืองที่สามารถใช้ระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในการมีส่วนร่วมออกแบบทิศทางการพัฒนาเมือง จากการเข้าถึงข้อมูลเปิดของภาครัฐที่โปร่งใสในการดำเนินการให้บรรลุประสิทธิผลอีกด้วย

คลิกอ่านที่นี่… “โซล” เมืองแบ่งปัน (1)