AIS ผนึก ฟาร์มลุงรีย์ เปิดศูนย์เรียนรู้ ‘เกษตรฟาร์มสุข’ นำ IoT สร้างฟาร์มอัจฉริยะ หนุนเกษตรไทยยั่งยืน

เอไอเอส ร่วมกับฟาร์มลุงรีย์ เปิดศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุข เป็นแหล่งการเรียนรู้พื้นฐานด้านการทำการเกษตร ด้วยแนวคิด “สอน เสริม สร้าง” พร้อมเป็นศูนย์กลางให้กลุ่ม Smart Famer ได้นำประสบการณ์ตรงจากกาฟรลงมือปฏิบัติจริงมาร่วมแบ่งปัน บูรณาการองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีผสมผสานแนวคิดการทำเกษตรแบบคนเมือง (Urban farm) โดยนำแพลตฟอร์ม IoT ฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Intelligent Farm (iFarm) มาช่วยบริหารจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

“วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส ในฐานะ Digital Life Service Provider มีความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เข้ามามีส่วนช่วยยกระดับภาคการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นปัจจัยฐานรากที่มีความสำคัญต่อทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคมไทยมาโดยตลอด

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายอย่างที่ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นนวัตกรรมด้านการเกษตร เข้ามาช่วยทุ่นแรง เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความแม่นยำในการสร้างผลผลิต จนนำไปสู่การช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดียิ่งขึ้นด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง เอไอเอส จึงเล็งเห็นโอกาสในการร่วมกับพันธมิตรอย่างฟาร์มลุงรีย์ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างของ Smart Famer ที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบสอดคล้องกับความตั้งใจของเอไอเอสในการเปิดศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุขที่ฟาร์มลุงรีย์ในครั้งนี้ ที่จะเป็นแลนด์มาร์คสำหรับ Smart Famer และภาคีเครือข่ายภาคการเกษตร ที่จะได้ร่วมศึกษาเรียนรู้ และพัฒนาภาคเกษตรกรรมไทยยั่งยืน

สำหรับศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุข ฟาร์มลุงรีย์ ถูกออกแบบเป็นพื้นที่การเกษตรยุคใหม่ที่สอดคล้องกับแนวคิด “สอน – เสริม – สร้าง” เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีผสมผสานแนวคิดการทำเกษตรกรรมแบบคนเมือง (Urban farm) ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติงานจริงหลอมรวมจนเกิดเป็น Smart Farm ขณะเดียวกัน เอไอเอส ได้สร้างแพลตฟอร์ม IoT ภายใต้ชื่อ Intelligent Farm (iFarm) เป็นฟาร์มอัจฉริยะที่เชื่อมต่อผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง พร้อมเปิด API และ Interface อย่างง่าย เพื่อให้นักพัฒนาอุปกรณ์ภาคเอกชน ได้นำไปต่อยอดในการคิดค้นอุปกรณ์ Smart Farm โดยไม่ต้องลงทุนสร้างระบบ Cloud ด้วยตัวเอง ทำให้การพัฒนาอุปกรณ์ IoT ภายในฟาร์ม มีความหลากหลายมากขึ้น ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการฟาร์มได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ผ่านสมาร์ทโฟนได้ทุกที่ทุกเวลา รวมไปถึง การสร้างสรรค์ Digital Ecosystem สนับสนุนการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายของเกษตรกรในพื้นที่

“ชารีย์ บุญญวินิจ” เจ้าของฟาร์มลุงรีย์ พูดถึงความร่วมในครั้งนี้ว่า เราทำงานร่วมกันด้วยความเชื่อเดียวกัน คือการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ดีขึ้น ชีวิตของผู้บริโภคที่ดีขึ้น เราต้องการให้พื้นที่แห่งนี้ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายๆ คนที่มีความฝัน อยากลงมือทำเกษตร สามารถสร้างฟาร์มสุขได้ด้วยตัวเอง แม้จะอยู่กลางเมืองกรุง ชุมชนเมือง แต่เราสามารถเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นจุดศูนย์กลางด้านอาหารปลอดภัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ภายในศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุขในฟาร์มลุงรีย์ จะเป็นการฉายภาพของการนำนวัตกรรมด้านการเกษตรมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนทางอาหาร ด้วยแนวคิดการทำเกษตรกรรมแบบคนเมือง (Urban Farm) ผลผลิตที่ได้จะถูกนำไปจัดจำหน่ายให้กับร้านอาหารชื่อดังและร้านอาหารที่มีแนวคิดสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันในพื้นที่กรุงเทพฯ และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ภายในพื้นที่จำกัดเพียง 100 ตารางเมตรนี้เท่านั้น

ในศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุข ฟาร์มลุงรีย์ จะประกอบด้วย ฟาร์มเลี้ยงไส้เดือน, ฟาร์มเพาะเห็ดหิมาลัย, โรงเรือนปลูกผัก และโรงเลี้ยงสัตว์ บริหารจัดการผ่านแพลตฟอร์ม IoT ฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Intelligent Farm (iFarm) มาช่วยในการบริหารจัดการดูแลฟาร์มอย่างครบวงจร สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรฟาร์มสุข ณ ฟาร์มลุงรีย์ ได้ทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 15.00 – 17.00 น. และวันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 12.00 น. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง โทร. 061 – 414 – 5242 หรือทางเฟซบุ๊ก Uncleree Farm

 

ถึงตรงนี้ “วีรวัฒน์” บอกว่า ผมเชื่อว่า ในวันนี้ เกษตรกรไทยพร้อมแล้วที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีศักยภาพในการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้เจริญเติบโต โดยเฉพาะคนเมืองจะได้เรียนรู้และสัมผัสกับ Digital Ecosystem ที่เอื้อต่อภาคธุรกิจเกษตรแบบครบวงจร

เอไอเอส พร้อมที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกษตรกรไทยมีขีดความสามารถที่ดีขึ้นต่อไป