ไมโครซอฟท์วางฐานดิจิทัล ควง DES ผุดศูนย์ R&D AI

จากการสำรวจ Future Ready Business : Assessing Asia Pacific’s Growth Potential Through AI ที่จัดทำขึ้นโดย “ไมโครซอฟท์ เอเชีย-แปซิฟิก” และ “ไอดีซี” ระบุว่า มีองค์กรในประเทศไทยเพียง 26% เท่านั้น ที่ได้นำปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence-AI) เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในกลยุทธ์ทางธุรกิจสำหรับอนาคต

ทำให้ “ไมโครซอฟท์” ได้ลงนามในความร่วมมือกับหน่วยงานมากมาย เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง สมบูรณ์ และสมดุลในการพัฒนาเชิงนวัตกรรมดิจิทัลของไทยในปี 2563 โดยที่ผ่านมาได้มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา AI ขึ้นในไทย ซึ่งจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยในระยะแรกศูนย์วิจัยแห่งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับภาคการเกษตร และการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ให้เป็นรูปธรรม

“ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้กลายเป็นองค์ประกอบที่สร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจ และสังคมได้อย่างเต็มที่นั้น ต้องอาศัยความเข้าใจที่ลึกซึ้งในทุกระดับ เช่นเดียวกับการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา AI แห่งนี้ ไม่เพียงเป็นช่องทางให้ไมโครซอฟท์สามารถนำแนวทางปฏิบัติที่ผ่านความสำเร็จบนเวทีโลกมาแบ่งปันให้นักคิดไทยได้นำไปปรับใช้เท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีที่เชื่อมโยงทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยี สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่นักลงทุน ให้ผสานกันเป็นระบบนิเวศเชิงนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

“สำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนา AI นี้ จะประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) national AI platform บนแพลตฟอร์มคลาวด์ Microsoft Azure ที่เป็นรากฐานสำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรม บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัพ และสนับสนุนงานวิจัยด้าน AI 2) innovation hub ศูนย์กลางการพัฒนาโครงการเชิงนวัตกรรม ให้ก้าวจากแนวคิดสู่ความเป็นจริง เฟ้นหาจุดตั้งต้นที่เหมาะสมในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถก้าวข้ามความท้าทายที่คนไทยยังต้องเผชิญ และให้การสนับสนุนในการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ 3) education & talent development การวางโครงสร้าง แพลตฟอร์ม เครื่องมือ และคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่จะเสริมสร้างความเข้าใจทางธุรกิจและเทคโนโลยีอย่างสอดคล้องกัน จนเกิดเป็นบุคลากรคุณภาพที่พร้อมผลักดันโครงการเชิงนวัตกรรมไปสู่จุดหมาย 4) national AI cluster ศูนย์กลางสำหรับนักคิดนักพัฒนาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ที่เปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันคิด คัดเลือก และต่อยอดนวัตกรรม AI ไปสู่ผลงานที่เป็นรูปธรรม โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมภาคการเกษตรด้วยโซลูชั่น FarmBeats ซึ่งเป็นการยกระดับศักยภาพของเกษตรกรด้วยข้อมูล”

“และ 5) incubator พื้นที่สำหรับหน่วยงาน องค์กร และนักลงทุนที่ต้องการสนับสนุนและบ่มเพาะสตาร์ตอัพหน้าใหม่ให้เติบโต สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็น และก้าวสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยถือเป็นช่องทางสำคัญในการเปิดโอกาสให้นักคิด นักพัฒนาได้เข้าถึงทรัพยากรจาก 4 องค์ประกอบข้างต้นนี้อย่างครบถ้วน”

“ธนวัฒน์” กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 2563 นี้ ไมโครซอฟท์และสถาบันเศรษฐกิจอนาคตและธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) จะร่วมกันเสริมสร้างความเข้าใจในนวัตกรรม AI ให้กับกลุ่มผู้นำและผู้บริหารระดับสูงทั่วไทย ผ่านทางโครงการ e-Training ในหลักสูตร AI Business School ซึ่งไมโครซอฟท์ได้พัฒนาขึ้น เพื่อสร้างพื้นฐานให้ผู้นำยุคใหม่สามารถกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กรในโลกยุค AI พร้อมก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างมั่นใจ

“หลักสูตร AI Business School สำหรับผู้บริหารไทยนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Future Economy and Internet Governance-Executive Program (FEGO) โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1) AI strategy การวางโครงสร้างทางความคิด เพื่อกำหนดบทบาทของ AI ในกลยุทธ์ขององค์กรอย่างรอบคอบและตรงเป้า

2) AI culture การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เปิดรับ AI อย่างทั่วถึงในทุกด้าน ทุกแผนก โดยรวมถึงหน่วยงานที่โดยทั่วไปอาจห่างไกลจากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเงิน การตลาด ฝ่ายขาย หรือฝ่ายบริการลูกค้า”

“3) responsible AI-การวิเคราะห์ผลกระทบที่แท้จริงของ AI ที่มีต่อธุรกิจในแง่การบริหารงาน ความโปร่งใส การจัดการทรัพยากรบุคคล และจริยธรรม และ 4) technology of AI การทำความรู้จักกับนวัตกรรม AI ล่าสุดที่องค์กรสามารถนำมาใช้งานได้”

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ได้ออกแบบเนื้อหาในหลักสูตร AI Business School ให้ตรงกับความต้องการที่แตกต่างกันไปของแต่ละธุรกิจและองค์กร โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 จะมีการจัดอบรมสำหรับกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงิน สาธารณสุขและการแพทย์ ค้าปลีก ภาคการผลิต การศึกษา และหน่วยงานของภาครัฐอีกด้วย

ถึงตรงนี้ “ธนวัฒน์” บอกว่า การที่ไทยเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไมโครซอฟท์เข้ามาให้คำปรึกษาในด้านจริยธรรม AI นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการที่จะสร้างสรรค์สังคมที่ดีกว่าด้วยเทคโนโลยี โดยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความล้ำสมัยของนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว

“แต่เรายังคำนึงถึงโอกาสในการเติบโตและประสบความสำเร็จที่คนไทยทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับความสามารถควรจะมีสิทธิ์ได้รับจากเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน และมุ่งหวังให้ AI เป็นฟันเฟืองที่นำพาความก้าวหน้ามาสู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป”