“ไทยพัฒน์” สู้โควิด-19 มอบเอกสาร 6 กลุ่มเสี่ยงรับมือไวรัสร้าย

ดั่งที่ทราบว่าขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลุกลามไปทั่วโลก ทั้งยังมีรายงานการพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ จนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อ, จำนวนผู้ป่วย และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายทวีป ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้นับเป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่ง ว่า การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 คงจะแพร่ระบาดไปอีกสักระยะหนึ่ง

ทั้ง ๆ ที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามหามาตรการในการป้องกันขั้นสูง เพื่อให้เชื้อไวรัสโควิด-19 หยุดแพร่กระจาย และหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลกนั้น ภาครัฐของประเทศไทยเองก็พยายามบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการคัดกรอง เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ด้วยการขอความร่วมมือจากประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่น เพื่อช่วยลดผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและสังคม

แต่กระนั้น ก็ดูเหมือนว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ยังแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดองค์การอนามัยโลกประกาศให้การระบาดของโรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Con-cern-PHEIC) จึงทำให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีมาตรการในการรับมือกับการแพร่ระบาด

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำเอกสารแนวทางรับมือของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ “Business Response Guidance on COVID-19” เผยแพร่ให้องค์กรธุรกิจนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการเชิงรุก เพื่อดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น และรักษาไว้ซึ่งคุณค่าขององค์กรในระยะยาว

เบื้องต้น “ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และร่วมขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการกับภาคธุรกิจเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง บอกว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้มีความรุนแรง และยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลงในระยะเวลาอันใกล้

“ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์

“องค์กรในภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีแผนเผชิญเหตุไว้ดูแลกิจการของตนให้ผ่านพ้นสถานการณ์ และดูแลผลกระทบให้อยู่ในวงจำกัด เราจึงได้จัดทำแนวทางรับมือของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับเป็นแนวทางให้องค์กรได้นำไปใช้ดูแลกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญของกิจการในช่วงสถานการณ์ ด้วยการจัดทำเอกสารเพื่อรับมือของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Business Response Guidance on COVID-19)”

“โดยรายละเอียดของเอกสารฉบับนี้ประกอบด้วย 6 แนวทางการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องหลัก 6 กลุ่ม ได้แก่ พนักงาน, ลูกค้า, คู่ค้า, หน่วยงานภาครัฐ, ชุมชน และผู้ถือหุ้น ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ได้อย่างรอบด้าน และใช้สื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“นอกจากนั้น ในเอกสารยังมี checklist และสิ่งที่ควรดำเนินการต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวน 15 รายการ ที่จะช่วยให้องค์กรนำไปปฏิบัติใช้อย่างสะดวก เพื่อช่วยให้การสื่อสารระหว่างทีมงานที่เกี่ยวข้องมีความชัดเจน เข้าใจง่าย และยังสามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดความก้าวหน้าของการดำเนินงานที่ให้ผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวัง”

สำหรับเอกสาร Business Response Guidance on COVID-19 ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 6 กลุ่มมีรายละเอียด ดังนี้

หนึ่ง protecting employees – การคุ้มครองพนักงานให้ปลอดภัย และมีแนวทางปฏิบัติตนที่ถูกต้องในช่วงสถานการณ์ โดยองค์กรควรหมั่นติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดที่เป็นปัจจุบันอย่างใกล้ชิด มีการสำรวจและซักซ้อมกับคณะผู้บริหารเพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรมีการตระเตรียมความพร้อม และมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิผล มีการศึกษาแนวทาง คำแนะนำ และข้อปฏิบัติที่เผยแพร่โดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เป็นทางการ หรือที่สากลยอมรับ

checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการต่อพนักงาน โดยเฉพาะกับสถานที่ประกอบการ, สถานที่ทำงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, จัดให้มีช่องทางการติดต่อสื่อสารสองทางกับพนักงาน และมาตรการรองรับที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการในสถานประกอบการ สถานที่ทำงาน และจัดให้มีการตรวจคัดกรองพนักงาน ผู้มาติดต่อ พิจารณาจัดตั้งทีมเผชิญเหตุในกรณีฉุกเฉิน (สำหรับองค์กรที่มีพนักงานทำงานหนาแน่น หรือมีการเดินทางไปต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเสี่ยง)

สอง adapting customers” changing patterns – การปรับตัวรับกับรูปแบบ หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าในช่วงสถานการณ์ โดยองค์กรควรปรับช่องทางการเข้าถึงลูกค้า การขาย การบริการ และการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ การให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการ การให้บริการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การให้บริการจัดส่งสินค้าแบบหน้าประตูถึงหน้าประตู (door-to-door delivery) การทำธุรกรรมระยะไกลกับลูกค้า หรือ ณ สถานที่ที่ลูกค้าสะดวก รวมทั้งการนำข้อแนะนำของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำแนะนำของหน่วยงานผู้กำกับดูแลในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือหมวดธุรกิจที่ตนสังกัดมาศึกษาและดำเนินการ เพื่อสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นต่อลูกค้าในช่วงสถานการณ์

checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการต่อลูกค้า โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ (โรงแรม, ร้านอาหาร, บริษัทนำเที่ยว, นวดหรือสปา) คำแนะนำ การป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับการจัดการประชุม สัมมนา หรือกิจกรรมอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งคำแนะนำของหน่วยงานผู้กำกับดูแลในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือหมวดธุรกิจที่ตนสังกัด (ถ้ามี)

สื่อสารให้ข้อมูลกับลูกค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ บริการจัดส่งสินค้าไปยังปลายทางตามที่ลูกค้าต้องการ และการทำธุรกรรมระยะไกลกับลูกค้า หรือ ณ สถานที่ที่ลูกค้าสะดวก

สาม ensuring suppliers” resilience – การสร้างหลักประกัน หรือขีดความสามารถของคู่ค้าในการปรับตัวและฟื้นตัวจากสถานการณ์ โดยทุกองค์กรควรดำเนินการประเมินห่วงโซ่อุปทานว่า กิจการของตนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หรือไม่ ยิ่งเฉพาะผู้ส่งมอบหลักที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบป้อนสายการผลิตหลัก การหยุดชะงักหรือเกิดความล่าช้าในการส่งมอบของผู้ส่งมอบตรง (direct) และผู้ส่งมอบช่วง (subtiers) ทางเลือกในการสรรหาวัตถุดิบทดแทน การทบทวนแผนการบริหารสินค้าคงคลังให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ การปรับปรุงข้อตกลง หรือทุเลาบางข้อสัญญากับผู้ส่งมอบ การชำระเงินคงค้างหรือเงินล่วงหน้าที่ช่วยให้ธุรกิจของผู้ส่งมอบฟื้นตัวในระยะสั้น

สำหรับมาตรการระยะยาว องค์กรควรดำเนินการประเมินอุปสงค์ใหม่เพื่อใช้วางแผนการบริหารจัดการอุปทานหลังสถานการณ์สิ้นสุด เนื่องจากสภาพตลาดและรูปแบบหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าในช่วงสถานการณ์ อาจไม่ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติดั้งเดิมเหมือนก่อนช่วงสถานการณ์

checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการต่อคู่ค้าด้วยการประเมินผลกระทบในห่วงโซ่อุปทาน ยิ่งเฉพาะผู้ส่งมอบหลักที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบป้อนสายการผลิตหลัก พร้อมจัดทำแนวทาง และมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น (ถ้ามี), ปรับปรุงข้อตกลงหรือทุเลาบางข้อสัญญากับผู้ส่งมอบ รวมทั้งการพิจารณาชำระเงินคงค้าง หรือเงินล่วงหน้าที่ช่วยให้ธุรกิจของผู้ส่งมอบฟื้นตัวในระยะสั้น, ดำเนินการประเมินอุปสงค์ใหม่หลังสถานการณ์สิ้นสุด เพื่อใช้วางแผนการบริหารจัดการอุปทานบนข้อสันนิษฐานสภาพตลาดและรูปแบบหรือพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

สี่ complying with government directives – การปฏิบัติตามคำสั่ง หรือข้อชี้แนะของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในช่วงสถานการณ์ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตราย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 องค์กรควรศึกษาและทำความเข้าใจในพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ. 2558 และอนุบัญญัติที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว

ซึ่งให้อำนาจหน้าที่แก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่จะดําเนินการเองหรือออกคําสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดําเนินการ รวมถึงประกาศและคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค ตลอดจนคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการและสถานที่ทำงาน พร้อมทั้งติดตามรายงานสถานการณ์รายวัน รวมทั้งคำถามที่พบบ่อย(FAQs) อย่างสม่ำเสมอ

checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการต่อหน่วยงานภาครัฐ ศึกษาและปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค ในส่วนที่องค์กรมีความเกี่ยวข้อง

จะต้องติดตามรายงานสถานการณ์รายวัน รวมทั้งคำถามที่พบบ่อย (FAQs) โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

ห้า supporting the communities in which it works – การช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนที่ซึ่งธุรกิจมีแหล่งดำเนินงาน หรือดำเนินงานอยู่ในช่วงสถานการณ์ ทั้งนั้น เพราะองค์กรถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหนึ่งในชุมชน และมีผลประโยชน์ร่วมกับชุมชน การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนเป็นเรื่องที่ถูกผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการมีส่วนร่วมขององค์กรมิได้หมายถึงเพียงการบริจาคเงิน วัตถุ สิ่งของ หรือการอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม แต่รวมไปถึงศักยภาพในการนำ core business ของตนมาใช้ในการช่วยเหลือชุมชน

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์ อาทิ การแปลงกระบวนการผลิตหรือปรับแต่งสายการผลิตเดิมของธุรกิจในสาขาเภสัชกรรมและการดูแลสุขภาพ เพื่อส่งมอบเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและขาดแคลนในช่วงสถานการณ์ (หน้ากากอนามัย, เจลล้างมือ ฯลฯ) การปรับทิศทางการวิจัยและพัฒนาของธุรกิจในสาขาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ในการคิดค้นวิธีตรวจพบเชื้อในระยะฟักตัวหรือไม่แสดงอาการ เพื่อลดภาระและระยะเวลาในการกักกันกลุ่มเสี่ยง การเสนอให้ใช้ระบบโลจิสติกส์ที่องค์กรมีอยู่ ในการเข้าถึงหรือกระจายสินค้าที่จำเป็นและขาดแคลน เป็นต้น

โดยสิ่งที่องค์กรจะได้รับ คือ อานิสงส์ผลได้ที่จะย้อนกลับมาสู่ธุรกิจ แม้องค์กรจะคาดหวังไว้หรือไม่ก็ตาม

checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการต่อชุมชน จะต้องพิจารณาโอกาสและความเป็นไปได้ในการนำ core business ขององค์กรมาใช้ในการช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์ นอกเหนือจากกิจกรรมการบริจาคหรือการอาสาสมัคร ทั้งยังใช้ประโยชน์จากระบบโลจิสติกส์ที่องค์กรมีอยู่ในการเข้าถึง หรือกระจายสินค้าที่จำเป็นและขาดแคลนให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์

หก sustaining long-term value to shareholders – การรักษาไว้ซึ่งคุณค่าในระยะยาวแก่ผู้ถือหุ้นหลังผ่านพ้นช่วงสถานการณ์ สำหรับผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การขาดรายได้ ในขณะที่ต้นทุนคงที่ยังอยู่คงเดิม กระแสเงินสดที่มีแนวโน้มติดลบ สินค้าคงค้างที่ไม่สามารถทำการส่งมอบ การผิดนัดรับชำระเงิน และอื่น ๆ

องค์กรจำต้องมีการทบทวนแผนการใช้จ่ายเงิน การรักษาสภาพคล่องทางการเงินในช่วงสถานการณ์ การเจรจากับเจ้าหนี้และสถาบันการเงิน การผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อและดอกเบี้ยจ่าย การพักชำระหนี้ การพิจารณาตัดหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การตัดขายหน่วยธุรกิจ การถอนการลงทุน การควบรวมกิจการ

ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณค่าในระยะยาวแก่ผู้ถือหุ้นหลังผ่านพ้นช่วงสถานการณ์ รวมถึงการดำเนินการทดสอบภาวะวิกฤต (stress testing) เพื่อตรวจยืนยันความเข้มแข็งทางการเงิน และพิจารณาจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ (contingency plan) ให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินต่อและเติบโตต่อไปได้หลังสถานการณ์คืนเข้าสู่ภาวะปกติ ตลอดจนมีการรายงานให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบถึงแนวทางการจัดการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

checklist – สิ่งที่ควรดำเนินการต่อผู้ถือหุ้น คือ จะต้องทบทวนแผนการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะการรักษาสภาพคล่องทางการเงินในช่วงสถานการณ์ที่มีความผันแปรสูง รวมทั้งมาตรการทางการเงินต่าง ๆ ที่จำเป็นในระยะสั้น พร้อมกับดำเนินการทดสอบภาวะวิกฤต (stress testing) เพื่อตรวจยืนยันความเข้มแข็งทางการเงิน และพิจารณาจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ (contingency plan) ให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว

ที่สำคัญจะต้องมีการรายงานให้ผู้ถือหุ้นรับทราบถึงแนวทางการจัดการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อจะได้หาทางเตรียมการป้องกันในทุกมิติอย่างยั่งยืน