เปิดคุณสมบัติ นักศึกษาร่วมโครงการ “เด็กจบใหม่ไม่ว่างงาน”

เด็กจบใหม่-นักศึกษา
Photo : freepik (ภาพประกอบข่าวเท่านั้น)

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบกับบริษัทโดยตรง ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งถึงกับต้องพักงานพนักงานชั่วคราว ไปจนถึงปลดพนักงานเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ อาจเสียเปรียบกว่าบุคคลกลุ่มอื่นที่ตกงาน

ล่าสุด ภาครัฐและภาคเอกชน ได้จัดโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สำหรับผู้ที่จบการศึกษาใหม่ โดยมุ่งช่วยเหลือไปที่คนสองกลุ่ม ได้แก่ นักศึกษาจบใหม่ ที่ยังไม่มีงานทำ และนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพื่อทำให้มีรายได้และจ่ายกลับไปเป็นภาษีให้กับรัฐ รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของคนไทยทั้งประเทศ

รายละเอียด ฐานเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาที่แตกต่างกัน ดังนี้

วุฒิ ม.6 ปวช. ปวส. ปริญญาตรี 
ฐานเงินเดือน (บาท) 8,690 9,400 11,500 15,000
รัฐอุดหนุน 50% 4,345 4,700 5,750 7,500
เอกชน 50% 4,345 4,700 5,750 7,500

 

คุณสมบัติของนักศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการได้มีดังนี้

  1. สัญชาติไทย และไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคม ยกเว้นเคยทำงานพาร์ทไทม์ระหว่างการศึกษา
  2. สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ
    มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6)
  3. มีอายุไม่เกิน 25 ปี หรืออายุเกินกว่า 25 ปี ซึ่งจบการศึกษาประจำปีการศึกษา พ.ศ. 2562 หรือจบในปี พ.ศ. 2563

เงื่อนไข

1. ผู้จบการศึกษาใหม่/ลูกจ้างจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบที่กรมการจัดหางานได้จัดเตรียมไว้ให้

2. ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ยอมรับค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา ดังนี้
2.1 ปริญญาตรีไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท
2.2 ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 11,500 บาท
2.3 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 9,400 บาท (ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ของจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง)
2.4 มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 8,690 บาท (ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง)

3. ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเปิดบัญชีธนาคารกรุงไทย ประเภทออมทรัพย์ ในนาม “ชื่อลูกจ้างเข้าร่วมโครงการฯ” เพื่อรับโอนค่าจ้างจากนายจ้างและรับเงินสนับสนุนจากกรมการจัดหางาน

4. นายจ้างจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1 ครั้ง (ภายในสิ้นเดือน) ให้แก่ลูกจ้างผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย และกรมการจัดหางานจะโอนเงินอุดหนุนค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทยให้ลูกจ้างตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือนต่อคน (เจ็ดพันห้าร้อยบาทถ้วน) ภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป โดยกรมการจัดหางานจะโอนให้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามข้อ (2.1) ปริญญาตรี จำนวน 7,500 บาท (2.2) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 5,750 บาท (2.3) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 4,700 บาท และ (2.4) มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) จำนวน 4,345 บาท ตามที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล ส่วนที่เกินนายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบ (รายละเอียดตามเอกสาร 1)

ทั้งนี้ กรมการจัดหางานจะจ่ายเงินอุดหนุนค่าจ้างให้ลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการนับตั้งแต่วันที่ได้อนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ ฯกรณีที่ได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ หลังวันที่24 ของเดือนเป็นต้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน ค่าจ้างจากกรมการจัดหางานในเดือนถัดไป

5. ผู้เข้าร่วมโครงการมีสิทธิหน้าที่ของลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และจะต้องยินยอมให้นายจ้างหักเงินสมทบจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามสัญญาจ้างตามอัตราเงินสมทบที่กำหนด เพื่อนำส่งเงินสมทบให้แก่สำนักงานประกันสังคม (รายละเอียดตามเอกสาร 2)

6. กรณีพบว่ามีการร่วมกันหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ จะถูกยกเลิกเข้าร่วมโครงการและต้องชดใช้ ค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลอุดหนุนให้ทั้งหมดคืน รวมทั้งถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไปด้วย

คุณสมบัติของนายจ้างที่จะเข้าร่วมโครงการได้

นายจ้างจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม โดยมีเงื่อนไขดังนี้

1. นายจ้างต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบที่กรมการจัดหางานได้จัดเตรียมไว้ให้

2. ห้ามเลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกินกว่าร้อยละ 15 ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ

3. มีความพร้อมในการจ้างงานผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ โดยจ่ายค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา ดังนี้
3.1 ปริญญาตรีไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท
3.2 ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 11,500 บาท
3.3 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 9,400 บาท (ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของ จังหวัดตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง)
3.4 มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 8,690 บาท (ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง)

4. นายจ้างจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1 ครั้ง (ภายในสิ้นเดือน) ให้แก่ลูกจ้างผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย และกรมการจัดหางาน จะโอนเงินสนับสนุนค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทยให้ลูกจ้างตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือนต่อคน (เจ็ดพันห้าร้อยบาทถ้วน) ภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

4.1 กรมการจัดหางานจะโอนให้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างในข้อ (3.1) ปริญญาตรี จำนวน 7,500 บาท (3.2) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 5,750 บาท (3.3) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 4,700 บาท และ (3.4) มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) จำนวน 4,345 บาท ตามที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล ส่วนที่เกินนายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบ (รายละเอียดตามเอกสาร 1)

ทั้งนี้ กรมการจัดหางานจะจ่ายเงินอุดหนุนค่าจ้างให้ลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการนับตั้งแต่วันที่ได้อนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ ฯ กรณีที่ได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการ ฯ หลังวันที่ 24 ของเดือนเป็นต้นไป จะได้รับเงินอุดหนุนค่าจ้างจากกรมการจัดหางานในเดือนถัดไป

4.2 กรณีนายจ้างจ่ายค่าจ้างเงินเดือนจากบัญชีธนาคารกรุงไทยให้แก่ลูกจ้าง ให้ระบุข้อมูลเป็นการจ่ายเงินเดือน ผ่านระบบ Bulk Payment โดยระบุข้อมูลเป็นการจ่ายเงินเดือน (Service Type – 02)

4.3 กรณีนายจ้างจ่ายค่าจ้างเงินเดือนจากบัญชีอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารกรุงไทยให้แก่ลูกจ้าง ให้ระบุข้อมูลเป็น
การจ่ายเงินเดือนผ่านระบบ Bulk Payment โดยระบุข้อมูลเป็นการจ่ายเงินเดือน (Service Type – 01)

4.4 นายจ้างมีหน้าที่หักเงินสมทบจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามสัญญาจ้างตามอัตราเงินสมทบที่กำหนด และจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเท่ากับจำนวนที่หักจากลูกจ้าง รวมนำส่งสำนักงานประกันสังคมตามแบบสปส. 1-10 (ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (รายละเอียดตามเอกสาร 2)

5. นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการไม่เกินวันสิ้นเดือนของทุกเดือน หากจ่ายค่าจ้างในเดือนใด หลังจากสิ้นวันสิ้นเดือนแล้ว กรมการจัดหางานจะไม่จ่ายเงินอุดหนุนค่าจ้างร้อยละ 50 ให้ลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการ โดยให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างต้องเป็นผู้จ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนให้แก่ลูกจ้างในเดือนนั้น ๆ

6. นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการตามสิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมายแรงงานทุกประการ เช่น การส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน จัดสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งจัดให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน จ่ายค่าชดเชย และเงินอื่นตามที่กฎหมายกำหนดเมื่อมีการเลิกจ้าง เป็นต้น (รายละเอียดตามเอกสาร 3)

7. กรณีครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างงาน หรือสิ้นสุดโครงการแล้ว หากนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานกันต่อไปให้นายจ้างรับผิดชอบค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทั้งหมด

8. กรณีมีการเลิกจ้าง/ลูกจ้างลาออก ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2564 ให้นายจ้างแจ้งกรมการจัดหางานทราบภายใน

7 วัน นับตั้งแต่มีการเลิกจ้าง/ลูกจ้างลาออก และให้หาลูกจ้างใหม่ทดแทนภายใน 30 วัน หากเกิน 30 วันจะยก
สิทธิให้นายจ้างรายอื่น

9. นายจ้างต้องนับรวมลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการเป็นลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ โดยบังคับใช้กับนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป กำหนดให้ต้องฝึกอบรมหรือส่งลูกจ้างเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของลูกจ้างทั้งหมด กรณีที่ไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ครบตามสัดส่วนที่กำหนดต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน

10. ถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะถูกยกเลิกเข้าร่วมโครงการ และต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการทุกรายเต็มจำนวน นับตั้งแต่เดือนที่ผิดเงื่อนไข

11. กรณีพบว่ามีการร่วมกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ จะถูกยกเลิกเข้าร่วมโครงการและต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลอุดหนุนให้ทั้งหมดคืน รวมทั้งถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ทั้งนักศึกษาจบใหม่ และนายจ้างที่จะเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนได้ที่ www.จ้างงานเด็กจบใหม่.com