เอกชนดิ้น “จ้างรายชั่วโมง” รมว.แรงงานอุ้มลูกจ้าง-สั่งพับแผน

FILE./ APF

รมว.แรงงาน “สุชาติ ชมกลิ่น” สั่งพับข้อเสนอภาคธุรกิจให้จ้างพนักงานรายชั่วโมงสู้โควิด-19 อ้างรับฟังความคิดเห็นเกินครึ่งไม่เห็นด้วย เกรงลูกจ้างถูกเอาเปรียบ บีบเลิกจ้างประจำเปลี่ยนเป็นรายชั่วโมงแทน แถมต้องแก้กฎหมายหลายฉบับ ฝ่ายนายจ้าง สภาอุตสาหกรรม-หอการค้า-สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังดันต่อ ลั่นถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้จำเป็นต้องปลด วอนรัฐพบกันครึ่งทาง

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้างในการประกอบธุรกิจ การดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปสู่ “ความปกติใหม่ (new normal)” ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและลดค่าใช้จ่าย โดยหนึ่งในวิธีการก็คือ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง ที่นายจ้างเสนอผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

โดยประเด็นนี้ได้ถูกนำไปพิจารณาใน “คณะกรรมการค่าจ้าง” มีมติให้ความเห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงได้ แต่ยังมีข้อโต้แย้งซึ่งเป็นประเด็นทางกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบกับฝ่ายลูกจ้างเองก็กังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสภาพการจ้างงานจนนำไปสู่การเลิกจ้างงานทางอ้อมได้

รมว.แรงงาน สั่งยกเลิกจ้างงานรายชั่วโมง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการพิจารณาข้อเสนอจากผู้ประกอบการที่ต้องการให้สามารถจ้างพนักงาน part-time แบบยืดหยุ่นรายชั่วโมงว่า ได้ “ยกเลิก” การพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว ภายหลังจากที่มีการเปิดประชาพิจารณ์ในพื้นที่เป้าหมายโดยมีตัวแทนทั้งจากนายจ้าง-ลูกจ้างและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมีความเห็น “ไม่เห็นด้วย” กับข้อเสนอมากกว่า 50% พร้อมกับมีการตั้งข้อสังเกตด้วยถึงมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิด

1) การทำลายตลาดแรงงานในรูปแบบรายเดือนและรูปแบบจ้างงานอื่น ๆ หรือไม่ 2) การจ้างงานด้วยอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงจะเพิ่ม “ความเสี่ยง” ให้กับลูกจ้างทั้งในแง่ของรายได้ที่อาจจะลดลงเพราะมีการลดชั่วโมงทำงานและอาจนำไปสู่การถูกเลิกจ้างงานได้ง่ายขึ้นโดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องรับภาระด้านเงินชดเชย 3) สิทธิประโยชน์ในฐานะลูกจ้างไม่ได้รับเท่าเทียมกับลูกจ้างประจำ และ 4) หากพิจารณาการจ้างงานแบบรายชั่วโมง จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องและต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้ว ข้อเสนอของผู้ประกอบการถือว่า “ยังไม่มีความจำเป็นมากนัก”

แต่ในทางปฏิบัติ หากนายจ้าง-ลูกจ้างสามารถตกลงกันได้และยินยอมให้นายจ้างจ้างงานแบบจ่ายค่าจ้างรายชั่วโมงก็สามารถทำได้ แต่ในส่วนของกระทรวงแรงงานยืนยันว่า จะไม่มีการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว ประกอบกับก่อนหน้านี้ได้นำเรียนหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเรียบร้อยแล้วถึงข้อดีและข้อเสียจากการจ้างพนักงานแบบรายชั่วโมงด้วยว่า จะมีหลายส่วนได้รับผลกระทบ

“การจ้างงานรายชั่วโมงจะไม่เกิดขึ้นในสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแน่นอน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย เมื่อชั่งน้ำหนักข้อดี-ข้อเสียแล้วและยังมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ความเห็นแล้วว่าไม่ควรทำ”

กรรมการค่าจ้างดันสุดตัว

ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงตามข้อเสนอของผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเห็นว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การทำงานและการจ้างงานเปลี่ยนไปตามความปกติใหม่ (new normal) ดังนั้น

ควรที่จะมีความ “ยืดหยุ่น” ในการจ้างงานให้กับผู้ประกอบการสามารถจ้างพนักงาน part-time แรงงานทั่วไปแบบยืดหยุ่นเป็นรายชั่วโมงได้ แต่ข้อกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจาก “นายจ้าง” ต้องจ่ายค่าจ้างตามแรงงานขั้นต่ำเต็มวัน

โดยข้อเสนอเรื่องการจ้างงานรายชั่วโมงได้ถูกนำมาพิจารณาในคณะกรรมการค่าจ้างตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา แม้ผลการพิจารณาที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง จะมีมติให้ความเห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงด้วยการประกาศให้เป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศเพื่อรองรับ new normal ไปแล้วก็ตาม (รายละเอียดตามตารางประกอบ) ในทางปฏิบัติจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงแต่อย่างใด

ล่าสุด นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาให้สามารถจ้างพนักงานแบบ part-time อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงว่า เรื่องได้ค้างอยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้าง มีหน้าที่ในการให้ความเห็นต่าง ๆ หลังจากนั้นจะต้องนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หาก รมว.ให้ความเห็นชอบก็จะนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป “ตามความเห็นในเบื้องต้น

ขณะนี้ภาวะของประเทศยังไม่เอื้อให้สามารถจ้างงานแบบ part-time ได้ อีกทั้งประเทศก็กำลังอยู่ในระหว่างฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 อยู่แล้วด้วย” นายอภิญญากล่าว

เอกชนขู่จ้างรายชั่วโมงไม่ได้ อาจเลิกจ้างงาน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ความสามารถการจ่ายเงินเดือนของผู้ประกอบการลดลงจากปีที่ผ่านมาในหลายธุรกิจประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่อง เช่น การท่องเที่ยวและการโรงแรม ทางหอการค้าฯ

จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อ “ปลดล็อก” ให้สามารถจ้างแรงงานรายชั่วโมงเป็นการทั่วไปได้ โดยขอให้กำหนดชั่วโมงการจ้าง 4-8 ชั่วโมงต่อวัน จากเดิมที่ไม่กำหนดช่วงเวลาการจ้าง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดให้สามารถประคองธุรกิจต่อได้โดยไม่ต้องเลิกจ้างแรงงาน

เบื้องต้นการกำหนดอัตราค่าจ้างได้เสนอให้ใช้วิธีการนำเอาค่าแรงงานขั้นต่ำแต่ละพื้นที่มาหารด้วยชั่วโมงการทำงาน เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯจะมีค่าจ้าง 325 บาทต่อคนต่อวัน หาร 8 ชั่วโมงต่อวันก็เท่ากับจ้างรายชั่วโมงอัตราชั่วโมงละ 40.6 บาท ข้อดีคือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดประสบปัญหาสภาพคล่องก็ได้ลดภาระค่าใช้จ่ายค่าแรงงาน ค่าประกันสังคมโดยไม่ต้องเลิกจ้าง ส่วนแรงงานก็จะดีเพราะ “ไม่ถูกเลิกจ้าง” และสอดรับกับวิถีการทำงานยุคใหม่ด้วย

แต่เมื่อรัฐบาลยังไม่พิจารณาข้อเสนอของผู้ประกอบการก็อาจจะทำให้อุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ เพราะการส่งออกไปไม่ได้ยอดขายไม่ดี ดังนั้นต้องพิจารณาเลิกจ้างไปตามสถานการณ์ของแต่ละธุรกิจ “ภายหลังข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการพิจารณา ทางหอการค้าจะได้ผลักดันผ่านช่องทางกรรมาธิการการแรงงาน (กมธ.) วุฒิสภาต่อไป”

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องขอให้รัฐบาลปลดล็อกให้จ้างงานรายชั่วโมง อัตราชั่วโมงละ 40-41 บาท ระยะเวลา 4-8 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 1 ใน 10 ข้อเสนอด้านแรงงานที่ทาง ส.อ.ท.จัดทำขึ้น แม้จะยังไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ เนื่องจากทางกลุ่มแรงงานไม่เห็นด้วย แต่ทาง ส.อ.ท.ยังเดินหน้าผลักดันข้อเสนอนี้อย่างต่อเนื่อง ทางผู้ประกอบการที่ขายสินค้าไม่ได้ก็จะได้รับผลกระทบ

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการนายจ้างเข้ามาว่า ถ้ารัฐบาลคิดว่าการดำเนินการแบบนี้จะกระทบต่อผู้ใช้แรงงานก็อยากให้รัฐบาลมองว่า การจ้างงานรายชั่วโมงเป็นการช่วยกันคนละครึ่งทาง หากผู้ประกอบการอยู่ได้ก็ไม่มีการเลิกจ้าง โดยอาจจะพิจารณาเฉพาะอุตสาหกรรมที่เดือดร้อนก่อน เช่น ท่องเที่ยว อาหารบางกลุ่มที่กระทบ

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการวงการค้าปลีกกล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการหารือกับไตรภาคีในเรื่องของการคิดอัตราค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงมาเป็นระยะ ๆ โดยขณะนี้กำลังรอความคืบหน้าอยู่และหากมีข้อสรุปออกมาชัดเจนคาดว่าอาจจะมีการใช้นำร่องไปก่อนกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และโรงแรม แต่ท้ายที่สุดแล้วการจะบังคับใช้เรื่องนี้ได้จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือประกาศที่เกี่ยวกับเรื่องแรงงานหลายฉบับ “สมาคมค้าปลีกไทยได้เข้าหารือเรื่องนี้กับทั้งสภาพัฒน์ แบงก์ชาติมาแล้ว และจะหาโอกาสที่จะเข้าพบเพื่อชี้แจงเรื่องนี้กับ รมว.แรงงานอีกครั้งหนึ่ง และที่ผ่านมาสมาคมเคยได้ชี้แจงเรื่องนี้กับ รมช. (นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) มาแล้ว”

ทำงานครึ่งวัน-เทรนครึ่งวัน

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนของ ศบศ.กล่าวว่า ข้อเสนอการจ้างงานรายชั่วโมง ทางภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกยักษ์ใหญ่ได้ผลักดันมาโดยตลอด แต่ทางภาครัฐและฝ่ายลูกจ้างเกรงว่า หากมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อรับรองการจ้างงานรายชั่วโมงจะเป็นช่องทางให้ลูกจ้างถูกเอาเปรียบ เพราะแทนที่จะเป็นการเปิดรับพนักงานใหม่แบบรายชั่วโมงในช่วงวิกฤตก็จะกลายเป็นการ “เปิดช่อง” ให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนสถานะของพนักงานประจำแบบรายวันมาเป็นพนักงานประจำแบบรายชั่วโมง ซึ่งจะทำให้มีการปรับลดค่าใช้จ่ายและสวัสดิการต่าง ๆลง

ขณะเดียวกันทางคณะอนุ ศบศ.ก็อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ “ทำงานครึ่งวัน-เทรนครึ่งวัน” โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Co-pay เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน โดยภาคธุรกิจจะรับภาระจ่ายค่าจ้างเพียงครึ่งวันที่ทำงาน ส่วนอีกครึ่งวันให้พนักงานเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรเพื่อเสริมทักษะด้านต่าง ๆ โดยที่ภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนในลักษณะจ้างอบรม (หน้า 1, 9)