ก้าวต่อไป “เงินติดล้อ” พัฒนาทักษะพนักงานรับธุรกิจเปลี่ยน

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล
ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)

นอกจาก “เงินติดล้อ” จะมีจุดแข็งจาก 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ และธุรกิจนายหน้าขายประกันผ่านช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย ควบคู่กับการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์มาปรับใช้ เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกจุดแข็งหนึ่งที่ “ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) บอกว่า ให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าการบริหารธุรกิจคือ การ “สร้างวัฒนธรรม และบรรยากาศที่ดีในองค์กร” ทั้งนั้นเพื่อให้พนักงานมีศักยภาพในการทำงาน เพราะเงินติดล้อมีสาขามากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ มีพนักงานกว่า 6,000 คน จึงจำเป็นต้องสร้างฐานรากให้แข็งแรงเพื่อเป็นที่ปรึกษา และดูแลลูกค้าต่อไปได้

“ปิยะศักดิ์” กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าของเงินติดล้อ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก มิหนำซ้ำยังมีรายได้เหวี่ยงตลอดเวลา ซึ่งหมายถึงรายได้ไม่สม่ำเสมอ ขึ้นลงตามสถานการณ์บ้านเมือง หรือสภาพอากาศฝนตกแดดออก ผมจึงมองว่าไม่ว่าจะคนมีเงินมาก ทำงานออฟฟิศ หรือมีอาชีพอิสระ ทุกคนล้วนเกิดอุบัติเหตุจากสิ่งไม่คาดคิดได้เสมอ และต้องใช้เงินแก้ปัญหา

“ฉะนั้น พอเกิดเหตุแล้ว ถ้าไม่มีเงินออม เพราะบางทีเขาต้องการเงินมาหมุนเร็ว ตรงนี้คือที่มาว่าทำไมเราถึงต้องดีไซน์ หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ให้รวดเร็ว และทันใจลูกค้า จึงทำให้คนภายนอกมองเงินติดล้อในแง่ลบ ส่วนหนึ่งอาจมาจากภาพในโฆษณาที่มักสะท้อนเรื่องการเป็นหนี้ของคน

แต่อยากให้มองอีกมุมหนึ่งคือ เราพยายามให้คนไทย โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำออกห่างจากหนี้นอกระบบที่ไม่มีความโปร่งใสมากขึ้น เพราะเป้าหมายเราวางไว้ชัดเจนคือ อยากให้คนไทยได้เข้าถึงแหล่งเงินที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม เป็นระเบียบมากขึ้น”

ตรงนี้เราพยายามสื่อสารให้พนักงานเข้าใจมาตลอด เพื่อให้เขาสามารถถ่ายทอดสู่ลูกค้าได้ นอกจากการสื่อสารตัวตนขององค์กรแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับค่านิยมองค์กรด้วย โดยเฉพาะค่านิยมที่เราคิดว่าน่าจะเป็นสูตรสำเร็จของการเป็น “ชาวเงินติดล้อ” ได้แก่

หนึ่ง ต้องอยากช่วยคน

สอง กล้าลองผิดลองถูก ถ้าผิดไม่เป็นไร ผิดแล้วก็ปรับใหม่ได้ แต่ถ้าถูกเป็นเรื่องดี ให้ทำต่อ ลงทุนเพิ่ม

สาม ต้องมีทีมเวิร์ก และรับฟีดแบ็กได้การให้ฟีดแบ็กคนอื่นเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของเรา ไม่ว่าเราจะคิดว่าเราดีอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนข้างนอกมองเราอย่างไรมากกว่า ที่สำคัญ ต้องรับฟีดแบ็กได้โดยไม่อารมณ์เสีย

สี่ การเรียนรู้ เราต้องไม่หยุดนิ่ง

ห้า มีความเป็นกันเอง ตรงนี้สำคัญกับเงินติดล้อมาก เพราะลูกค้าเราคือชาวบ้าน ไม่มีประโยชน์ที่ต้องใส่สูทผูกเนกไทให้ดูดี เพราะจะไม่มีใครกล้าเข้าหา ฉะนั้น จะแต่งกายด้วยกางเกงยีนเสื้อยืดก็ได้ เพราะอยากให้บรรยากาศมีความเป็นกันเอง

หก มีจิตวิญญาณความเป็นเจ้าของ ทำอะไรต้องนึกถึงบริษัทโดยเอาตัวเองเป็นหลัก

เจ็ด work smart party hard เรื่องทำงานหนัก ถ้าหากอินกับงานจะทำงานหนักโดยธรรมชาติ แต่ต้องทำงานให้ดีขึ้น พัฒนาตนเองให้ดีขึ้นตลอดเวลา

“ผมพยายามสื่อสารค่านิยม และหล่อหลอมดีเอ็นเอเงินติดล้อแก่พนักงานทุกคนให้เขาเข้าใจระบบการทำงาน และเป้าหมายขององค์กร รวมทั้งให้โอกาสพนักงานเสมอ ผมมีคติอย่างหนึ่งคือไม่จำเป็นต้องจ้างคนหัวกะทิที่เก่งสุดในทุกด้าน แต่เราจ้างคนธรรมดาที่เชื่อว่าเก่งอยู่แล้ว เพราะผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า คนทุกคนมีศักยภาพมากกว่าที่ตนเองคิดเยอะ เพียงแต่ต้องสร้างบรรยากาศที่ทำให้เขาแสดงฝีมือออกมาให้ได้”

สำหรับเรื่องการดึงศักยภาพพนักงานออกมา “ปิยะศักดิ์” บอกว่า อย่างแรกคือเทรนนิ่ง พนักงานอยากรู้เรื่องอะไร องค์กรต้องไปหาแหล่งเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ ว่าที่ไหนดีที่สุด และลงทุนส่งเขาไปเรียน เมื่อกลับมาจะให้เวลาเขาประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อมาพรีเซนต์แล้วแชร์ประสบการณ์จากที่ไปเรียนมา เพราะวิธีการเรียนรู้ไม่ใช่แค่ไปนั่งฟัง ซึมซับอย่างเดียว คนที่เรียนจริงต้องแชร์ได้ เราลงทุนไปแล้ว คุณต้องกลับมาถ่ายทอดต่อในวงกว้าง ตรงนี้เป็นภาคบังคับ

“ขณะที่บางบริษัทเขามีการเซ็นสัญญาเลยว่า ถ้าส่งไปเรียนแล้ว กลับมาต้องทำงานกับบริษัทอย่างน้อย 2-3 ปี เพราะบริษัทลงทุนให้แล้ว นั่นเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับผมมองว่าเขาจะไปหรืออยู่ ขึ้นกับว่าเราสร้างบรรยากาศให้น่าอยู่หรือไม่

ฉะนั้น อย่างที่สอง เราจึงพยายามดึงศักยภาพพนักงานออกมาให้ได้ ด้วยการสร้างบรรยากาศ ถ้าคนในองค์กรไม่พูดคุยกันเลย จะไม่รู้ว่าใครเก่งอะไร ก่อนจะมีวิกฤตโควิด-19 ระบาด ชาวเงินติดล้อไปต่างจังหวัดบ่อยมาก ไปกันหลาย ๆ ทีม เช่น เอชอาร์ไปกับไอที และลีดเดอร์ทุกแผนกก็ไปด้วยกัน”

“พูดง่าย ๆ ถือเป็นกิจกรรมภาคบังคับที่เราแฝงไปด้วยเรื่องเทรนนิ่ง ความรู้ แชร์ประสบการณ์ และความสนุกสนาน และสุดท้าย คือการบริหารจัดการคนที่ไม่มีไฟ หรือคนที่มีดีเอ็นเอไม่เหมือนเรา เพราะเราคิดว่าการคัดเลือกคนเข้ามาไม่ยากหรอก แต่การจะคัดคนออกยากยิ่งกว่า แต่บางทีก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำบรรยากาศการทำงานเสีย

เช่น สมมุติมีทีม 20 คน แต่มี 1 คนทำให้บรรยากาศเสีย การจ้างคนคนนึงออก อาจทำให้ประสิทธิภาพคนอีก 19 คนดีขึ้นถึง 10% ถ้าเป็นแบบนั้น ผมต้องทำ แต่ไม่อาจทำได้ประจำ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ฉะนั้น ก่อนคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน เราต้องพิจารณาให้ดี และต้องขยันประเมินพนักงานตามเหตุการณ์ที่เจอ เพื่อดูว่าบรรยากาศเดินไปในทางที่ถูกหรือผิด”

“ผมมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมานั่งคุยกันทุก ๆ 4 เดือน หรือรอครบปีค่อยมาหาทางออกเรื่องต่าง ๆ ผมว่าไม่มีประโยชน์ จะดีไม่ดี ต้องบอกกันตั้งแต่ตอนที่เริ่มมองเห็นปัญหา เพื่อให้คนของเราอยู่ด้วยกันแบบยั่งยืนได้ เราอยากให้บรรยากาศการทำงานสนุกสนาน ทำงานกับคนที่เราชอบ

เพราะใน 1 วันมี 24 ชั่วโมง เราอยู่กับสถานที่ทำงานแล้ว 10 ชั่วโมง ทำไมต้องเป็นที่ที่เราต้องอดทน เราต้องเลือกอยู่กับสถานที่ที่ไม่ต้องอดทน อาจจะมีบ้างบางงานยาก ถูกบังคับ ให้เข้าอบรมในเรื่องที่ไม่ชอบ ตรงนี้มีอยู่แล้ว แต่โดยปกติไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เราไม่ควรตื่นมาแล้วไม่อยากทำงานเลย”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้เงินติดล้อสร้างทีม “Culture” ขึ้นมา เพื่อดูแลเรื่องวัฒนธรรมองค์กรโดยเฉพาะ “ปิยะศักดิ์” อธิบายในเรื่องนี้ให้ฟังว่า ทีมคัลเจอร์จะดูแลตั้งแต่เรื่องการทำกิจกรรมในองค์กรเพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย

หรือแม้แต่การแต่งกาย แต่ละวันจะมีธีมไม่ซ้ำกัน ตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยทำให้พนักงานรู้สึกสนุก เพราะพนักงานส่วนใหญ่ตามสาขา หรือสำนักงานใหญ่ อายุเฉลี่ย 20 ปลาย ๆ ถึง 30 ต้น ๆ คนเหล่านี้ถือเป็นคนรุ่นใหม่ ยกเว้นผู้บริหาร เราต้องสร้างบรรยากาศการทำงานให้ไม่เครียดเกินไป ทีมคัลเจอร์จะช่วยดูเรื่องคนในองค์กรด้วย ทั้งยังส่งเสริมให้คนพูดคุยกันมากขึ้น

“แม้แต่ในปี 2563 ผ่านมาที่เราผจญวิกฤตโควิดระบาดระลอกแรก ตอนนั้นบรรยากาศการทำงานเปลี่ยนไปมากเหมือนกัน ผมจึงพยายามสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้น ด้วยการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ แต่ยังสู้แบบเห็นหน้ากันไม่ได้ แถมยังทำให้พนักงานทำงานหนักขึ้น เพราะยอดขายเราหายไป 70-80% ตอนไตรมาส 2 แล้วช่วงที่ยอดขายหายไป สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ลูกค้าต่างมาขอพักชำระหนี้พนักงานจึงต้องวุ่นวายเพื่อดูแลลูกค้า ตอนนั้นพนักงานทำงานกับระบบตลอด 24 ชั่วโมง”

“แต่กระนั้นก็ทำให้เห็นข้อดีว่า การที่พนักงานยอมทุ่มเทกับงานเป็นเพราะเราสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรกับพนักงาน เช่น การเปิดโอกาสในเรื่องต่าง ๆ การมีผลตอบแทนพิเศษประจำปี ฯลฯ และการสร้างความเชื่อมั่นว่า ถ้าหากพนักงานทำงานหนัก สุดท้ายผลตอบแทนจะกลับมาเอง

แต่สำหรับปีนี้ยังต้องรอดูสถานการณ์โดยรวม แต่ก็มีแผนที่จะเดินไปข้างหน้าต่อเนื่อง นอกจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯอย่างที่เป็นข่าวแล้ว เรายังมองเรื่องการลงทุนในระบบไอที เพื่อทำให้คนในองค์กรมีความรู้ด้านไอทีมากขึ้น”

“เพราะสภาพการทำงานในปัจจุบันของหลายองค์กร ทำให้เราเห็นปัญหาที่หลาย ๆ แผนกมักโอนงานที่เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปรวมอยู่ที่แผนกไอทีเพียงอย่างเดียว ทั้ง ๆ แผนกนี้งานค่อนข้างเยอะ ผมจึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการไม่พึ่งพาไอทีมาก แต่ควรส่งคนจากแผนกต่าง ๆ ไปเรียนเพิ่มเติม เช่น เรียนเขียนโปรแกรมง่าย ๆ

ทุกวันนี้เงินติดล้อพัฒนาคนด้านไอทีอย่างสม่ำเสมอ และตอนนี้ทีมเซลส์เริ่มเขียนโปรแกรมเบื้องต้นได้แล้ว หรือแม้แต่ทีม operation ก็สามารถทำแชตบอตเองได้ พูดง่าย ๆ เราพยายามตั้งเป้าให้องค์กรมีสกิลดิจิทัลทั้งองค์กรเลย”

ดังนั้น การดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจึงไม่ใช่แค่ทำให้กระดาษหายไป แต่ทุกแผนกในองค์กรต้องร่วมด้วยช่วยกัน และพยายามฝึกทักษะในการสร้างสกิลตรงนี้ให้ได้

“ปิยะศักดิ์” บอกว่า ถ้าหากทุกคนทำได้ ก็จะทำให้ทุกคนเก่งขึ้น และผมว่านี่คือโจทย์ยากขององค์กรส่วนใหญ่เราต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้คนเก่งขึ้น เพราะตรงนี้จะเป็นประโยชน์แก่พนักงานเอง และนอกจากนี้ ผมยังมองถึงการขยายนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า รวมทั้งการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ

“เพียงแต่การเดินไปข้างหน้าของเรา พนักงานต้องเป็นหัวใจหลักที่องค์กรจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ เพราะพนักงานเงินติดล้อกว่า 6,000 คน ถ้าทำให้เขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีสุขภาพทางการเงินแข็งแรง ก็จะส่งผลไปสู่ครอบครัวของเขาทุกคนที่มีมากกว่าหลายหมื่นคน”

“ผมเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ”