การออกแบบหมุนเวียน

ประกอบบทความ
คอลัมน์ CSR Talk

สมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “bio-circular-green economy” หรือ “BCG economy” ซึ่งก็คือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนอย่างน้อยใน 5 มิติ ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร, ความมั่นคงทางสาธารณสุข, ความมั่นคงด้านพลังงาน, หลักประกันการมีงานทำ และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้วด้วยความมุ่งหวังว่าหากเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ได้เร็วเท่าไหร่ จะยิ่งช่วยฟื้นฟูให้ทุกอย่างกลับสู่ความปกติได้เร็วขึ้นเท่านั้น

ล่าสุดสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ริเริ่มโครงการสร้างขีดความสามารถด้านการออกแบบหมุนเวียน (circular design) เพื่อสร้างความร่วมมือของภาคเอกชนในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยใช้องค์ความรู้จาก CIRCO ด้วยการสนับสนุนของสถานทูตเนเธอร์แลนด์จัดอบรมให้กับผู้นำอบรม (trainer) ออกแบบหมุนเวียน (circular design) ตั้งเป้าผู้ประกอบการจำนวน 100 องค์กรใน 10 เส้นทางธุรกิจ (track) อาทิ อาหาร ก่อสร้าง พลาสติก ยานยนต์ สิ่งทอ ฯลฯ

ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ตลอดกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการปรับวิธีคิด ปรับการออกแบบให้เป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ (new business model) ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

“ธันยพร กริชติทายาวุธ” ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มองว่าโครงการนี้จะตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่ต้องการหาเครื่องมือที่ช่วยลดปัญหาต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ และมองหานวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สำคัญของภาคธุรกิจให้มีขีดความสามารถในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และธุรกิจด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และหวังว่าผู้ประกอบการจะได้เห็นโอกาสสำหรับธุรกิจ ก่อให้เกิดทั้งระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ก่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ยังมองต่อไปถึงเรื่องการขยายผล และต่อยอดไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือและการออกแบบของ CIRCO International Hub ที่เหมาะสมกับบริบทไทย

รวมทั้งสร้างเครือข่ายและระบบนิเวศ (ecosystem) ด้านการออกแบบหมุนเวียน (circular design) ตลอดจนถอดบทเรียนปัจจัยและช่องว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เหมาะสมกับประเทศไทยด้วย

ส่วน “ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์” ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เห็นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการพัฒนานโยบายเพื่อสร้างขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ได้ผลลัพธ์ตอบ 2 ปัจจัยเอื้อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐหมุนเวียนได้อย่างครบวงจร คือ การลงมือพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการจริง และเป็นการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือของเครือข่าย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศของเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ หลักสูตรการออกแบบหมุนเวียนของ CIRCO ถูกพัฒนามาจากกระบวนการ design thinking, business model design และ supply chain analysis ผนวกกับแนวคิด “Products that Last” ซึ่งถูกวิจัย และพัฒนา โดยมหาวิทยาลัย Technical University of Delft (TU Delft) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และถูกนำไปฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศอื่น ๆ 8 ประเทศ เช่น สิงคโปร์, บราซิล, ตุรกี, ศรีลังกา, อินโดนีเซีย

โดยเป็นเครื่องมือขยายการดำเนินงานเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้ และสร้างเครือข่าย innovation hub จากการดำเนินหลักสูตรนี้ในประเทศต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตร Circular Design จะได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งวิธีการเปลี่ยนต้นทุนทางธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เคยสูญเสียไปให้เป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้อีกครั้ง

โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน (value destruction) การหาคุณค่าด้านการหมุนเวียน (circular proposition) จนสามารถสร้างเส้นทาง (roadmap) ที่สามารถนำไปดำเนินงานต่อในองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนและจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ กับองค์กรที่หลากหลายในชั้นเรียน และกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากนานาชาติที่กำลังเริ่มต้นเส้นทางสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยแนวคิด “Creating business through circular design”

โครงการ circular design จะจัดอบรมทั้งหมด 10 รุ่น สำหรับ 10 เส้นทางธุรกิจ (track) ภายในระยะเวลา 18 เดือน สำหรับกิจกรรมการอบรมรุ่นที่ 2 จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยเปิดรับองค์กรที่ดำเนินงานในเส้นทางธุรกิจสิ่งทอ เสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในกลุ่มออกแบบอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการ

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย www.globalcompact-th.com หรือติดต่อคุณกมลนาถ องค์วรรณดี (ผู้จัดการโครงการ) โทรศัพท์ 08-1919-9740