พลิกวิกฤตโลก สร้างบริบทใหม่เพื่อธุรกิจยั่งยืน

REUTERS - David Mercado
ภาพจาก : REUTERS - David Mercado

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (dtac) จัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสมือนจริงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ dtac Responsible Business Virtual Forum 2021 ภายใต้หัวข้อ “พลิกวิกฤตเศรษฐกิจ สู่แนวคิดใหม่เพื่อองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืน” (Rethinking Business Resilience in Post-Pandemic Economy)

โดยช่วงแรกมี “ชารัด เมห์โรทรา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค มาวิเคราะห์เทรนด์ระดับโลกที่จะส่งผลต่อการดําเนินงานของธุรกิจ ประเมินความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบด้าน และกําหนดกรอบการทํางานบนหลักการดําเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบประจําปี 2564-2566

ขณะช่วงที่ 2 มี “วัฒนพงษ์ คุโรวาท” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน “ประเทศ ตันกุรานันท์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค และ “คริสเตียน ฮอลล์” ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะอากาศของกลุ่มเทเลนอร์ มีร่วมเสวนาในหัวข้อ “เปลี่ยน…ก่อนสภาวะอากาศเปลี่ยน”

ดีแทคกางแผนสู่ธุรกิจยั่งยืน

“ชารัด เมห์โรทรา” กล่าวในเบื้องต้นว่า การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับภาคธุรกิจไทยที่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

ชารัด เมห์โรทรา
ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค

ความท้าทายที่เกิดขึ้นเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคธุรกิจ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 แนวโน้มสำคัญ คือ

หนึ่ง โครงสร้างธุรกิจเปลี่ยนสู่ economy of scale (การประหยัดต่อขนาด) – มีบทบาทมากขึ้นในโลกธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากการควบรวมกิจการต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค เช่น ความสนใจในธุรกิจโทรคมนาคมของบริษัทพลังงาน การควบรวมธุรกิจระหว่าง Digi และ Celcom ในมาเลเซีย ขณะที่ Grab สตาร์ตอัพยูนิคอร์นสัญชาติมาเลเซียก็มีแผนการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก

สอง ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่กว้างขึ้น (digital divide) – โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต หรือขาดความรู้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ

สาม ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (climate change) ต่อห่วงโซ่อุปทานโลก – ปัจจุบันส่งผลกระทบตามแนวชายฝั่ง และระบบนิเวศทางการเกษตรที่เปราะบางและในอนาคตอันใกล้ การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศอาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นในวิกฤตมหาอุทกภัยในปี 2554 ซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดแคลนฮาร์ดไดรฟ์ไปทั่วโลก

“ชารัด เมห์โรทรา” กล่าวต่อว่า dtac กางแผนฝ่าความท้าทาย 3 ความปกติใหม่ โดยกำหนดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการยืนหยัดท่ามกลางความไม่แน่นอน และสร้างความไว้วางใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ประกอบด้วย 7 เสาหลัก ได้แก่

1.การสร้างบรรทัดฐานใหม่ด้วยหลักธรรมาภิบาล

2.การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล

3.การสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน

4.การสร้างสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน

5.การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ

6.สิทธิมนุษยชน และ

7.การสร้างสุขภาวะในที่ทำงาน

ภาครัฐตั้งเป้าสู่ Net Zero

สำหรับกระทรวงพลังงานมีส่วนร่วมกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเราตั้งเป้าว่าภายในปี 2573 ไทยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ทั้งนี้ อุตสาหกรรมด้านพลังงานเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะอุตสาหกรรมพลังงานเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 75% และอีก 25% เป็นอุตสาหกรรมอื่น ๆ

วัฒนพงษ์ คุโรวาท
วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน

โดยล่าสุด กระทรวงพลังงานร่วมกับทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าไปสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนใน 6 ด้าน ได้แก่

1.การปรับพอร์ตการผลิตไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงสู่ low carbon

2.การเพิ่มสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

3.การบริหารจัดการของเสียผ่านโมเดลบีซีจี

4.การใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดคาร์บอนต่ำ 5.การมุ่งสู่ zero burn และ smart farming ผ่านโมเดลบีซีจี และเทคโนโลยีดิจิทัล 6.การดักจับ กักเก็บ ใช้ประโยชน์และเทคโนโลยีไฮโดรเจน พร้อมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปจัดทำข้อมูล แผนการดำเนินการ”

ดีแทคตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม

ขณะที่มุมมองของ “ประเทศ” บอกว่า การระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2563 ผ่านมา ทำให้ภาคการสื่อสารเติบโตอย่างก้าวกระโดด เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของประเทศในอัตราเร่ง การใช้งานดาต้าของลูกค้าดีแทคในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดรอบแรกนั้น เติบโตสูงขึ้นถึง 23% จนปัจจุบันยอดการใช้ดาต้าต่อเดือนพุ่งสูงขึ้นเฉลี่ย 20 GB ต่อคน

ประเทศ ตันกุรานันท์
ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค

“ช่วง 2-3 ปีผ่านมา ดีแทคเร่งขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะในปี 2564 ดีแทคให้ความสำคัญกับการขยายสัญญาณบนคลื่น 700 MHz เพื่อให้ครอบคลุมประชากรให้ได้ 90% ที่สำคัญ ดีแทคยังตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมาจากการขยายโครงข่ายด้วย โดยพบว่าการใช้พลังงานในการให้บริการโครงข่ายมีสัดส่วนสูงถึง 94% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของบริษัท และเมื่อเทียบการใช้พลังงานไฟฟ้า พบว่าดีแทคใช้พลังงานเป็น 2 เท่าของประเทศมัลดีฟส์ทั้งประเทศ”

แผน 4 ด้านลดการใช้พลังงาน

“ประเทศ” อธิบายต่อว่า จากตัวเลขการใช้พลังงานดังกล่าว ดีแทคจึงกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ผ่านการดำเนินงานใน 4 ด้าน ดังนี้

หนึ่ง การมุ่งใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นลง อย่างบริเวณเสาสัญญาณที่จำเป็นต้องมีการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อนจนเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาการติดเครื่องปรับอากาศทำความเย็นทุกเสานั้นทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมาก แต่ปัจจุบันดีแทคได้เลือกใช้วิธีอื่น เช่น การลดขนาดห้องควบคุม และการติดพัดลมแทนที่

อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารชุมสาย ซึ่งช่วยลดอาคารปฏิบัติงานชุมสายจาก 6 แห่งเหลือเพียง 2 แห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยังได้ใช้เทคโนโลยี precision cooling และ rack cooling ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งจากความพยายามทั้งหมด ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานที่ศูนย์ชุมสายของดีแทคถึง 32% เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มโครงการ

สอง การมุ่งสู่การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีความรับผิดชอบ ดีแทคตั้งเป้าหมายว่าจะต้องไม่มีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากการดำเนินการไปทำลายด้วยการฝังกลบ หรือ zero landfill ในปี 2563 เพราะดีแทคสามารถรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้กว่า 178,052 กิโลกรัม

สาม การมุ่งใช้พลังงานทางเลือกในระบบโครงข่าย ในปีนี้ดีแทคตั้งโครงการนำร่องเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ที่ศูนย์ปฏิบัติการชุมสาย (data center) ทั้ง 2 แห่ง และเสาสัญญาณในบางพื้นที่ เพื่อจ่ายไฟใช้งานร่วมกับระบบ grid เพื่อทดสอบความคุ้มทุน และศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงข่าย

สี่ การมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้เทคโนโลยี machine-to-machine (M2M) และการเพิ่มบริการโทรคมนาคมไร้สาย ที่ผ่านมาดีแทคได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการพัฒนารูปแบบทดสอบการใช้งาน อาทิ การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ และการพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ

ปี’73 มุ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์

สำหรับ “คริสเตียน ฮอลล์” กล่าวว่า เทเลนอร์เดินหน้าลดความเสี่ยงทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เพื่อให้เทเลนอร์ยังคงเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ และมุ่งเน้นที่การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งเป้าหมายด้านสภาพอากาศของเราสอดคล้องกับสิ่งที่วิทยาศาสตร์ภูมิอากาศเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรลงมือทำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ด้านจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส

คริสเตียน ฮอลล์
คริสเตียน ฮอลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะอากาศของกลุ่มเทเลนอร์

“โดยแผนงานของเทเลนอร์ คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินงานทั่วโลกของเราลง 57% เทียบกับปี 2562 ภายในปี 2573 และสำหรับ 2 ภูมิภาคนอร์ดิก ตอนนี้เรากำลังดำเนินธุรกิจที่ปราศจากคาร์บอน (zero carbon) ภายในปี 2573 โดยมุ่งเน้นการวัดประสิทธิภาพพลังงานในการดำเนินงานเครือข่าย การซื้อไฟฟ้าทดแทน และการเปิดใช้งานบริการที่เป็นกลางคาร์บอน”

“ส่วนการดำเนินงานในเอเชีย เราจะลดการปล่อยคาร์บอนลง 50% ภายในปี 2573 โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนพลังงานดีเซลและไฟฟ้าหมุนเวียนอื่น ๆ ในภูมิภาค นอกจากนั้น 68% ของซัพพลายเออร์ของเราต้องมีส่วนร่วมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”

นับเป็นแนวทาง และวิสัยทัศน์ชูแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อความปกติใหม่ทางธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวท่ามกลางความไม่แน่นอน