บริบทซีเอสอาร์ DMT พลังใจพนักงานขับเคลื่อนสังคม

ดอนเมืองโทลล์เวย์

ตลอดระยะเวลากว่า 33 ปี บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ “DMT” นอกจากจะทำธุรกิจเพื่อตอบสนองการให้บริการด้านการคมนาคม และการขนส่งที่รวดเร็วระหว่างกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง เหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว การทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือซีเอสอาร์ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ดอนเมืองโทลล์เวย์ให้ความสำคัญมาตลอด โดยผ่านการจัดกิจกรรมโครงการมากมายจนนับไม่ถ้วน

“ธานินทร์ พานิชชีวะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) มักกล่าวเสมอว่า การดำเนินธุรกิจไม่ใช่การมองแค่ตัวเราเอง แต่ต้องมองสังคมรอบข้างด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้เกิดวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาด ทุกฝ่ายจึงต้องหันมาช่วยเหลือกันและกันมากขึ้น

“โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา ดอนเมืองโทลล์เวย์มอบเงินแก่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, โรงพยาบาลวชิระ และมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ทั้ง 3 แห่งเพื่อสนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย ทั้งยังส่งมอบชุดอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ให้แก่โรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศไทย”

“พร้อมกับจัดโครงการตู้โทลล์เวย์แบ่งสุขเปิดโอกาสให้คนใจดีละแวกบริษัท รวมถึงพนักงานมอบสิ่งของต่าง ๆ แบ่งปันน้ำใจใส่ในตู้ เพื่อให้ประชาชนในย่านหลักสี่ ดอนเมืองนำไปบริโภค นอกจากนั้น ยังให้ทีมงานมอบเจลแอลกอฮอล์ให้กับผู้ใช้ทางทุกด่านเก็บค่าผ่านทางของดอนเมืองโทลล์เวย์ สำหรับทำความสะอาดมือและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส”

“ธานินทร์” กล่าวต่อว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภารกิจที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์โควิดเท่านั้น เรามีโครงการทั้งภายใน และภายนอกองค์กรอีกจำนวนมาก เนื่องจากบริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นคู่สัญญา ลูกค้าผู้ใช้บริการ รัฐ ผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ค้า ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการยึด 2 รูปแบบ คือ

หนึ่ง CSR in process กิจกรรมเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

สอง CSR after process กิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสังคมไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่

1) Tollway Smart Way – การยกระดับโอกาสการศึกษา การให้ทุนการศึกษาปริญญาโทแก่ผู้บริหารขั้นต้นด้วย และมีการดูแลไปจนถึงบุตรของพนักงาน ให้ทุนการศึกษาต่อเนื่องปริญญาตรีในชื่อ “โครงการสานฝันบุตรพนักงานโทลล์เวย์สู่บัณฑิต” ปัจจุบันมีผู้ได้รับทุนนี้ 5 คน ส่วนภายนอกองค์กรได้วางรากฐานให้กับเยาวชน ด้วยการให้ทุนการศึกษา สนับสนุนอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ แก่นักเรียนโรงเรียนทั่วประเทศ

ดอนเมืองโทลล์เวย์

2) Tollway Happy Way – ยกระดับชุมชนปลอดยาเสพติด รณรงค์ปัญหายาเสพติด ทั้งในบริษัท และนอกบริษัท

3) Tollway Safety Way – ยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนน ที่ต้องการให้ผู้ใช้ทางใช้รถ ใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงการเอื้อเฟื้อต่อผู้ใช้ถนนร่วมกัน มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ อาทิ การตรวจสภาพรถเบื้องต้นในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ตลอดจนการรณรงค์ให้เขตสถานศึกษาเป็นพื้นที่แห่งความปลอดภัยได้มีการติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบพร้อมป้ายเครื่องหมายจราจร และการทำทางม้าลายบริเวณเขตสถานศึกษา ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย

ดอนเมืองโทลล์เวย์

4) Tollway Better Way – ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคม ให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในบริษัทมีการจัดสวัสดิการช่วยเหลือพนักงานจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น อุทกภัย, วาตภัย, อัคคีภัย หรือแม้แต่การระบาดของโควิดครั้งนี้ ดอนเมืองโทลล์เวย์ดูแลพนักงานควบคู่กับการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ด้วยการปรับสถานที่ทำงานให้มีระยะห่าง สำรวจ และดูแลสุขภาพของพนักงาน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

ขณะที่บางส่วนจัดให้มีการทำงานที่บ้านพร้อมจัดสรรหาวัคซีนให้ ซึ่งที่ผ่านมาพนักงานได้รับฉีดวัคซีนจากโควตาของกระทรวงคมนาคมมาแล้วก่อนหน้านี้ และบริษัทกำลังพิจารณาบูสเตอร์โดสเข็ม 3 เพื่อความปลอดภัยต่อการต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ สิ่งนี้ถือเป็นพื้นฐานที่บริษัทต้องดำเนินการ เพราะแสดงถึงความใส่ใจต่อพนักงาน และลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด รวมทั้งช่วยเหลือสังคมในจุดที่มีปัญหา เช่น การบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงพยาบาลสนาม อุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ ชุด PPE กล้องส่องตรวจโพรงจมูกและลำคอ

5) Tollway Green Way – ยกระดับสิ่งแวดล้อมด้วยหลักคิดใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การนำกระดาษค่าผ่านทางที่ไม่ได้ใช้มารีไซเคิลทำสมุดเขียนหนังสือสีเขียว เพื่อมอบให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ฯลฯ

จะเห็นว่าการดำเนินงานทั้ง 5 ข้อ ล้วนสอดคล้องทั้งภายใน และภายนอกกระบวนการทางธุรกิจ

ถึงกระนั้น “ธานินทร์” กล่าวอีกว่า ยังมี CSR as process ที่ดอนเมืองโทลล์เวย์ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือการจัดตั้งองค์กรช่วยเหลือสังคม “มูลนิธิทางสู่ฝัน ปั้นคนเก่ง” ซึ่งเป็นองค์การสาธารณกุศล จดทะเบียนลำดับที่ 968 ตามประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อเปิดโอกาสให้แก่เยาวชนที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาให้เยาวชนเป็นคนเก่งของประเทศ

โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมีถึงรุ่นที่ 9 แล้ว โดยมีจำนวนที่เราสนับสนุนทั้งหมด 148 คน ในจำนวนนี้กำลังศึกษาอยู่ 96 คน และสำเร็จการศึกษาแล้ว 52 คน

“กิจกรรมทั้งหมดนี้เรามีพนักงานเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ผมเชื่อพลังกายพลังใจของพนักงานจะช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่สังคมได้ พนักงานหนึ่งคนมีสองแขนสองขา ถ้าหากเขารวมกันมากกว่า 20 คนขึ้นไปพลังก็จะเยอะขึ้น ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังทำกิจกรรมได้ไม่เต็ม 100% แต่เมื่อไหร่ที่โรคระบาดสงบ ผมเชื่อว่าคนดอนเมืองโทลล์เวย์จะอาสาลงมือเต็มที่ ขณะเดียวกันระหว่างนี้บริษัทก็ต้องบริหารความเสี่ยงธุรกิจว่าจะไปต่ออย่างไรท่ามกลางวิกฤต”

“ซึ่งเรามีการทำแผนบริหารความเสี่ยงจัดทำเป็น scenario มากกว่า 10 กรณี มีตั้งแต่ดีสุดจนถึงแย่สุด เพื่อให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะกว่า 33 ปีของดอนเมืองโทลล์เวย์ เราผ่านวิกฤตมาหลายวิกฤต ทั้งต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ อุทกภัยน้ำท่วม หรือแม้แต่โรคระบาดซาร์สก็เคยผ่านมาแล้ว เชื่อว่าอีกไม่นานเราก็จะผ่านไปได้”