“เจียไต๋” จับมือ “วิชชุลดา” แปลงโฉมถุงปุ๋ยสู่สินค้ารักษ์โลก

ถุงปุ๋ยตรากระต่าย

ต้องยอมรับว่าทิศทางของภาคธุรกิจวันนี้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา และปกป้องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากทั่วโลกมีการใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล ทำให้ระบบนิเวศเริ่มเสื่อมโทรม ซึ่งการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจมีแนวโน้มว่าจะไม่ใช่เพียงกิจกรรมซีเอสอาร แต่จะอยู่ในกระบวนการธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งวงจรการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงขั้นตอนหลังการบริโภคที่ผู้ผลิตต้องเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการด้วย

ถุงปุ๋ยตรากระต่าย

ผลเช่นนี้ จึงทำให้หลาย ๆ ธุรกิจเริ่มขยับสู่โมเดล circular economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ ซึ่งเหมือนกับบริษัท เจียไต๋ จำกัด ผู้นำธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรของไทย

ล่าสุดมีการเปิดตัวโครงการถุงปุ๋ยปลูกความยั่งยืน โดยเจียไต๋จับมือกับแบรนด์วิชชุลดา (WISHULADA) นำถุงปุ๋ยกระต่ายเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นสินค้ากระเป๋าใบใหม่ ในคอลเล็กชั่น “แรบ อะแดป (RabAdapt)” ที่มีความทันสมัย เพื่อหวังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และนำรายได้จากการจำหน่ายเป็นทุนการศึกษาแก่เยาวชน

“มนันย์พร เจียรวนนท์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท เจียไต๋ จำกัด เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการว่า เนื่องจากธุรกิจของเรามีถุงปุ๋ยตรากระต่ายที่ยังไม่ผ่านการใช้งานจำนวนมาก และเป็นถุงปุ๋ยที่มีคุณภาพเหนียว ทนทาน จึงเกิดไอเดียนำมาสร้างสรรค์ใหม่ให้เกิดประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

มนันย์พร เจียรวนนท์
มนันย์พร เจียรวนนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท เจียไต๋ จำกัด

อันเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของเจียไต๋ ประกอบด้วย 3P ได้แก่

หนึ่ง prosperity การเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และบริการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในสังคม

สอง people การสร้างคุณค่าสู่สังคม ด้วยการส่งมอบผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีความปลอดภัย สร้างเสริมสุขภาพ และการมีสุขภาวะที่ดีให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเจียไต๋ ทุกกลุ่มทั้งภายในและภายนอกองค์กร

สาม planet การรับมือกับความท้าทายทางสิ่งแวดล้อม

ถุงปุ๋ยตรากระต่าย

“ยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ด้าน เราพยายามปลูกฝังจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เจียไต๋ยังยึดมั่นในค่านิยมเรื่อง Innovation ซึ่งเอื้อให้เกิดการเปิดกว้างทางความคิด และสร้างสรรค์โครงการใหม่ ๆ ของบุคลากรที่ช่วยผลักดันองค์กรไปสู่ความยั่งยืนได้”

“ดังนั้น จึงเป็นที่มาของโครงการถุงปุ๋ยปลูกความยั่งยืน ซึ่งเราอยากให้ตอบโจทย์ทุกด้านดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เราต้องการจะลดปริมาณขยะในธุรกิจด้วยการดูก่อนว่าก่อนจะทิ้งสิ่งของ เรานำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง เพราะตอนนี้เรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เจียไต๋ ซึ่งเป็นธุรกิจด้านเกษตร แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อเราทางตรง ส่วนทางด้านสังคมก็เป็นการช่วยเหลือผู้คนด้วย”

“มนันย์พร” กล่าวต่อว่า โครงการนี้มีการนำถุงปุ๋ยตรากระต่ายเหลือใช้กลับมาใช้งานซ้ำ ด้วยการทำเป็นกระเป๋าไลฟ์สไตล์ ออกแบบโดยแบรนด์วิชชุลดา ร่วมกับกลุ่มช่างตัดเย็บท้องถิ่น และจับมือกับร้านปันกัน โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ เป็นผู้จำหน่าย

ถุงปุ๋ยตรากระต่าย

“ซึ่งเจียไต๋จะมอบกระเป๋าคอลเล็กชั่น แรบ อะแดป ที่ผลิตขึ้นทั้งหมดกว่า 1,000 ใบ ให้ทางร้านนำไปจัดจำหน่ายใน 16 สาขา รวมถึงในช่องทางออนไลน์ด้วย ซึ่งเงินที่ระดมได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายกระเป๋าคอลเล็กชั่นนี้จะช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับน้อง ๆ 
เยาวชนไทยที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิต่อไป”

สำหรับ “วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์” เจ้าของแบรนด์วิชชุลดา และศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ (social activist artist) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันขยะอุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก เป็นอันดับ 2 ของโลก ไม่ต่างจากปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งเราเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวมาตลอด เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ๆ และกระทบทุกภาคส่วน แต่น้อยคนที่จะจริงจังกับมัน

วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์
วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ เจ้าของแบรนด์วิชชุลดา

“ฉะนั้น เราอยากจะทำเรื่องนี้ และอยากใช้ความสามารถของศิลปินขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยแบรนด์ของเราเป็นแบรนด์ผลิตสินค้า อาทิ กระเป๋า สิ่งของ แฟชั่น ผลงานศิลปะอื่น ๆ ที่เกิดจากการนำของเหลือใช้มาแปรรูปใหม่ เช่นเดียวกับคอลเล็กชั่นแรบ อะแดป ทางแบรนด์วิชชุลดานำวัสดุเหลือใช้ ทั้งกระสอบถุงปุ๋ยที่มีจำนวนกว่า 800 ใบ และนำเศษผ้าไหมเหลือใช้จากร้านบุญคุณ ซึ่งเป็นแบรนด์โอท็อปจังหวัดนนทบุรี มาแปรรูปผสมผสานกัน”

“ด้วยการทำงานร่วมกับกลุ่มช่างตัดเย็บ ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของเรา ทั้งยังเป็นผู้ผลิตทีละชิ้น ทีละใบ ซึ่งหลักการคือพยายามใช้ชิ้นส่วนของวัสดุเหลือใช้อย่างคุ้มค่า ด้วยการทำเป็นสินค้าหลายขนาด ได้แก่ กระเป๋าใบเล็ก, กระเป๋าคล้องคอ, กระเป๋าคลัตช์อเนกประสงค์, กระเป๋าสะพายข้าง และกระเป๋าเป้ เพราะเราต้องการใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งกระบวนการอัพไซเคิลนี้หากคำนวณคร่าว ๆ เราสามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการใช้ต้นไม้ได้ถึง 25 ต้นเลยทีเดียว”

ถุงปุ๋ยตรากระต่าย

“ดิฉันหวังว่าโครงการนี้จะเป็นการสร้างแรงขับเคลื่อนเล็ก ๆ ให้ทุกคนเห็นคุณค่าของสิ่งของรอบตัว ซึ่งที่ผ่านมาดิฉันนำเสนอผลงานที่เป็นการนำของเหลือใช้มาสร้างเป็นผลงานในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะศิลปะ, ประติมากรรม เพื่อหวังกระตุ้นให้คนสนใจ และเกิดการตระหนักอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ดิฉันเชื่อว่างานศิลปะและการออกแบบที่คำนึงต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาขยะล้นโลก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

ขณะที่ “ฐาปนีย์ สินาดโยธารักษ์” ผู้อำนวยการโครงการร้านปันกัน โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยจำนวนมากที่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มูลนิธิยุวพัฒน์จึงช่วยเหลือเด็ก โดยมอบทุนการศึกษาและดูแลติดตามนักเรียนทุนให้เรียนจบชั้น ม.6 หรือ ปวช.3 เพื่อให้เด็ก ๆ มีโอกาส และมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น

ฐาปนีย์ สินาดโยธารักษ์
ฐาปนีย์ สินาดโยธารักษ์ ผู้อำนวยการโครงการร้านปันกัน โดยมูลนิธิยุวพัฒน์

ปัจจุบันมูลนิธิยุวพัฒน์มีนักเรียนทุนที่อยู่ในความดูแลทั้งหมดกว่า 8,269 คนทั่วประเทศ และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มูลนิธิยุวพัฒน์ติดตามนักเรียนทุนใกล้ชิดมากขึ้น โดยร่วมกับคุณครู, กลุ่มพี่เลี้ยงอาสาที่มาช่วยเหลือดูแลนักเรียนทุนผ่านออนไลน์ และการพูดคุยทางโทรศัพท์เพื่อแนะแนวการเรียนการสอนที่ต้องปรับตัวมาเรียนผ่านออนไลน์

“สำหรับโครงการถุงปุ๋ยปลูกความยั่งยืนที่ได้มาร่วมกับเจียไต๋และภาคี เพื่อเปลี่ยนของเหลือใช้ให้เป็นกระเป๋าสวย ๆ ในคอลเล็กชั่น แรบ อะแดปนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับน้อง ๆ ผ่านโครงการร้านปันกันได้มากขึ้น และคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบที่จะจุดประกายให้กับธุรกิจอื่น ๆ ที่อยากจะช่วยเหลือสังคมนำไปเป็นแบบอย่างต่อไป”

ถุงปุ๋ยตรากระต่าย

“สำหรับผู้ที่สนใจกระเป๋าคอลเล็กชั่น แรบ อะแดป มีวางจำหน่ายแล้วที่ร้านปันกัน ทั้ง 16 สาขา และช่องทางออนไลน์ ซึ่งเงินที่ระดมทุนได้ทั้งหมดจะมอบเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนทุนในมูลนิธิยุวพัฒน์ ซึ่งบางส่วนจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อไป”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว