แลไปข้างหน้า บทบาท SET ผลัก บจ.ก้าวสู่สากล

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หากมองภาพรวมเกี่ยวกับกรอบการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ “SET” จะเห็นว่านอกจากการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพองค์กร ยังเกี่ยวเนื่องกับแนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 3 มิติด้วย คือ เศรษฐกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม

แต่ทั้งนั้นต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และบริบทขององค์กรเป็นสำคัญ รวมถึงการวิเคราะห์หลักการ และมาตรฐานระดับสากล เช่น Dow Jones Sustainability Indices (DJSI), Global Reporting Initiative (GRI) นอกจากนั้น ยังจะต้องศึกษากลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำจากต่างประเทศด้วย

เพราะกรอบการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯเกี่ยวข้องทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างคุณค่าตลาดทุน, การบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน, การพัฒนาและดูแลพนักงาน, การพัฒนาและดูแลสังคม และการจัดการสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันจะต้องเชื่อมโยงกับ 5 ประเด็นสำคัญที่จะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG performance), การกำกับดูแลกิจการอย่างยั่งยืน (sustainable and performance driven management),

การเป็นองค์กรที่คนทำงานปรารถนา (employer of choice), การลงทุนเพื่อสังคม (social impact investment), การสร้างความรู้ทางการเงินและการลงทุน (financial literacy) และการดำเนินนโยบายด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (green policy)

โดยมีการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ของสหประชาชาติ มาสู่การลงมือปฏิบัติในตลาดทุนไทย

ยิ่งเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม, สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance-ESG) และดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีส่วนสำคัญอย่างมากในการส่งต่อองค์ความรู้ ผลักดัน และเผยแพร่กรอบการดำเนินการพัฒนาความยั่งยืนให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อก้าวสู่ในระดับสากล

ผลเช่นนี้ เมื่อมีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในเรื่องประเด็นดังกล่าว จึงอดไม่ได้ที่จะถามเกี่ยวกับบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯในการผลักดันให้ บจ.ต่าง ๆ เห็นความสำคัญกับเรื่อง ESG และ DJSI

“ตลอดช่วง 4-5 ปีผ่านมาต้องยอมรับว่า บจ.มีความตื่นตัวเรื่องของ ESG ไปในทางที่ดี เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการสร้างความยั่งยืนในอนาคต โดยเฉพาะกับบริษัทของเขาเอง ที่สำคัญ ผมมองว่าสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯพยายามส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ค่อนข้างสอดรับกับสิ่งที่ บจ.สนใจอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน นักลงทุน พาร์ตเนอร์เขาก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ด้วย ก็เลยเป็นอะไรที่สอดรับกัน พูดง่าย ๆ เป็นการช่วยกันพัฒนา ecosystem ให้กับทุกฝ่าย มองเห็นความสำคัญไปในทิศทางเดียวกัน”

“ฉะนั้น ถ้าดูจากความสนใจของบริษัทต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับ ESG ผมว่ามีแนวโน้มค่อนข้างดี และหลายบริษัทตื่นตัวนำองค์กรเข้าร่วมประเมินความยั่งยืน โดยเฉพาะปี 2564 มี บจ.ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment-THSI) รวม 146 บจ. เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 124 บจ.”

“ดังนั้น ในมุมมองของตลาดจึงไม่เพียงส่งเสริมตลาดทุนไทยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่จะต้องทำให้ตลาดทุนไทยเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนด้วย เพราะวิสัยทัศน์ของเราคือ To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone’”

“เราจึงสนับสนุนภาคธุรกิจดำเนินงานตามหลักบรรษัทภิบาล และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน ที่สำคัญ ยังต้องส่งเสริมให้ผู้ลงทุนลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อสร้างโอกาสการได้รับผลตอบแทนในระยะยาว ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้ลงทุนในปัจจุบันจึงมีความต้องการลงทุนในหุ้นที่มี ESG เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อดูจากข้อมูลล่าสุดคือเดือนสิงหาคม 2564 ปรากฏว่า กองทุน ESG Fund ในประเทศไทยมีถึง 58 กองทุน มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) รวมประมาณ 57,496 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 96% จากต้นปี”

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ตลาดทุนไทยจึงมีการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น จนกลายเป็นตลาดทุนดีที่สุดในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพคล่องที่ครองอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่มูลค่ารวมตามราคาตลาด (market cap) ตลาดทุนไทยก็เติบโตขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์

นอกจากนั้น บจ.ไทยยังได้รับคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนี DJSI ถึง 21 บริษัท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ที่สำคัญ ตลาดทุนไทยยังเป็นผู้นำ ASEAN CG Scorecard โดยมีคะแนนสูงสุดในอาเซียนอีกด้วย

ถึงกระนั้น เมื่อถามต่อว่าทำอย่างไรถึงจะให้ บจ.มีความตื่นตัวในเรื่องของ ESG และ DJSI มากกว่านี้ ?

“ดร.ภากร” บอกว่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่เรากำลังพัฒนาอยู่ ขณะเดียวกัน เราก็มีอาจารย์กฤษฎา (ดร.กฤษฎา เสกตระกูล) เป็นผู้รับผิดชอบ และทำเรื่องนี้มา 2-3 ปีแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับก่อนว่าการทำเรื่อง ESG และกิจกรรมต่าง ๆ มันมีต้นทุน และต้องบอกเลยไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะการทำเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จต้องทำให้ผู้บริหารระดับสูงทุกคน รวมถึงบอร์ดของบริษัทมองเห็นภาพไปในทางเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร

“นอกจากนั้น การทำงาน การวางแผน ต้องชัดเจนว่าจะได้ประโยชน์จากการทำ ESG และ DJSI อย่างไร เพราะเราไม่ได้ทำ CSR แล้ว ที่สำคัญ จะต้องรายงานผลด้วยว่าเมื่อทำแล้ว ผลปรากฏออกมาอย่างไร ? ได้อะไรบ้าง ? และนักลงทุนจะให้แวลูนี้อย่างไร ? สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นลูปทั้งหมดที่ผมอยากเรียนว่า ต้องเริ่มมาจากมีไอเดียที่จะทำก่อน จากนั้นจึงค่อยมากำหนดนโยบาย, มีการวางแผน และมีการทำกลยุทธ์ที่จะทำเรื่องนี้จริง ๆ และต้องได้ประโยชน์ด้วย”

“ที่สำคัญ จะต้องมีการเก็บข้อมูล และข้อมูลดังกล่าวจะต้องทำออกมาเป็นรายงานประจำปีที่อ่าน และเข้าใจ และนำไปปรับใช้อย่างง่าย ๆ ยิ่งถ้ามีนักลงทุนนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ด้วย ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะการทำเรื่อง ESG ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของดัชนี้หุ้นยั่งยืน เพื่อให้นักลงทุนสามารถสร้างเป็นกองทุนรวม และสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้ สิ่งเหล่านี้คือทั้งลูปที่ผมอยากจะเรียนว่าเวลาทำต้องทำให้สนุก ทำให้ถูกต้อง และต้องทำอย่างตรงไปตรงมา”

“ฉะนั้น สิ่งที่อาจารย์กฤษฎาทำ จึงมีหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการมอบความรู้ให้กับ บจ. และในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรือมีข้อมูลอะไรบ้างที่จะต้องใช้เพื่อการสร้างเทมเพลตอะไรต่าง ๆ เพื่อให้ บจ.เข้าถึงองค์ความรู้ออนไลน์อย่างง่าย ๆ หรือต่อไปในอนาคต เราจะแปล sustainability report เป็นภาษาอังกฤษให้กับ บจ.ต่าง ๆ เนื่องจากคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้คือชาวต่างชาติ แต่ปัญหาคือเขาไม่มีข้อมูลพวกนี้เป็นภาษาอังกฤษ ผมว่าเรื่องนี้ก็สำคัญมากเช่นกัน”

ตรงนี้จึงเป็นคำตอบว่า…ทำไมตลาดหลักทรัพย์ฯถึงมาให้ความสำคัญกับไลฟ์ แพลตฟอร์ม ?

“ผมมองว่าไลฟ์ แพลตฟอร์ม คือ การเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และสตาร์ตอัพเข้ามาระดมทุนบ้าง และยิ่งไปกว่านั้น ก่อนที่พวกเขาจะเข้ามาระดมทุน เราจะมีบริการเทรนนิ่ง และการแชร์ เซอร์วิส ซอฟต์แวร์อะไรต่าง ๆ อย่างเช่น ระบบบัญชี, ระบบ HR ฯลฯ โดยส่วนนี้เราจะมี mentor จากภาคธุรกิจใหญ่ ๆ เข้ามาแนะนำการสร้างธุรกิจอะไรต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแบ็กออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นไอที, HR และอะไรต่าง ๆ ที่เขาต้องเรียนรู้ ก่อนที่จะลงทุนในตลาดไลฟ์แพลตฟอร์ม”

“ฉะนั้น ไลฟ์ แพลตฟอร์ม จึงมี 2 เรื่องหลัก ๆ คือ knowledge platform และ fundraising platform ซึ่งผมหวังว่าระบบพวกนี้จะใช้กับ learning digital ค่อนข้างเยอะ เพราะวัตถุประสงค์ของเราต้องการให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาใช้ เข้ามาหาความรู้ เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ตลาดทุนมาระดมทุนได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ไลฟ์ แพลตฟอร์มนี้ ถ้าไม่พูดถึงการระดมทุน ผมก็อยากให้พวก SE เข้ามาหาความรู้ด้วย เพราะเรื่องนี้เป็น aspiration ของเราอย่างหนึ่งทีเดียว”

ถึงตรงนี้ จึงอดถามต่อไม่ได้ว่า…ทำไมกลุ่มแบงก์พาณิชย์ถึงให้ความสนใจในการทำ ESG มากขึ้น ?

“ดร.ภากร” จึงบอกว่า ผมเชื่อว่าทุกกลุ่มธุรกิจที่อยู่ใน บจ.ต่างให้ความสนใจเรื่อง ESG ทั้งสิ้น เพียงแต่แฟกเตอร์ หรือปัจจัยที่เขาให้ความสำคัญ หรือการให้น้ำหนักอาจไม่เหมือนกัน เพราะขึ้นอยู่กับการทำธุรกิจของเขา อย่างเมื่อก่อนเราจะเห็นภาคอุตสาหกรรมทำเสียส่วนใหญ่ เพราะธุรกิจของเขาเกี่ยวข้องกับการปล่อยของเสีย จนทำให้เกิดมลพิษต่าง ๆ เขาจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

“แต่สำหรับภาคการเงิน ผมคิดว่าภาคการเงินนี่สำคัญมาก ที่จะช่วยทำให้ภาคธุรกิจเกิดความยั่งยืนได้อย่างไร ยกตัวอย่าง เรามีพันธบัตรออกให้กับบริษัทที่เป็น green bonds เพื่อไประดมทุนได้ เนื่องจากบริษัทนี้มีคนมาตรวจสอบแล้วว่าทำธุรกิจโดยไม่มีของเสียเหลือทิ้ง หรือถ้าหากมีของเสีย บริษัทนี้จะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไรบ้าง ถ้าเขาทำได้ และมีวิธีบริหารจัดการที่ดี เขาก็มีโอกาสไประดมทุน ซึ่งอาจมีนักลงทุนที่สนใจเรื่องเดียวกันลงทุนด้วย จนขยายฐานกว้างขึ้น”

“ดังนั้น ภาคการเงินจึงสำคัญต่อการทำ ESG อย่างมาก เพราะเขาเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปล่อยสินเชื่อ และถ้าเป็นเรา เราจะปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจที่ปล่อยของเสียเหรอ ไม่มีทาง เราต้องปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจสีเขียว และไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อย่างเดียว หากธุรกิจ SMEs และสมาร์ทฟาร์มเมอร์ที่สนใจทำการเกษตรอินทรีย์ เราก็สามารถปล่อยสินเชื่อให้เขาได้เช่นกัน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมกลุ่มคนรากหญ้าในระดับล่าง ๆ ด้วย ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดันต่อไป แม้ปัจจุบันเราอาจยังช่วยเหลือไม่ครบถ้วน”

“เพราะปัญหาคือกลุ่มเกษตรกรรายย่อยยังเข้าไม่ถึงภาคการเงิน เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์จะดูเอกสารประกอบหลายอย่าง ซึ่งไม่เหมือนกับภาคธุรกิจที่เขามีข้อมูลผู้เสียภาษี มีการทำข้อมูลกระแสเงินสดหมุนเวียนชัดเจนอยู่แล้ว ตรงนี้ทำให้แบงก์ตัดสินใจง่าย

แต่ถามว่ามีความเป็นไปได้ไหม เป็นไปได้ เพราะตอนนี้ก็มีการเซอร์วิสหลายอย่างเพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำธุรกิจสีเขียวเข้าไปหาความรู้ในระบบออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ฯพยายามผลักดัน ขณะที่ผมเองก็มีความเชื่อว่าแบงก์พาณิชย์ควรจะช่วยส่งเสริมกลุ่มคนรากหญ้าที่ทำธุรกิจสีเขียวด้วย”

ที่สำคัญคือ “ดร.ภากร” มีความเชื่อมาโดยตลอดว่า…ตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ได้มีหน้าที่แค่เป็นแหล่งระดมทุน หรือแหล่งลงทุน แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯมีหน้าที่อีกอย่างคือจะทำอย่างไร ถึงจะให้ตลาดทุนโตต่อไปได้ในอนาคตอย่างยั่งยืน


นับว่าเป็นการแลไปข้างหน้าอย่างน่าสนใจทีเดียว