ผู้นำหลัง (โรค) เปลี่ยน ฝึกตั้งโจทย์-สร้างเดดไลน์-ลงมือทำ

ชเว ย็อง-ซ็อก หัวหน้าโค้ชนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย (ซ้าย) เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด (ขวา)
ชเว ย็อง-ซ็อก หัวหน้าโค้ชนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย (ซ้าย) เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด (ขวา)

คำว่า “ผู้นำ” ในปัจจุบัน สิ่งที่ต้องมีเป็นองค์ประกอบในยุคนี้คือ ความแข็งแรงทั้งกาย และใจ เพราะต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 ความผันผวน และเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

ผลเช่นนี้จึงทำให้ บริษัท สลิงช็อทกรุ๊ป จำกัด จัดงานสัมมนาออนไลน์เพื่อเล่าถึงเทรนด์การบริหารคน ขณะเดียวกันก็เป็นเวทีเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์งานด้าน HR จากทั่วโลกมาแบ่งปันกับผู้เข้าร่วมงาน ผ่านการสัมมนา “2021 Thailand World Leadership Connect” ที่คัดสรรเทรนด์สร้างคนจากทุกมุมโลก ด้วยแขกรับเชิญพิเศษมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง

เบื้องต้น “ชเว ย็อง-ซ็อก” หรือ “ชัชชัย ชเว” ในชื่อภาษาไทย ซึ่งเป็นหัวหน้าโค้ชนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย บอกว่า รูปแบบการทำงานของคนเกาหลีมีความจริงจังมาก ส่วนหนึ่งอาจจะมาด้วยความแตกต่างของสภาพอากาศ ทั้งนี้

สิ่งที่จะทำให้คนไทยเก่งมากขึ้น คือ ต้องมีวิสัยทัศน์ แม้ว่าเป้าหมายของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญอย่างมาก คือ ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด สำหรับนักกีฬาต้องเชื่อฟังโค้ช ฉะนั้น โค้ชเองก็ต้องมีความอดทน ขยัน และจริงจัง ทั้งยังต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง

“นอกจากนี้ จะต้องหาความรู้ พร้อมกับพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้นำต้องทำหน้าที่เป็นต้นแบบให้กับพนักงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ด้วย ทั้งนี้ ในเชิงภาวะผู้นำ (leadership) ในปัจจุบันจะวัดกันที่ leadership wellness หรือวัดกันที่สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดีด้วย ดังนั้น เรื่องกินจึงสำคัญมากด้วยเช่นกัน ต้องรับประทานบ่อย ๆ แต่ละคราวน้อย และไม่ควรกินอิ่มจนเกินไป รวมถึงต้องกินผักให้มาก ๆ และใช้เวลาออกกำลังกาย 20-30 นาทีทุกวัน”

“สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง อีกทั้งการเจ็บป่วยในแต่ละครั้งต้องใช้เงินเพื่อการรักษา ทำงานหรือทำอะไรก็ทำไม่เต็มที่ สุขภาพ การกินเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ต้องวางแผนออกกำลังกาย เทคนิคการดูแลอ่อนเยาว์ หลังตื่นต้องมีการยืดเส้น 5 นาที หายใจช้า ลึก หรือว่าพยายามเดิน และทำสมาธิ ที่สำคัญ หลัง 3-4 ทุ่มไม่ควรกินแล้ว”

ขณะที่ “เฉลิมพล ปุณโณทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด บริษัทผลิตหุ่นยนต์ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น บอกว่า การสร้างความสำเร็จของคนไทยนั้นต้องหาจุดแข็งของตัวเองให้ได้ก่อน อีกทั้งคนไทยมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดค่อนข้างสูง ที่สำคัญ คนไทยมีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตค่อนข้างดี และมีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังมีความพลิ้วไหวต่อทุกสถานการณ์

“หากพิจารณาประวัติศาสตร์ชาติไทยจะพบว่าหลายยุคสมัยที่กษัตริย์ทุกพระองค์จะมีวิธีคิดที่ทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมจากต่างชาติ และผมเชื่อมั่นว่าสัญชาตญาณเหล่านี้มีอยู่ในคนไทยทุกคน ดังนั้น ในเวทีการแข่งขันสร้างและพัฒนาหุ่นยนต์ที่มาจากไทย จึงเป็นแชมเปี้ยนในหลายเวทีทั่วโลก เพราะพวกเขาสามารถจัดการกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเรื่องที่หาไม่ได้จากในตำรา”

“ที่สำคัญ คำว่าคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกที่ทุกคนได้ยินบ่อย ๆ นั้น ผมมีความเห็นว่าอาจจะต้องใช้วิกฤตขึ้นมาเป็นความท้าทาย แต่ปัญหาคือจะต้องให้เผชิญเหตุก่อน ถึงจะนำสัญชาตญาณต่าง ๆ เหล่านั้นขึ้นมาใช้ อย่างการเปิดเทอมเรียนวันแรกนั้น เราไม่ปล่อยปละละเลย เราไม่หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ถ้าเราไม่ปล่อยพลัง เราก็มักเที่ยวเล่น แต่ในคนคนเดียวกันนั้น ถ้าพรุ่งนี้สอบ final คืนวันก่อนสอบ เราจะปล่อยพลังกันเต็มที่”

“ผมรู้สึกว่าชีวิตคนไทยทั่วไปชอบแสวงหา และเซตเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็ถูกฝึกมาเพื่อแก้โจทย์ แก้ปัญหา แต่ในแง่ผู้นำ ต้องรู้จักการตั้งโจทย์อย่างชาญฉลาด ต้องมองให้เห็นอนาคตก่อนด้วยว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร หรือไม่ต้องรอแค่เพียงแก้โจทย์อย่างเดียว เพราะโจทย์สร้างให้เรามีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมาย แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมองว่าทำไม่ได้ก็ตาม”

“เฉลิมพล” กล่าวต่อว่า เมื่อผู้นำตั้งโจทย์เสร็จแล้ว จากนั้นต้องมีการกำหนดเงื่อนเวลาขึ้นมาด้วย เช่น ถ้าบริษัทต้องส่งสินค้าให้กับญี่ปุ่นในปีใด เราจะเซตกำหนดเวลาให้ชัดเจน จากนั้นจึงมาสร้างเซตย่อย โดยทีมต้นแบบจากวิศวกร ทีมโปรแกรมเมอร์ และทีมออกแบบเพื่อกำหนดไทม์ไลน์ว่างานจะต้องเสร็จเมื่อไหร่ เพื่อให้ทุกคนทำงานตรงตามแผนที่วางไว้ กระทั่งสร้างเส้นทางนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จเบื้องหน้า

“เพราะจากประสบการณ์ของผม ก่อนหน้าที่หุ่นยนต์ดินสอเตรียมจะนำสินค้าลงตลาดครั้งแรก ผมต้องเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงทอดพระเนตร จนกลายเป็นเดดไลน์ที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ดังนั้น เมื่อย้อนกลับมามองบริษัทตัวเอง ผมเริ่มต้นสร้างแผนกจัดหาและพัฒนาทรัพยากรบุคคล (HR) เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง เพราะช่วงที่ผ่านมา เราเองก็เป็น HR manager เอง ที่ต้องทำงานหน้าบ้าน และหลังบ้าน”

“ผมจึงต้องนำวิธีการเชื่อมโยงการทำงานมาปรับใช้ เพราะอย่างที่ผมบอก หากคนไทยเก่ง ๆ ไม่ปล่อยพลัง ก็ไม่สามารถสร้างนวัตกรรม (innovation) ที่เป็นของตัวเองได้ ทั้งยังกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย แต่เมื่อย้อนดูคนจีนในยุครุ่นปู่ย่า พวกเขาจะมีพลังมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้พลังกาย”

“แต่ตอนนี้ลองดูคนรุ่นใหม่ของจีนสิ อย่าง แจ็ก หม่า และคนหนุ่มสาวอื่น ๆ พวกเขาทุกคนปล่อยพลังสร้างสรรค์อย่างรุนแรงมาก หลายครั้งเราเคยปอดแหกต่อคำถามที่ว่าจะสร้างหุ่นยนต์สู้กับประเทศญี่ปุ่นได้อย่างไร ผมว่าความรู้สึกนี้ทำให้ผมขี้ขลาด สุดท้ายต้องดึงตัวเองให้เข้ามาอยู่ใน comfort zone”

“ผมถึงเชื่อว่าประเทศที่อยู่ในสถานะกำลังพัฒนานั้น อาจมีความคิดว่าไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้ เนื่องจากมี mindset ที่ว่าคนไทยทำได้เพียงการเป็นผู้ตาม และคำว่าผู้ตามของคนไทยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากจิตใต้สำนึกของคนไทยที่มีความเป็นผู้ตามมากกว่าจะเป็นผู้นำ”

“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมต้องเข้าร่วมสัมภาษณ์พนักงานที่จะมาร่วมงานกับเรา เพราะผมต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษค่อนข้างดี ผมถามเขาถึงเหตุผลของการมาสมัครงานที่นี่ เขาตอบว่าอยากมีเจ้านายเป็นฝรั่ง ทัศนคติดังกล่าวทำให้ผมต้องมองมุมกลับว่าไม่อยากมีลูกน้องเป็นฝรั่งบ้างหรือ”

“เฉลิมพล” เล่าต่อว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมคิด เมื่อเราด้อยค่าความสามารถของตัวเอง ก็จะไม่มีการตั้งโจทย์ ไม่ตั้งเดดไลน์ และไม่มีความกล้าหาญมากพอที่จะออกไปเผชิญ เมื่อผมลุกขึ้นมาทำหุ่นยนต์ส่งออกไปญี่ปุ่น ผมก็ยังไม่เจอเหตุผลที่ใครต่อใครเตือนผมเลย หรืออาจมาพูดให้เรากลัว แต่ด้วยเพราะญี่ปุ่นไม่ได้ผลิตหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจัง เขาแค่ทำโชว์เท่านั้น ผมจึงคิดว่าจุดอ่อนของคนไทยที่เห็นคือ ความไม่กล้าคิดว่าเราเอาชนะเขาได้

“จากประสบการณ์ตรงนี้ ทำให้ผมมอง 2 เรื่องเพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ นั่นคือความกล้า และลงมือทำ ในเชิงธุรกิจจะมีโอกาสไม่บ่อยครั้งนัก เพราะโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จนขณะนี้ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์ หรือยุคปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) อย่างเต็มตัว และพัฒนาความฉลาด และรอบรู้ให้กับ AI มากขึ้น”

“เพราะโลกทุกวันนี้เผชิญกับความคลุมเครือ และมีความไม่แน่นอนสูง แต่กระนั้น เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แม้ว่าในที่สุดแล้วหากโลกมีความชัดเจนเรื่องโอกาสใหม่ ๆ เราก็ต้องมองย้อนกลับมาในเรื่องการปล่อยพลัง เพราะบางครั้งโอกาสอาจจะถูกช่วงชิงไปแล้ว”

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่นักลงทุนไทยต้องปล่อยพลัง ปล่อยของออกมาสู้ และใส่องค์ประกอบข้างต้นเข้าไป คือ ความไม่แน่นอน ที่ผู้นำไม่ใช่มานั่งรอให้หายคลุมเครือเท่านั้น แต่ควรริเริ่มว่าธุรกิจที่มีอยู่ เราจะทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะจะผลิตสินค้าอะไรลงตลาด หรือเราจะทำโปรดักต์อะไร และตลาดที่รองรับสินค้าของเราเป็นใคร

“ขณะเดียวกัน ผมก็เชื่อการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสมอง ผมว่าสำคัญที่สุด จะทำงานอย่างไรไม่ให้เครียด และอย่าจมกับปัญหา ต้องพบปะผู้คน, อ่านหนังสือ, อ่านอนาคต, หาไอเดียใหม่ ๆ เพื่อพูดคุยกับคนฉลาด ๆ หรือไปคุยกับนักวิจัยด้านการแพทย์บ้าง”

“แต่การจะนำความรู้ใหม่ ๆ เข้ามา สิ่งที่ต้องจัดการก่อนคือเคลียร์ขยะในสมองออกก่อน หากอารมณ์, จิตใจ, ความคิด ไม่พร้อม ก็ไม่มีทางที่จะมองเห็นอนาคตของธุรกิจได้ วิธีการของผมคือทำสมองให้ fresh นั่งสมาธิบ้าง เพื่อ clean data รวมถึงออกกำลังกาย หรือขับรถยนต์เองบ้าง จะทำให้สมองโล่ง อีกทั้งหลายครั้งขณะวิ่ง ว่ายน้ำ ผมก็มักจะเกิดไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอ จนกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการต่อจิ๊กซอว์ กระทั่งกลายเป็นชิ้นงานในที่สุด”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว