“สุชาติ” MOU ประวัติศาสตร์ พร้อมส่งแรงงานฝีมือโกยเงินกลับประเทศ

“สุชาติ” ปลื้มเซ็นเอ็มโอยูฉบับประวัติศาสตร์ พร้อมส่งแรงงานไทยไปซาอุฯหวังโกยเงินกลับประเทศ ด้านแรงงานทักษะฝีมือเนื้อหอมเงินเดือนสูงถึง 1แสนกว่า/เดือน ส่วนงานทางเกษตร, อุตสาหกรรม, พนักงานบริการ, นวดแผนไทย แห่ตบเท้าสมัครงานมากที่สุด

MOU ฉบับประวัติศาสตร์

หลังจากที่ประเทศไทยมีนโยบายรื้อฟื้นความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ทั้งยังมีการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2565 โดยมี “นายสุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไทยร่วมเดินทางด้วย พร้อมกับมีการหารือทวิภาคีร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมของซาอุดีอาระเบีย จึงทำให้ทราบว่าซาอุฯมีความต้องแรงงานจำนวนมากกว่า 8 ล้านคน จากหลายประเทศ โดยหนึ่งในนั้นมีประเทศไทยด้วย เพราะแรงงานไทยมีฝีมือและขยัน

หลังจากนั้น ประเทศไทยพยายามผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานระหว่าง 2 ประเทศ พร้อมกับเร่งดำเนินการขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับจัดทำความตกลงด้านแรงงานระหว่างไทย และซาอุดีอาระเบีย จนนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงด้านแรงงาน 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ผ่านมา โดยฉบับแรกเป็นความตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ส่วนฉบับที่สองเป็นความตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานทำงานบ้านระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สาระสำคัญของความตกลงด้านแรงงานทั้ง 2 ฉบับเป็นการกำหนดกระบวนการจัดหางานตามกฎหมายของคู่ภาคี ตั้งแต่การจัดหาจนถึงการส่งกลับประเทศ และให้ความสำคัญลำดับแรกกับการจัดหาแรงงาน โดยการจัดการหรือกำกับโดยรัฐบาลของประเทศคู่ภาคี ที่สำคัญ จะต้องเป็นการจัดหาแรงงานโดยหน่วยงานจัดส่งที่ได้รับการจดทะเบียน และมีจริยธรรม พร้อมกับมีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด ห้ามหักค่าใช้จ่ายจากการตัดเงินเดือนของแรงงาน ทั้งยังมีการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด

“การลงนามความตกลงด้านแรงงานครั้งนี้ นับเป็นก้าวประวัติศาสตร์สำคัญที่จะทำให้การจัดหาแรงงานไทยไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยคำนึงถึงพันธกรณีระหว่างประเทศด้านแรงงานของทั้งสองประเทศ และความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ปกป้องคุ้มครองสิทธิของนายจ้างและแรงงาน รวมถึงการบังคับใช้กฎระเบียบ สัญญาจ้างงานระหว่างกันที่เป็นธรรม โดยแรงงานจะต้องได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ณ วันที่ 29 มีนาคม 2565 มีแรงงานที่ลงทะเบียนเพื่อประสงค์ไปทำงานที่ประเทศซาอุฯ จำนวน 1,274 คน โดยแรงงานที่ประสงค์ไปทำงานมากที่สุดมาจากกรุงเทพมหานคร, อุดรธานี, นครพนม, นครราชสีมา, ขอนแก่น, มหาสารคาม, สุโขทัย, บุรีรัมย์, ชัยภูมิ, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส ส่วนตำแหน่งงานที่แรงงานไทยต้องการทำมากที่สุด ได้แก่ คนงานเกษตร, อุตสาหกรรม, พนักงานบริการ และพนักงานนวดแผนไทย

ค่าแรง

ส่งแรงงานฝีมือโกยเงินซาอุฯ

นายบรรจง ฉุดพิมาย รองประธานที่ปรึกษา สมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน บ็อสส์ดีไล้ท์ แมนพาวเวอร์ จำกัด วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการจัดหาแรงงานตำแหน่งแม่บ้านชาวไทยไปซาอุฯว่า โอกาสในการหาแม่บ้านไทยไปทำงานค่อนข้างน้อย เพราะค่าแรงไม่จูงใจ และจากที่พูดคุยกับนายจ้างซาอุฯมีการเสนอให้ค่าจ้างตำแหน่งแม่บ้านที่ 1,000-1,200 ริยัลซาอุดีอาระเบีย/เดือน หรือคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 8,900-11,000 บาทเท่านั้น

ถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการไปทำงานในประเทศอื่น ๆ จึงคอมเมนต์ไปว่าให้ค่าแรงน้อยมาก และตอนนี้ทางซาอุฯกำลังพิจารณาใหม่ เพื่อหาแนวทางในการนำเข้าแรงงานมุสลิมชาวไทย โดยทางซาอุฯจะช่วยค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีฮัจญ์ให้กับแรงงานกลุ่มนี้

“อย่างไรก็ตาม หากทางไทยหาแรงงานแม่บ้านให้ซาอุฯไม่ได้ในจำนวนที่มากพอ ทางเขาก็คงหันไปหาแรงงานจากประเทศอื่น ๆ เพราะซาอุฯยังขาดแรงงานอีกประมาณ 3.4 ล้านคน ซึ่งผมมองว่าไม่มีปัญหา เพราะเรามีแรงงานด้านอื่นที่จะได้ค่าจ้างดีกว่าส่งไปได้ เช่น วิศวกร, ช่างเชื่อม, ช่างพ่นสี, ช่างไม้ เป็นต้น นอกจากนั้น ไทยยังมีความร่วมมือกับซาอุฯอีกหลายด้าน เช่น การค้าการลงทุน, การส่งออกไก่ เป็นต้น”

“ที่สำคัญ ตอนนี้ค่าแรงเฉลี่ยของแรงงานไทยไร้ทักษะอยู่ที่ 17,000-20,000 บาท/เดือน, แรงงานกึ่งทักษะ 25,500-76,500 บาท/เดือน และแรงงานมีทักษะประมาณ 127,500 บาท/เดือน ดังนั้น ทางไทยจึงเจรจาขอส่งแรงงานกึ่งทักษะ และแรงงานมีทักษะไปก่อน ส่วนเรื่องการจัดหาคนว่าจะให้บริษัทจัดหางานเอกชนในไทยร่วมหรือไม่ และเริ่มหาคนให้เมื่อไหร่นั้น คงต้องรอทาง รมว.แรงงาน กลับมาจากซาอุฯ และมาอัพเดตข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงเรื่องค่าจ้างด้วย”

คนไทยเดินสาย 117 ประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 ระบุว่า มีคนไทยเดินทางไปทำงานทั่วโลกกว่า 117 ประเทศ โดย 3 อันดับแรกที่มีแรงงานไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน 47,852 คน, อิสราเอล 20,074 คน และเกาหลีใต้ 13,876 คน

เนื่องจาก 3 ประเทศดังกล่าวได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลไทย อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำค่อนข้างจูงใจ โดยตามข้อมูลของกรมการจัดหางานระบุอีกว่า แรงงานไทยที่ทำงานในไต้หวันได้รับเงินเดือน 29,322 บาท/เดือน, เกาหลีใต้ 49,907 บาท/เดือน และอิสราเอล 55,300 บาท/เดือน จนทำให้ข้อมูลประมาณการรายได้ที่คนหางานในต่างประเทศส่งกลับผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 38,439 ล้านบาท