นายจ้างผวา “ขึ้นค่าแรง” ทุบซ้ำ ขู่ย้ายฐานผลิต-เอสเอ็มอีโคม่า

นับถอยหลังขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำระเบิดเวลาลูกใหม่ คสรท.-สรส. ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ยืนกรานต้อง 492 บาททั่วประเทศ รมว.แรงงานแจง ส.ค.-ก.ย.รู้ผล 50 สมาคมนายจ้างค้านชี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นสมาคมภัตตาคารไทย หวั่นซ้ำเติมปัญหาเอสเอ็มอีโคม่า หอการค้าหวั่นธุรกิจปิดตัวระนาว-ย้ายฐานผลิตซบประเทศเพื่อนบ้าน

กลับมาเป็นประเด็นที่ร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับประเด็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หลังจากมีการพูดคุยกันในวงกว้างตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีอัตราการปรับขึ้นเป็นวันละ 492 บาท เป็นตัวตั้งในการพิจารณา และขณะนี้อยู่ในช่วงของการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งอาจมาจากปัจจัยลบที่รุมเร้าอย่างหนัก โดยเฉพาะสถานการณ์สงครามที่ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจหลายอย่างปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับค่าครองชีพของประชาชน คนใช้แรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับรายรับในแต่ละเดือน

คสรท.-สรส.เคาะ 492 บาท

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ คสรท.ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นจดหมายเปิดผนึกขอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมกับควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไปมาแล้ว 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 วันที่ 21 มกราคม 2565 และล่าสุด 25 เมษายนที่ผ่านมา โดยค่าจ้างขั้นต่ำที่ขอไปเป็นตัวเลขที่ประนีประนอมและเหมาะสมแล้ว คือวันละ 492 บาท ในอัตราเท่ากันทั่วประเทศ เพราะราคาสินค้าปรับขึ้นพร้อมกันแบบไม่ได้เลือกจังหวัด ตัวเลขนี้มาจากการสำรวจค่าใช้จ่ายแรงงานทั่วประเทศ ประมาณ 3,000 คน

หากนำค่าใช้จ่ายรายวัน และรายเดือน ครอบคลุมค่าอาหาร, ค่าเดินทาง, ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, ค่าเช่าบ้าน, ค่าโทรศัพท์, ค่าอินเทอร์เน็ต, ค่าเลี้ยงดูครอบครัว ฯลฯ ของแรงงานที่ตอบแบบสำรวจมาคำนวณ จะเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 21,382.92 บาทต่อเดือน หรือวันละ 712 บาท คสรท.เห็นว่า 492 บาท น่าจะเพียงพอที่จะช่วยแบ่งเบาภาระได้บ้าง ที่ผ่านมาค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีการปรับมาเกือบ 3 ปีแล้ว ครั้งสุดท้ายที่มีการปรับขึ้นคือ วันที่ 1 มกราคม 2563 แบ่งเป็น 10 อัตรา ตามเขตพื้นที่ ระหว่าง 313-336 บาท นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลมีการควบคุมราคาสินค้า เพื่อเป็นการลดรายจ่ายให้ภาคประชาชน โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคประจำวันที่จำเป็นต้องมีการควบคุมเข้มข้น

“จดหมายเปิดผนึกฉบับล่าสุดยังไม่ได้รับการตอบกลับ แต่ที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ยืนยันว่ามีการปรับแน่ แต่จะปรับเท่าไหร่ต้องเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้าง และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่ง คสรท.มองว่ากระบวนการช้าเกินไป เพราะทุกวันแรงงาน 1 พฤษภาคม หลายรัฐบาลมักจะปรับค่าจ้างให้เป็นของขวัญผู้ใช้แรงงาน”

“สุชาติ” ชี้ ส.ค.-ก.ย.รู้ผล

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงเร่งรัดติดตามเรื่องการพิจารณาปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมาโดยตลอด หากเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่าค่าจ้างแรงงานของไทยสูงกว่าเวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา เป็นรองแค่เพียงสิงคโปร์ ซึ่งการขึ้นค่าแรงแต่ละครั้งจะมีคณะกรรมการค่าจ้างที่เป็นคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล) ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 เป็นผู้พิจารณา และจะมีการพิจารณาเรื่องเงินเฟ้อและค่าครองชีพแต่ละจังหวัดประกอบด้วย

ทั้งนี้ การพิจารณาการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เบื้องต้นมีไทม์ไลน์คือ เม.ย.-มิ.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง สำนักงานแรงงานจังหวัด ทำการสำรวจและประมวลผลค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพฯ ถัดไป ก.ค. 2565 คณะอนุกรรมการจะจัดประชุมพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และส่งผลประชุมให้คณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อพิจารณาในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2565 ในกรณีมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานจะลงนามเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

50 สมาคมนายจ้างค้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ดร.ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ พร้อมด้วยสภาองค์การนายจ้างฯ, สภาอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีแห่งประเทศไทย, สภาองค์การนายจ้างธุรกิจการค้าและบริการไทย, สภาองค์การนายจ้างธุรกิจและอุตสาหกรรมแห่งชาติ และสมาคมนายจ้าง 40-50 สมาคม เข้ายื่นหนังสือผ่าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงจาก 331 บาท เป็น 492 บาททั่วประเทศ และสภาองค์การนายจ้างฯไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนสถานการณ์สู้รบของประเทศเพื่อนบ้าน และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียยังไม่นิ่ง กรณีจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงขอให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนด เนื่องจากสภาองค์การนายจ้างฯ และสมาคมนายจ้างยังไม่เห็นสมควรขึ้นในช่วงนี้ และเห็นสมควรให้คณะกรรมการไตรภาคี โดยฝ่ายภาครัฐเป็นผู้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นผู้นำเสนอ

ยันขึ้น “ค่าแรง” ซ้ำเติมธุรกิจ

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ร้านอาหารเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับขึ้นราคาของสินค้าในกลุ่มอุปโภคและบริโภค รวมถึงราคาพลังงาน อาทิ แก๊สหุงต้ม ค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซล ซึ่งกระทบกับต้นทุนด้านโลจิสติกส์ประมาณ 20% แต่อาหารเป็นสินค้าในกลุ่มที่ปรับขึ้นราคายากมาก เนื่องจากการแข่งขันค่อนข้างสูง และผู้บริโภคมีทางเลือกและสามารถเปลี่ยนแบรนด์ได้ง่าย

ตอนนี้ธุรกิจร้านอาหารกำลังเผชิญกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาปลายทางปรับขึ้นยาก กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักคือ กลุ่มสตรีตฟู้ด และเอสเอ็มอี ขณะที่รายใหญ่ยังมีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ค่อนข้างสูง และยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้

นางฐนิวรรณย้ำว่า สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่กระทบต่อต้นทุนของธุรกิจร้านอาหาร คือ ประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการล้วนได้รับผลกระทบหนัก ต้องแบกรับต้นทุนเรื่องการรักษาการจ้างงาน ขณะที่กำลังซื้อจากต่างประเทศหายไปทั้งหมด จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่กลับมา หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะยิ่งซ้ำเติมอย่างหนัก

ธุรกิจ ตจว.โอด 492 รับไม่ไหว

นายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท จะเป็นการเพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ เนื่องจากปัจจุบันระบบเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้การค้าขายลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงควรปรับเพิ่มตามค่าครองชีพจริงในอัตรา 5-10% จากค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดิม การขึ้นในอัตราที่สูงมากอาจจะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาไปต่อไม่ได้

เช่นเดียวกับ นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า หากค่าแรงปรับขึ้นสูงมาก เกรงว่าจะกระทบกับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก และอาจจะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่าไทย

ขณะที่ นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า อัตรา 492 บาท และขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศนั้น ภาคเอกชนโคราชมองว่าเป็นอัตราที่ค่อนขางสูง คือประมาณ 20% และรู้สึกว่าหนักเกินไป เพราะตอนนี้ยังมีเรื่องภาษีที่ดินที่ผู้ประกอบการจะต้องจ่าย และเป็นภาระหนักมาก อาจทำให้กระทบกับธุรกิจและอาจทำให้ต้องปิดกิจการได้ แต่อีกด้านหนึ่งการขึ้นค่าแรงก็จำเป็น เพราะค่าครองชีพ ค่าใช้จ่าย ปัจจุบันปรับขึ้นสูง รัฐบาลควรพิจารณาการขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ แบบขั้นบันได ค่อย ๆ ปรับขึ้นจะดีกว่า