SCG Symposium ขับเคลื่อน ESG สู่อนาคตยั่งยืน

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

ESG Symposium 2022 : Achieving ESG and Growing Sustainability เป็นการรวมตัวของภาคเอกชน ภาครัฐ ประชาสังคม และพันธมิตรระดับโลกกว่า 315 ราย ร่วมผนึกพลังความร่วมมือด้าน ESG เป็นครั้งแรกในไทย เพื่อมุ่งเร่งแก้วิกฤตซ้ำซ้อน เช่น โลกร้อน อาหารขาดแคลน พิษโควิด-19 ปัญหาเงินเฟ้อ ราคาพลังงานพุ่ง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงและกลุ่มคนรุ่นใหม่

ภายในงานแบ่งออกเป็น 6 ช่วง คือ 1.ESG กุญแจสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืน 2.แนวทางอนาคตอาเซียนยั่งยืน 3.มุมมอง ESG ในบริบทโลก 4.ESG ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ 5.ESG กรณีศึกษา และ 6.โลกป่วยขั้นวิกฤต จะกู้โลกได้อย่างไร ทั้งยังเป็นการเปิดเผยข้อสรุปในการเร่งดันแผนจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ครั้งแรกของประเทศ

ESG กุญแจสู่อนาคตยั่งยืน

สำหรับช่วงแรกของงานสัมมนา “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี บรรยายในหัวข้อ ESG กุญแจสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยกล่าวว่าแนวทาง ESG เป็นทางรอดเดียวที่จะช่วยแก้วิกฤตซ้ำซ้อนที่โลกกำลังเผชิญอยู่ โดยผ่านมา 11 ปี เวที symposium ของ SCG มุ่งเน้นในเรื่อง SD symposium แต่ปีนี้ยกระดับมาสู่ ESG symposium

“เราตั้งเป้าสร้างการเปลี่ยนแปลง และแก้ไขวิกฤตที่เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น ความร่วมมือสร้าง roadmap ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตในประเทศไทย กับสมาคมซีเมนต์และคอนกรีตโลก (Global Cement and Concrete Association-GCCA)

เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยให้ดำเนินนโยบายบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 เพื่อให้เป็นทิศทางเดียวกับระดับโลก”

นอกจากนั้นยังเตรียมนำแผนงานดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม COP 27 ในเดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ประเทศอียิปต์ ทั้งยังมีความร่วมมือแก้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรอย่างยั่งยืนกับ Alliance to End Plastic Waste-AEPW

ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มบริษัทที่ทำงานร่วมกันในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมพลาสติก ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค จนถึงผู้ที่จัดการพลาสติกหลังจากใช้แล้ว เป็นต้น

“ตอนนี้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.1 องศา หากไม่เร่งความร่วมมือแก้ไขจนอุณหภูมิโลกร้อนเกินเป้าหมายที่ 1.5 องศา โลกจะเปลี่ยนแปลงจนเราไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้แบบเดิม ตรงนี้ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกคนทุกหน่วยงานต้องเริ่มลงมือแก้ไขด้วยตนเอง เริ่มจากการปรับพฤติกรรมง่าย ๆ ใกล้ตัว และขยายไปสู่ความร่วมมือเพื่อแก้ไขให้ทันท่วงที

แม้ที่ผ่านมาคนเริ่มตื่นตัว ตระหนักถึงปัญหา และลุกขึ้นมาลงมือทำ แต่ยังไม่ทันต่อวิกฤตโลกที่ทวีความรุนแรงและใกล้ตัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีวิกฤตโควิด-19 ที่กลับมาอีกระลอก โรคระบาดใหม่ที่พร้อมก่อตัว รวมถึงเงินเฟ้อ ความยากจนที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น”

แนวทางอนาคตอาเซียนยั่งยืน

“ดาโตะ ลิม จ็อก ฮอย” เลขาธิการอาเซียน ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Towards a Sustainable and Resilient ASEAN Community ว่า ประชาคมอาเซียน หน่วยงานสหประชาชาติ และภาคีนอกอาเซียนได้ร่วมกันกำหนดแนวทางขับเคลื่อน ASEAN Community Vision 2025 ทั้งหมด 5 ด้าน

ได้แก่ 1.การขจัดความยากจน 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน 4.การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน 5.การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันภัยพิบัติ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2022 จะโฟกัสไปที่ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ การเกษตร, พลังงาน และการคมนาคมขนส่ง เพราะเป็นกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด แต่ข้อดีคือเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีใหม่มาช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ก้าวหน้าที่สุด จึงสามารถเป็นโมเดลขยายผลไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ในอนาคต

ปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกันคือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจากรายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่า

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง 11% ในสิ้นศตวรรษนี้ ดังนั้น วิกฤตดังกล่าว จึงเป็นวาระที่เร่งด่วนที่ต้องเร่งหาสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงในสังคม และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ

ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

สำหรับช่วงเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “โลกป่วยขั้นวิกฤต จะกู้โลกได้อย่างไร” ซึ่งมี “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) พูดถึงปัญหาในมุมมองความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในสังคม และการสร้างความเท่าเทียมทางเพศว่าถ้าจะพูดถึงปัญหาในโลก เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ อาจจะยังไม่ได้ถึงขั้นวิกฤตเมื่อเทียบกับเรื่องปัญหาโลกร้อน แต่ว่าก็เป็นปัญหาที่ไม่สามารถมองข้ามได้

ปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมทางเพศมีหลัก ๆ 3 เรื่อง คือ 1.ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งยูเอ็นระบุว่ามีอุปสรรคกีดขวางผู้หญิงไม่ให้เข้าถึงสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมมากมาย 2.การกระทำรุนแรงต่อสตรีและเด็ก 3.เรื่องความไม่เท่าเทียมด้านการจ้างงาน

“จำนวนผู้หญิงในประเทศไทยมีมากกว่าผู้ชาย แต่ว่ามีการจ้างงานในอัตราที่ต่ำกว่าเพศชาย โดยปัจจุบันผู้หญิงมีงานทำ 46% ขณะที่ผู้ชายมีงานทำ 54% อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศต้องครอบคลุมทั้งเพศหญิงและชาย และรวมถึง LGBTQ+ ด้วย

พราะทุกคนมีส่วนในการร่วมผลักดันขับเคลื่อน ออกเสียงเพื่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ในสังคมได้ ส่วนการแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำ ควรต้องส่งเสริมการสร้างเครือข่ายประสานพลังหญิง ให้ได้มาแลกเปลี่ยนความคิด และสร้างแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน”

ผลักดันไทยบรรลุ Net Zero

“ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม การพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวสรุปว่า จากการระดมสมองของทุกภาคส่วนในงาน ESG Symposium 2022 ได้ข้อสรุป 2 แนวทาง สู่การผลักดันไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ดังนี้

หนึ่ง จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อ net zero ที่ระดมความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชนจากระดับโลกและระดับประเทศ โดยมีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งมีเป้าหมายเร่งทำโรดแมปการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนดีที่สุดมาใช้ในไทย

สอง ผนึกกำลังขยายเครือข่ายความร่วมมือสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ครอบคลุมมิติด้านพลังงานทางเลือก เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยจากการระดมสมองของภาคเอกชนครั้งนี้ จนนำไปสู่ความร่วมมือกับภาครัฐเดินหน้า 10 แนวทางการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

นับว่าการจัดงาน ESG Symposium 2022 ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเร่งขยายพลังความร่วมมือให้มากขึ้นและทันต่อวิกฤตโลก ทั้งในบริบทของสิ่งแวดล้อม สังคมเหลื่อมล้ำ โดยยึดถือความโปร่งใส เป็นพื้นฐานสำคัญในทุกการดำเนินงาน