รำลึกพี่น้องตระกูลกริมม์ ผ่านคอลเล็กชั่นปากกาใหม่ของ Montblanc

คอลเล็กชั่นปากกามงต์บลองค์

Montblanc ออกคอลเล็กชั่นปากกาใหม่เพื่อรำลึกและให้เกียรติถึงการรังสรรค์เทพนิยายของพี่น้องตระกูลกริมม์ นักเขียนในศตวรรษที่ 19

วันที่ 22 กันยายน 2565 มงต์บลองค์ (Montblanc) ออกคอลเล็กชั่นใหม่ “Writers Edition” ที่แสดงความเคารพต่อขนบประเพณีในการเล่าขานเรื่องราว และมนต์เสน่ห์ของเทพนิยายที่ยาคอบ และ วิลเฮล์ม กริมม์ หรือที่รู้จักกันดีในนามพี่น้องตระกูลกริมม์

ยาคอบ และวิลเฮล์ม กริมม์ เป็นนักวิชาการและนักภาษาศาสตร์ชาวเยอรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยคุณูปการสำคัญของทั้งคู่ คือการรวบรวมและตีพิมพ์นิทานพื้นบ้าน รวมถึงเทพนิยายให้เป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยมไปทั่วโลก อาทิ ซินเดอเรลลา เจ้าชายกบ เจ้าหญิงนิทรา หนูน้อยหมวกแดง และสโนว์ไวต์ นับว่าเป็นนักเล่านิทานที่มีชื่อเสียงคู่หนึ่งในยุโรปเลยทีเดียว

ทั้งนี้ มงต์บลองค์ได้มองเห็นความสำคัญของปากกาที่มีความสัมพันธ์กันโดยตรงกับการเขียนและการสร้างสรรค์เรื่องราวต่าง ๆ และจากผลงานของพี่น้องตระกูลกริมม์ จึงทำให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบปากกาสุดพิเศษขึ้น ซึ่งล้วนแฝงไปด้วยความหมายและเรื่องราวจากเทพนิยายที่ทั้งคู่ได้สร้างไว้

นักเล่านิทานพเนจร

การเป็นนักเล่านิทานพเนจรถูกถ่ายทอดออกมาผ่านรูปทรงของปากกาที่คล้ายไม้เท้า สื่อถึงนักเล่านิทานที่เดินทางไปกับไม้เท้าเพื่อเล่านิทานในหมู่บ้านต่าง ๆ ผสมผสานกับรากไม้ สื่อถึงการค้นคว้าของทั้งคู่ในเรื่องรากภาษา นอกจากนี้ บนปากกายังมีการสลักคำว่า “ES WAR EINMAL…” หรือ “กาลครั้งหนึ่ง” คำพูดที่โด่งดังและคุ้นหูเมื่อมีการเล่านิทาน

คอลเล็กชั่นปากกาจากผลงานของพี่น้องกริมม์

สองพี่น้องตระกูลกริมม์ได้สร้างสรรค์ผลงานนิทานและเทพนิยายไว้หลายเรื่อง โดย Montblanc ได้รำลึกและออกแบบปากกาผ่านนิทานสุดโด่งดัง 4 เรื่องด้วยกัน คือ ราพันเซล เจ้าหญิงนิทรา ฮันเซลกับเกรเทล และสโนว์ไวต์

ราพันเซล เทพนิยายเยอรมันในงานสะสมที่พี่น้องตระกูลกริมม์รวบรวม ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1812 เรื่องราวของหญิงสาวที่ถูกแม่ใจร้ายขังไว้บนหอคอยสูง แม่ของเธอขึ้นลงหอคอยนั้นโดยให้ราพันเซลปล่อยผมลงมา แต่แล้วราพันเซลก็ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าชาย

โดยราพันเซลปล่อยผมลงมาและให้เจ้าชายขึ้นไปช่วย นิทานเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดผ่านปากกาสีดำ Homage to Brothers Grimm Limited Edition ที่มีลวดลายเส้นคลื่นสื่อถึงผมของราพันเซล และยังมีการสลักตัว R และเลข 12 ที่แสดงถึง Rapunzel ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1812 นอกจากนี้ ยังสลักคำว่า “GÖTTINGER SIEBEN” หมายถึง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน (Göttingen) ที่สองพี่น้องเคยศึกษาและเขียนพจนานุกรมภาษาเยอรมันขึ้น

คอลเล็กชั่นปากกามงต์บลองค์

เจ้าหญิงนิทรา เจ้าหญิงที่หลับไหลไปอย่างยาวนาน ไร้ซึ่งความฝัน ปราสาทถูกทิ้งร้าง และปกคลุมด้วยป่ากุหลาบที่เต็มไปด้วยหนาม จนกระทั่งตื่นขึ้นจากการจุมพิตของเจ้าชาย ตีพิมพ์ในหนังสือ “Kinder- und Hausmärchen” ครั้งแรกใน ค.ศ. 1812 เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กุหลาบป่าน้อย (Dornröschen) เทพนิยายเรื่องนี้ถูกสื่อออกมาเป็นปากกาสีทอง Homage to Brothers Grimm Limited Edition 1812 มีลวดลายเป็นต้นไม้ต่าง ๆ ที่ปกคลุมรอบปราสาท และมีการสลักชื่อชุดของเทพนิยาย ปีที่พิมพ์ และตัวอักษร D ซึ่งย่อมาจาก Dornröschen ชื่อเรื่องในภาษาเยอรมัน

คอลเล็กชั่นปากกามงต์บลองค์

ฮันเซลกับเกรเทล เทพนิยายเรื่องชื่อที่บันทึกโดยพี่น้องตระกูลกริมม์ และตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1812 เป็นเรื่องราวของเด็กสองคนที่ถูกพ่อแม่ทิ้งไว้กลางป่าและพยายามหาทางกลับบ้าน แต่กลับไปพบกับแม่มด โดยเด็กทั้งสองคนสามารถหนีรอดมาได้พร้อมสมบัติมหาศาล เทพนิยายเรื่องนี้ถูกออกแบบผ่านปากกา Homage to Brothers Grimm Limited Edition 86 สีดำทอง เพื่อสื่อถึงป่าที่มืดมิดและเปลวไฟที่เผาแม่มดในตอนจบของเรื่อง มีการสลักอักษร H แทนชื่อฮันเซลกับเกรเทลด้วย

คอลเล็กชั่นปากกามงต์บลองค์

เรื่องสุดท้าย คือ สโนว์ไวต์ ที่ดั้งเดิมเป็นนิทานพื้นบ้านของยุโรปแต่พี่น้องตระกูลกริมม์ได้เพิ่มตัวละครลงไปซึ่งทำให้เกิดความสนุกสนานมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น กระจกวิเศษ และคนแคระทั้งเจ็ด สโนว์ไวต์เป็นที่ต้องการกำจัดของแม่เลี้ยงชั่วร้าย เนื่องจากระจกวิเศษบอกว่าสโนว์ไวต์นั้นงามเลิศที่สุดในปฐพี สโนว์ไวต์ถูกหลอกให้กินแอปเปิลพิษ แต่ก็รอดมาได้จากความช่วยเหลือของเจ้าชาย

นิทานเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านปากกา Homage to Brothers Grimm Limited Edition 8 ที่มีลวดลายเป็นใบไม้ในป่ารวมทั้งภาพแอปเปิลที่ปลายปากกา และทำจากไวต์โกลด์สื่อถึงแร่ที่คนแคระทั้งเจ็ดนั้นขุดพบ และตัวด้ามเป็นหินร็อกคริสตัลที่ทำให้เกิดเหลี่ยมมุมเพื่อสื่อถึงโลงศพของสไนว์ไวต์ และมีการสลักตัวอักษร S ที่หมายถึง สโนว์ไวต์ด้วย

คอลเล็กชั่นปากกามงต์บลองค์

ที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของผลงานเทพนิยายที่รังสรรค์โดยพี่น้องตระกูลกริมม์เท่านั้น โดยทั้งคู่อุทิศตนทำงานด้านภาษาศาสตร์จนถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต นั่นคือการทำพจนานุกรมภาษาเยอรมัน โดยตัวอักษร F เป็นตัวสุดท้ายในพจนานุกรมที่พวกเขาค้นคว้าถึง