GRAMMY AWARDS สะท้อนวงการดนตรี โลกที่หญิง-ชายไม่เท่ากัน

ท้องฟ้าสีเทา : เรื่อง

แกรมมี่ อวอร์ดส (Grammy Awards) รางวัลทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเพิ่งจัดงานประกาศรางวัลไป ศิลปินที่สปอตไลต์ส่องที่สุดในงานก็คือ บรูโน มาร์ส (Bruno Mars) ที่เหมารางวัลใหญ่ 3 รางวัลไปคนเดียว บวกกับรางวัลในสาขาเพลงอาร์แอนด์บีอีก 3 รวมเป็น 6 รางวัล รองลงมาก็คือแรปเปอร์ไฟแรง เคนดริก ลามาร์ (Kendrick Lamar) ที่กวาดเรียบ 4 รางวัลในสาขาเพลงแรปแบบไม่เกรงใจรุ่นพี่ เจย์-ซี (Jay-Z)

บรรยากาศงานประกาศรางวัลแกรมมี่ปีนี้ ศิลปินต่างติดเข็มกลัดดอกกุหลาบสีขาว เป็นการแสดงจุดยืนต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นวาระต่อเนื่องของวงการบันเทิง หลังจากที่คนวงการภาพยนตร์ได้ร่วมกันแสดงจุดยืนนี้มาก่อนในงานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำโดยการสวมชุดสีดำ

ด้วยความที่งานลูกโลกทองคำแสดงจุดยืนต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศอย่างหนักมาก ผู้คนจึงคาดหวังมาตรฐานใกล้เคียงกันจากวงการเพลง จึงมีการเรียกร้องให้เวทีแกรมมี่แสดงจุดยืนเรื่องนี้ แต่สถาบันการบันทึกเสียง (The Recording Academy) ผู้ก่อตั้งและจัดงานมอบรางวัลแกรมมี่ออกมาบอกว่า รางวัลนี้ก่อตั้งขึ้นมาโดยไม่มีเป้าหมายทางการเมือง ฉะนั้นจึงไม่กำหนดวาระทางการเมืองใด ๆ แต่ก็เปิดพื้นที่ในงานให้ศิลปินแสดงจุดยืนของตัวเองได้อย่างอิสระ

ในขณะที่ทั้งโลกกำลังตื่นตัวต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ และความไม่เท่าเทียมทางเพศ ก่อนจะถึงวันงานกลับมีข่าวว่าการประกาศผลรางวัลแกรมมี่ไม่มีความเท่าเทียมทางเพศ

ประเด็นนี้ถูกจุดขึ้นมา เพราะว่า ลอร์ด (Lorde) นักร้องหญิงคนเดียวที่ได้เข้าชิงรางวัล “อัลบั้มแห่งปี” ปฏิเสธการแสดงในงาน โดยปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้จัดงานเสนอให้ลอร์ดขึ้นเวทีแสดงร่วมกับศิลปินหลายคน ในขณะที่ศิลปินอื่น ๆ ที่เข้าชิงรางวัลนี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ชายได้รับข้อเสนอให้แสดงเดี่ยว อย่าง เคนดริก ลามาร์ (Kendrick Lamar) ชิลดิช แกมบิโน (Childish Gambino) และบรูโน มาร์ส ที่มีเพียงสาวคาร์ดี้ บี ร่วมโชว์ หรืออย่างสมาชิกวงดนตรีรุ่นใหญ่ U2 ที่ได้ขึ้นเวทีปรากฏตัวในการแสดงถึง 3 ครั้ง ทั้งที่ไม่ได้มีชื่อเข้าชิงรางวัลเพราะการจัดการแสดงที่สร้างความไม่พอใจให้เธอ สาวลอร์ดจึงตัดสินใจปฏิเสธการแสดง

ก่อนจะถึงวันงานลอร์ดไม่ได้ออกมาให้ข่าวหรือแสดงความรู้สึกใด ๆ ในประเด็นนี้ มีเพียงแม่ของเธอที่ทวีตภาพบทความจากหนังสือพิมพ์ The New York Times ที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศในอุตสาหกรรมดนตรี โดยเธอบอกว่า “บทความนี้บอกทุกอย่าง”

จนกระทั่งวันงาน จึงได้เห็นความเคลื่อนไหวจากเจ้าตัว ลอร์ดสวมชุดสีแดงเข้าร่วมงานและไม่ได้ติดดอกกุหลาบสีขาว แต่เธอแปะกระดาษสีขาวไว้ที่หลัง และเธอบอกว่ากระดาษแผ่นนี้คือกุหลาบสีขาวในแบบของเธอ ในกระดาษเขียนข้อความที่พูดถึงการที่ผู้ถูกกดขี่หมดความอดทนลุกฮือขึ้นต่อต้านผู้กดขี่ ซึ่งเป็นข้อความจากผลงานของศิลปินเฟมินิสต์ เจนนี่ โฮลเซอร์ (Jenny Holzer)

ในบทความที่แม่ของนักร้องสาวนำมาโพสต์ลงทวิตเตอร์นั้นมีข้อมูลจากการศึกษาของ ดร.สเตซี่ แอล. สมิธ จากมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น แคลิฟอร์เนีย ที่บอกว่า ในการประกาศรางวัลแกรมมี่อวอร์ดส แม้ว่ามีศิลปินหญิงประสบความสำเร็จ อย่างเช่น บียอนเซ่ (Beyonce), เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) และอะเดล (Adele) แต่รางวัลส่วนใหญ่เป็นของผู้ชาย

การศึกษาพบว่า จากจำนวนศิลปินนักร้อง 899 คนที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแกรมมี่ 6 ปีล่าสุด เป็นผู้ชาย 90.7% มีเพียง 9.3% เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง และผู้หญิงมักจะได้เข้าชิงรางวัลในสาขาศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม ส่วนรางวัลใหญ่ ๆ อย่าง เพลงแห่งปี อัลบั้มแห่งปี ส่วนมากยังเป็นศิลปินชายที่ได้เข้าชิง ซึ่งข้อมูลจากการศึกษานี้ก็ตรงกับข้อเท็จจริงในปีนี้ เพราะรางวัลสำคัญ ๆ ในสาขาที่ครอบคลุมผลงานเพลงพ็อป อาร์แอนด์บี ร็อก แรป มีศิลปินหญิงได้รับรางวัลไปสาขาเดียว คือ อเลสเซีย คารา (Alessia Cara) ที่ได้รางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม

ประเด็นที่ผู้จัดงานไม่ให้ลอร์ดขึ้นแสดงเดี่ยว สร้างความคลางแคลงสงสัยถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เรื่องนี้ก็ไม่เด่นชัดพอที่จะสรุปได้ในทันที เนื่องจากยังมีศิลปินหญิงหลายคนได้แสดงเดี่ยว ทั้ง เลดี้ กาก้า (Lady Gaga) พิงก์ (Pink) เพียงแต่สิทธิ์นั้นไม่ได้เป็นของสาวลอร์ด ซึ่งถ้าพิจารณาตามหลักเหตุผลเธอควรได้แสดงเดี่ยวมากกว่าศิลปินสาวคนอื่นที่ไม่ได้มีชื่อเข้าชิงรางวัล

ส่วนประเด็นที่ศิลปินชายเข้าชิงรางวัลมากกว่าศิลปินหญิง จะสรุปว่าคณะกรรมการตัดสินรางวัลเอียงไปทางเพศชายมากกว่าหญิง ก็ไม่ควรด่วนสรุปขนาดนั้น เพราะหากมีการแจกแจงเกณฑ์การให้คะแนน และเอาคะแนนมาเปิดเผย ก็คงเห็นว่าผลงานของศิลปินชายได้คะแนนสูงกว่าผลงานของศิลปินหญิงจริง ถ้าจะหาข้อสรุปจริง ๆ คงต้องมีการศึกษาลงลึกไปถึงเกณฑ์การให้คะแนนว่ากำหนดมาเอื้อประโยชน์ต่อศิลปินชายหรือไม่

การศึกษาของ ดร.สมิธไม่ได้โฟกัสที่รางวัลแกรมมี่ อวร์ดส แต่เป็นการศึกษาเรื่องความหลากหลายทางเพศในภาพรวมของอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นไปอีก โดยการศึกษาได้พบข้อมูลว่า ในช่วง 6 ปีมานี้ผู้หญิงมีบทบาทในวงการเพลงน้อยลง และข้อมูลนำมาสู่ข้อสรุปว่า อุตสาหกรรมดนตรีคือโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่

การวิเคราะห์ข้อมูล 600 เพลงยอดนิยมในปี 2012-2017 จากชาร์ต Year-End Hot 100 ของบิลบอร์ดในแต่ละปี พบว่าจากศิลปินทั้งหมดในชาร์ตจำนวน 1,239 คน เป็นศิลปินหญิง 22.4%

ตัวเลขยิ่งน้อยลงไปอีกเมื่อไปดูที่คนทำงานเบื้องหลัง ในจำนวนนักแต่งเพลง 2,767 คนที่มีชื่อในเครดิตเพลงเหล่านั้น เป็นผู้หญิง 12.3% เท่านั้น ส่วนโปรดิวเซอร์หญิงนั้นมีน้อยถึงขั้นหายาก เพราะมีเพียง 2% จากจำนวนเพลง 300 เพลงในช่วงเวลาเดียวกัน

ดร.สมิธกล่าวว่า ทีมงานของเธอวางแผนจะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวงการเพลง รวมถึงการมองไปที่ผู้หญิงในกลุ่มผู้บริหารและการจ้างงานในธุรกิจนี้ โดยมีเป้าหมายขจัดความเหลื่อมล้ำในอุตสาหกรรมบันเทิง

การแสดงออกของลอร์ดในงานแกรมมี่ อวอร์ดส เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าจะทำให้คนในอุตสาหกรรมดนตรีได้ฉุกคิดเรื่องนี้ หลังจากนี้คงต้องรอให้มีผู้กล้าลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้หลาย ๆ คน เพื่อผลักดันให้มีการเอาข้อเท็จจริงเอาข้อมูลหลักฐานมาถกกัน หากพบว่ามีเจตนากีดกันทางเพศจริงก็จะได้ร่วมกันหาทางออกต่อไป อย่างที่ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศได้ก้าวไปก่อนแล้ว