เชิญชวนประกวดผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา 

เชิญชวนผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรมทั่วประเทศ ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” โดยส่งผลงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคม – 4 สิงหาคม 2566 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สมัคร 

วันที่ 2 เมษายน 2566 กระทรวงมหาดไทยแถลงข่าวโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ณ มณฑาทิพย์ ฮอลล์ ต.หมากแข้ง อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี 

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยรายละเอียดของโครงการว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” โดยมีเป้าหมายกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ รวม 5,000 ชิ้น ร่วมโครงการฯ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ผ่านการประกวดผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา 

โครงการจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-4 สิงหาคม 2566 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สมัคร 

การตัดสินการประกวดระดับภาค และรอบก่อนรองชนะเลิศ กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดพื้นที่ 5 จุดดำเนินการ ในระดับภาค 4 ภาค และรอบก่อนรองชนะเลิศ ได้แก่ 1.ภาคกลาง วันที่ 18-19 สิงหาคม 2. ภาคใต้ วันที่ 25-26 สิงหาคม 3. ภาคเหนือ วันที่ 1-2 กันยายน 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 1-10 กันยายน และ 5. กรุงเทพมหานคร วันที่ 23-24 กันยายน (รอบก่อนรองชนะเลิศ) 

การตัดสินการประกวดระดับประเทศ รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) ในวันที่ 30 กันยายน 2566 และรอบตัดสินระดับประเทศ (Final) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2566

Advertisment

ประกวดผ้า ผ้าลายดอกรักราชกัญญา

สำหรับหลักเกณฑ์การประกวดในปีนี้ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยอธิบายว่า ผู้ที่จะส่งผ้าเข้าประกวดต้องเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้า หรือช่างงานหัตถกรรมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่สมัครเข้าประกวด 

Advertisment

โดยมีหลักเกณฑ์การส่งผลงานเข้าประกวด เช่น ผู้เข้าประกวดต้องส่งผลงานตามภูมิลำเนาที่ผลิต และผ้าที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผ้าทอมือ หรือทำจากมือเท่านั้น ไม่รับพิจารณาผ้าที่ทอจากกี่กระตุกหรือระบบอุตสาหกรรม โดยต้องเป็นผ้าที่ตัดจากกี่ ไม่ผ่านการซัก อบ รีด หรืออาบน้ำยาเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้น ผ้าบาติก ผ้าพิมพ์ลาย ผ้ามัดย้อม และไม่รับพิจารณาผ้าที่เย็บเป็นถุง/เย็บริมผ้าด้วยจักร และผ้าและงานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นไหมพันพื้นบ้าน หรือฝ้ายเข็นมือ และต้องระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างละเอียด 

ทั้งนี้ ผ้าหรืองานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวดสามารถนำลายโบราณของแต่ละท้องถิ่นมาผสมผสานกับผ้าลายพระราชทาน “ลายดอกรักราชกัญญา” ได้ทุกประเภท 

โดยการส่งผ้าหรืองานหัตถกรรมเข้าประกวดในรอบระดับภาค ให้บรรจุบห่อได้ตามความเหมาะสม เช่น บรรจุผ้าลงในถุงซิปใสหรือม้วน เป็นต้น พร้อมแนบใบสมัคร 

ในการรับสมัครระดับจังหวัด ผู้สมัครส่งผลงานผ้าหรืองานหัตถกรรมให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด พร้อมกรอกรายละเอียดแนวคิดในการทำบรรจุภัณฑ์ และเรื่องราวของผ้าในใบสมัคร โดยยังไม่ต้องส่งบรรจุภัณฑ์จริง 

จากนั้น หากชิ้นงานผ่านเข้ารอบระดับประเทศผู้สมัครต้องส่งบรรจุภัณฑ์จริง และเรื่องราวของผ้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาให้คะแนนในลำดับถัดไป 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวในการแถลงข่าวว่า นับเป็นบุญของคนไทยทุกคนที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเพียรพยายามมามากกว่า 50 ปี นับตั้งแต่ที่บ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนมในปี 2513 ก่อกำเนิดเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพัฒนาเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ 

และยิ่งเป็นความโชคดีของคนไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมทรงขับเคลื่อนการพัฒนา ยกระดับ และส่งเสริมให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าของผ้าไทย เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยทรงนำองค์ความรู้ทางวิชาการทั้งด้านแฟชั่นสมัยใหม่ ศิลปะ การตลาด มาต่อยอด ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จ เช่น แบรนด์ขวัญตาของน้องอ๋อย สุมามาลย์ เต๊จ๊ะ ที่สามารถน้อมนำพระราชดำริ มาทำเป็นผืนผ้าที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ตามแฟชั่นสมัยใหม่สอดคล้องความต้องการของตลาด

“เราต้องตระหนักถึงวงจรของผ้าไทยที่ในท้ายสุดล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังที่พระองค์ท่านทรงเป็นแรงบันดาลใจในการทำให้ไทยช่วยไทย ด้วยการนำเม็ดเงินของคนไทยและชาวต่างชาติมาอุดหนุนคนไทยที่มีความสามารถในการนำเทคนิคต่าง ๆ มาทำให้ผ้าไทย ทั้งผ้าแพรวา ผ้าขิด ผ้ามัดหมี่ ผ้ายกดอก หม้อห้อม ผ้าปัก Eco Print ผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ ผ้ายก กลับมามีความนิยม”

“ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการต่อยอดภูมิปัญญา โดยมีคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการทอผ้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำให้ผ้าไทยพัฒนาจนมีมูลค่าที่สูงขึ้น โดยนำแบบเก่ามาประยุกต์ และผสมผสานบนผ้าผืนเดียวกัน”

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สำคัญที่พระองค์ท่านได้พระราชทาน นอกจากการทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว คือทรงให้ความรู้เรื่องความยั่งยืน โดยทรงสอนให้ใช้สีจากธรรมชาติ ใช้เส้นไหมและฝ้ายที่มาจากการปลูกฝ้าย และปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำให้เป็น Sustainable Fashion หรือ แฟชั่นแห่งความยั่งยืน และล่าสุดองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกได้รับรอง carbon footprint ว่าผ้าไทยเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เพราะไหมและฝ้ายที่ทุกคนได้น้อมนำพระดำริมาขับเคลื่อนนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นผืนผ้ารักษ์โลก