จิม ทอมป์สัน ร่วมฉลอง Pride Month หนุนความต่างอย่างเท่าเทียม

จิม ทอมป์สัน

จิม ทอมป์สัน ร่วมฉลอง Pride Month หนุนความต่างอย่างเท่าเทียม ดึง 3 อินฟลูเอนเซอร์ LGBTQIA+  สะท้อนแนวคิด-ส่งเสียงสร้างการเปลี่ยนแปลง ชวนทุกคนยอมรับความต่างบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคของทุกเพศสภาพอย่างแท้จริง

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 จิม ทอมป์สัน ร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ภายใต้แนวคิด “Beyond Gender”

โดยดึง 3 อินฟลูเอนเซอร์ LGBTQIA+ ชื่อดัง เป็นกระบอกเสียงกระตุ้นเตือนสังคมไทยและภาครัฐให้เปิดรับความหลากหลายที่ไม่ใช่แค่ฉากหน้า แต่ลงลึกถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต ตลอดจนสิทธิทางกฎหมายต่าง ๆ ให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ผู้คนทุกเพศสภาพสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างเสมอภาคและมีความสุขอย่างแท้จริง

ผู้มีอำนาจต้อง “Take action”

ปุ้ย-ลลิตา เบศรภิญโญวงศ์ ตำแหน่ง Store Manager และ High Jewelry Expert แห่ง Bulgari Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งใน Role model ของคนทำงานสายแฟชั่นเมืองไทย เผยมุมมองการยอมรับชาว LGBTQIA+ โดยทั่วไปดีขึ้น เนื่องจากกระแส Globalization ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีอีกหลายด้านที่ยังต้องรอลุ้นกันต่อไป

“ในเรื่องสิทธิของชาว LGBTQIA+ บางคนอาจรู้สึกว่าพัฒนาช้า บางอย่างควรจะมีได้แล้ว เช่น การทำงานในอาชีพ Traditional ซึ่งยังไม่เปิดกว้างจนทำให้ชาว LGBTQIA+ เจออุปสรรคไม่น้อย เรื่องนี้ถูกชูประเด็นและผลักดันกันมานานมาก จนแทบจะสุดกำลังของภาคประชาชนแล้ว เหลือแต่กลุ่มผู้มีอำนาจระดับปกครองเท่านั้นที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง ๆ

ปุ้ย-ลลิตา เบศรภิญโญวงศ์

รวมไปถึงเรื่องคำนำหน้าชื่อ เราคิดถึงเพื่อนกลุ่ม Transgender ซึ่งต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศบ่อย ๆ คือเขาเปลี่ยนร่างกายหมดแล้ว แต่หน้าพาสปอร์ตยังเป็นเพศกำเนิด ทำให้เกิดความลำบากในการเดินทาง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องของธุรกรรมบางอย่างที่ค่อนข้างสำคัญอีกหลายอย่าง ฉะนั้น การผลักดันเพื่อช่วยประชาชนในส่วนนี้น่าจะช่วยให้เราใช้ชีวิตกันได้อย่างปกติและง่ายขึ้นมาก” ปุ้ย-ลลิตากล่าว

สังคมไทยต้องเปิดรับให้ได้จริง

อีกหนึ่งอินฟลูเอนเซอร์ชาว LGBTQIA+ ชื่อดัง บุญรอด อารีย์วงษ์ เจ้าของช่องยูทูบ Poocao Channel ซึ่งเคยมีประสบการณ์ที่ไม่สู้ดีนักและต้องพบกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตจากการบูลลี่และการเลือกปฏิบัติของคนรอบข้าง ได้เผยความในใจเกี่ยวกับการยอมรับกลุ่ม LGBTQIA+ ในเมืองไทยว่า สังคมไทยเหมือนจะยอมรับได้ แต่ลึก ๆ อาจยังไม่ได้ยอมรับ เพราะเขาไม่ได้ตระหนักว่าคนทุกคนเท่ากัน แม้แต่นโยบายของภาครัฐก็ยังไม่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อ LGBTQIA+ อย่างชัดเจน

บุญรอด อารีย์วงษ์

“ต้องบอกว่ามีผลมาก ๆ ต่อการประกอบอาชีพ อย่างเรามีทั้งความบกพร่องทางด้านร่างกาย ยิ่งยากแบบทวีคูณ คือเราหางานทำยากมาก หลายบริษัทไม่รับเพราะเราเป็น LGBTQIA+ และพิการด้วย เรารู้สึกว่าไม่ควรเป็นอย่างนี้เพราะเรามีความสามารถ สังคมควรเปลี่ยนความคิดได้แล้ว เพราะทุกคนมีความสามารถไม่ว่าจะเป็นเพศไหนหรือร่างกายแบบไหนก็ตาม เขาก็มีสิทธิได้ทำงานที่อยากทำ อย่างตอนที่เราไปสมัครงานแล้วเขาปฎิเสธ เขาให้เหตุผลว่าเพราะร่างกายแบบนี้และยังเป็น LGBTQIA+ อีก”

นอกจากนี้ บุญรอดยังได้กล่าวถึงความฝันของตนว่า “เราอยากเปิดโรงเรียนสอนโขนเพราะเราชอบรำ และอยากให้สังคมเปิดรับความหลากหลายทางเพศได้จริง ๆ เพราะความสามารถเป็นตัววัดคุณค่าที่แท้จริง เราควรดูที่ศักยภาพของคนคนนั้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด” บุญรอดกล่าว

คำนำหน้าชื่อไม่ใช่ข้อจำกัดอาชีพ

เอิ้ก-ชาลิสา โชติจิรสถิตย์ ยูทูบเบอร์ชื่อดังแห่งช่อง Chrrissa Chotijirasathit เจ้าของเพลงฮิตติดหูคนไทยอย่างเลือดกรุ๊ปบี ยอมรับสังคมไทยเริ่มเปิดกว้างกับชาว LGBTQIA+ แต่ก็ยังไม่มากพอ

“ส่วนตัวอยากเห็น LGBTQIA+ ในบริบท ครู นักการเมือง หรือนักกีฬา ให้มากขึ้น เพราะทุกพื้นที่มีชาว LGBTQIA+ อยู่แล้ว อยากให้สังคมดูคนที่ความสามารถ โดยไม่ต้องดูเพศสภาพหรือคำนำหน้าชื่อ เพราะสุดท้ายแล้วคนเราจะเก่ง ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะนายหรือนางสาว แต่อยู่ที่ตัวคนและผลงาน คือต้องยอมรับว่าคนคนนี้เก่ง โดยไม่ต้องผูกกับคำว่านายและนางสาว เพราะจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้สำคัญอะไร”

เอิ้ก-ชาลิสา โชติจิรสถิตย์

นอกจากนี้ เอิ้กยังกล่าวอีกว่า คนส่วนใหญ่คิดว่า LGBTQIA+ หรือสาวประเภทสองจะต้องตลก มีคนเคยถามว่าทำไมถึงไม่ไปสมัครนางโชว์ คือไม่ใช่ว่า LGBTQIA+ จะเป็นนางโชว์ได้เลย ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ความชอบของแต่ละคนว่าใครอยากทำอะไร ชอบอะไร

ทั้งนี้ จิม ทอมป์สัน เชื่อมั่นในโลกแห่งความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ ภูมิหลัง วัฒนธรรม และความสามารถของผู้คน ค่านิยมนี้ยังครอบคลุมทุกแง่มุมและทิศทางการดำเนินงานของบริษัท

โดยเมื่อไม่นานมานี้ ทางแบรนด์ได้เปิดตัวแท็กไลน์ใหม่ “Beyond Silk” เพื่อสื่อสารถึงวิวัฒนาการของแบรนด์ซึ่งในปัจจุบันก้าวไกลกว่าการเป็นเพียงแบรนด์ผ้าไหม แต่ยังขยายธุรกิจจนครอบคลุมทั้งสินค้ากลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับชีวิตยุคใหม่ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมต่อยอดความเจริญและสร้างเสริมคุณค่าใหม่ ๆ สู่สังคมไทย เช่นเดียวกับการร่วมส่งเสริมความหลากหลายในเทศกาล “Pride Month” ในครั้งนี้