มูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภา ส่งนักเรียนทุนจบสาขาสร้างเครื่องดนตรีไทยคนแรกของประเทศ

มูลนิธิวิชัย

มูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภา ส่งนักเรียนทุนจบ สาขาเทคโนโลยีการสร้างเครื่องดนตรีไทย สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา คนแรกของประเทศ

วันที่ 12 มิถุนายน 2566 ด้วยพลังแห่งความเชื่อมั่นในความคิดและแรงขับเคลื่อนที่ว่า “ชีวิตไม่หยุดค้นหาความเป็นไปได้” (ThePowerOfPossibilities) นับเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ “มูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภา” ได้สนับสนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดโอกาสและทุนทรัพย์ของ “โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ในสาขาเทคโนโลยีการสร้างเครื่องดนตรีไทย”

โดยล่าสุด “นายภัทรพงศ์ พรมพินิจ” นักศึกษาจากทุนมูลนิธิ คือนักเรียนคนแรกในประเทศที่จบสาขานี้

“ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ” ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ กล่าวว่า สาขาเทคโนโลยีการสร้างเครื่องดนตรีไทย เกิดจากพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ เปิดหลักสูตรสาขาวิชาการสร้างเครื่องดนตรีไทยขึ้นในปี 2561 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

“นายภัทรพงศ์ พรมพินิจ”

เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดนตรีไทย ให้สามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้ใน 3 ศาสตร์ ได้แก่ “สร้าง ซ่อม ใช้” คือ สร้างเครื่องดนตรีเองได้ ซ่อมเป็น และเล่นได้

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ได้พระราชทานคำแนะนำในการรวมครูช่างผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกสาขาดนตรีไทยมาร่วมระดมความคิดและสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนนี้ให้เกิดขึ้น

แม้ปัจจุบันสาขานี้มีนักเรียน 5 รุ่น จำนวน 23 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากเพราะแต่ละปีโรงเรียนสามารถรับนักเรียนได้เพียง 5 คน เนื่องจากมีต้นทุนสูงเรื่องอุปกรณ์ในการฝึกสอนและอาจารย์ที่ต้องดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด แต่ก็สามารถเติบโตขึ้นได้เนื่องจากได้รับการสนับสนุนทุนจากมูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภา ในการบริหารจัดการจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ปีแรกของการเปิดหลักสูตร

ที่สำคัญวิชานี้เป็นสาขาเฉพาะทางต้องมีความรู้ครบองค์ประกอบของเครื่องดนตรีทุกชิ้น ดังนั้น จึงเป็นที่ต้องการของตลาด และอยากให้เด็กไทยที่สนใจเข้ามาเรียน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์มรดกไทยให้คงอยู่ไว้ตลอดไปและอนาคตจะมีการพัฒนาหลักสูตรจนถึงระดับปริญญาตรี ซึ่ง “นายภัทรพงศ์ พรมพินิจ” ถือเป็นนักเรียนคนแรกในประเทศที่จบสาขานี้

นักเรียนทุนมูลนิธิ คนแรกของประเทศที่จบสาขานี้

นายภัทรพงศ์ พรมพินิจ นักเรียนทุนของมูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภา กล่าวว่า ตนเล่นดนตรีไทยมาตั้งแต่ ป.3 เริ่มจากเครื่องประกอบจังหวะอย่าง ฉิ่ง ฉับ กลอง ก่อนขยายไปสู่ฆ้องวงใหญ่ ระนาด และอื่น ๆ จนเริ่มอยากรู้เกี่ยวกับดนตรีไทยมากขึ้นและใฝ่ฝันว่าจะสามารถสร้างเครื่องดนตรีไทยเองได้

เมื่อรู้ว่าโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพมีการเปิดสาขานี้จึงมาสมัคร เริ่มจาก ปวช. ทั้งรุ่นมี 5 คน เรียนการสร้างพื้นฐาน ทั้งงานไม้ งานเครื่องหนัง งานกลึง การเทียบเสียง การทำองค์ประกอบต่าง ๆ ของเครื่องดนตรี ตลอดจนได้เรียนรู้งานที่บ้านครูช่างที่เป็นเลิศในแขนงต่าง ๆ อย่างเข้มข้น

จากนั้นต่อ ปวส. เพื่อให้ได้ความรู้เชิงลึกมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องงานวิจิตรศิลป์ และเขียนผูกลาย เป็นต้น จนกระทั่งสามารถสร้างเครื่องดนตรีไทยได้เอง สานฝันให้เป็นไปได้และเกิดขึ้นจริง

“นายภัทรพงศ์ พรมพินิจ”

นักเรียนคนแรกของประเทศไทยที่จบสาขานี้ กล่าวว่า การเรียนไม่ได้ยากอย่างที่คิด ที่ยากคือต้องรู้ตัวเองว่าชอบจริง ๆ และมันจะกลายเป็นความสนุก ดนตรีไทยมีเสน่ห์ในตัวเอง ตั้งแต่สมัยโบราณที่ยังไม่มีเทคโนโลยีก็สามารถสร้างมาได้เป็นร้อยปี เป็นการส่งต่อองค์ความรู้และพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เราเห็นวิวัฒนาการ ที่สำคัญทำให้เราไม่ลืมรากเหง้า

ไม่เคยมองว่าเราเป็นรุ่นแรก คนแรก ของประเทศสำหรับสาขานี้ แต่มองว่าเราเป็นรุ่นบุกเบิกให้น้อง ๆ รุ่นต่อไป จากที่รุ่นแรกลำบากยังไม่มีห้องดนตรี ต้องไปเรียนที่บ้านครูช่างตามที่ต่าง ๆ ปัจจุบันเรามีห้องซ้อมห้องฝึกและมีทุนในการเชิญครูช่างมาสอนที่สถาบันได้ นายภัทรพงศ์กล่าว

อยากเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ได้เห็นว่าจบแล้วสามารถไปทำอะไรต่อได้ ทั้งเรื่องการเรียนหรือการประกอบอาชีพ

“นายภัทรพงศ์ พรมพินิจ”

ล่าสุด นายภัทรพงศ์ผ่านการสอบคัดเลือกโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ ประจำปี 2566 โดยจะไปเป็นครูอาสาประจำการ 1 ปี ที่วัดไทยในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา โดยทำหน้าที่สอนดนตรีไทยและเป็นทูตวัฒนธรรม เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ได้เห็นว่าจบแล้วสามารถไปทำอะไรต่อได้ ทั้งเรื่องการเรียนหรือการประกอบอาชีพ

ต้องขอบคุณ มูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภา ที่เห็นคุณค่าและสนับสนุนความฝันของเด็กคนหนึ่งโดยมอบทุนการศึกษาให้ตลอด 5 ปี เป็นเสมือนครอบครัวที่สนับสนุนเรา สานฝันเราให้เป็นไปได้ นายภัทรพงศ์กล่าว