เปิด 3 ปกหนังสือใหม่ สำนักพิมพ์มติชน วาระ 91 ปี ปฏิวัติ 2475

3 ปกหนังสือใหม่
ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

สำนักพิมพ์มติชน เอาใจคอประวัติศาสตร์และการเมืองด้วย “เทศกาลหนังสือการเมือง” ในงานสโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” พบ 3 เล่มใหม่เครือมติชน “2475 ราสดรส้างชาติ” โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์, “ใต้เงาปฏิวัติ : การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475” โดย ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ และ “การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมสยามสมัยใหม่ ไทยประยุกต์ ชาตินิยม” (พิมพ์ครั้งที่ 3) โดย ชาตรี ประกิตนนทการ

ย้อนกลับไปช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์เป็นเครื่องมือสำคัญที่สื่อสารทางการเมือง ทั้งตีพิมพ์เผยแพร่แนวคิด โปสเตอร์ และคำประกาศต่าง ๆ จึงมีส่วนสำคัญเรื่องความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคมสู่การปฏิวัติในยุคแรกเมื่อครั้งเริ่มสร้างประชาธิปไตย

ในวาระครบรอบ 91 ปี การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เครือมติชน นำโดย ศิลปวัฒนธรรม, สำนักพิมพ์มติชน, ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) และเส้นทางเศรษฐี จัดงานสโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” กับ 6 ไฮไลต์ ระดมนักวิชาการสู่เวทีทอล์ก, นิทรรศการ “เปิดกรุ” จัดแสดงของหายากยุค 2475 เยอะสุดระดับประเทศ, วอล์กกิ้งทริป ย้อนวันย่ำรุ่งประชาธิปไตย, เพลิดเพลินกับปาร์ตี้ย้อนยุค “บรรเลงรมย์” โดย โฉมฉาย อรุณฉาน พร้อมเสิร์ฟเมนูเด็ดยุคสร้างชาติ และเทศกาลหนังสือการเมืองจาก 8 สำนักพิมพ์ วันที่ 23-24 มิถุนายนนี้ที่มติชนอคาเดมี

สำหรับเทศกาลหนังสือการเมือง ได้รวบรวมและคัดสรรหนังสือสำหรับคอประวัติศาสตร์และการเมืองไว้มากมาย ด้วยเนื้อหาเข้มข้น หลากหลายแง่มุม และครอบคลุมทุกมิติประเด็น ทั้งประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 การเมืองไทยร่วมสมัย เศรษฐศาสตร์การเมือง การเมืองเรื่องวัฒนธรรม และการเมืองเชิงวิพากษ์ โดยสำนักพิมพ์มติชนมีการเปิดตัวหนังสือใหม่ 3 เล่มด้วยกัน

ราสดร-นริศ

2475 ราสดรส้างชาติ

“2475 ราสดรส้างชาติ” ผลงานเล่มล่าสุดของ “นริศ จรัสจรรยาวงศ์” นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปฏิวัติ 2475 ได้นำเสนอการสร้างชาติในมิติที่ถูกประกอบสร้างโดย “ราสดร” ผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและสังคมภายใต้การปกครองใหม่ในยุคนั้น

หลังเกิดเหตุการณ์พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในการปฏิวัติ 2475 ประเทศไทยก็ก้าวสู่ระบอบใหม่ เปลี่ยนจาก สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย ด้วยแนวคิด “การสร้างชาติ” จากคณะราษฎร ผู้ปกครองใหม่ในขณะนั้นที่กำลังเรืองอำนาจ โดยถูกขับเน้นในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเชิงโครงสร้างอย่างการสนับสนุนการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย เชิงวัฒนธรรมประชานิยมอย่างการส่งเสริมดนตรีและอาหาร ตลอดจนเชิง กิจกรรมและนโยบายที่ผลักดันให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วม

นริศได้รวบรวมเรื่องราวที่แสดงชีวิตของราษฎรทั้งก่อนและหลังการปฏิวัติ ผ่านมิติทางวัฒนธรรมจากวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่เรื่องราวของวรรณกรรมปฏิวัติก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง, สีสันชีวิตของสองครูมัธยมที่ได้เป็นผู้แทนราษฎร, นักกีตาร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวงสุนทราภรณ์, วันชาติ วันแม่ และนโยบายปรับปรุงภาษาไทยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตลอดจนบรรพชิตหัวก้าวหน้าที่เชิดชูผู้ก่อการ ไปจนถึงเรื่องเล่ามูเตลูกับการสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร

การเมืองฯ-ชาตรี

มองการเมืองและสังคมผ่านสถาปัตยกรรม

ชาตรี ประกิตนนทการ กลับมาอีกครั้งกับหนังสือประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมเล่มสำคัญที่จะพาไปค้นหาและขยายความหมายที่แฝงอยู่หลัง “งานสถาปัตยกรรม” ผ่านการเล่าปรากฏการณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2394-พ.ศ. 2500

ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 4 ทั้งความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์ที่กำลังเข้ามาแทนโลกทัศน์แบบไตรภูมิ ความต้องการสร้างความศิวิไลซ์ให้ทัดเทียมตะวันตก การปฏิรูปการปกครองภายใต้แนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิกฤตอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โหยหาความเป็นไทยและสับสนกับการปรับใช้รสนิยมตะวันตกไปพร้อมกัน

จนมาถึงช่วงปลายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่การปฏิวัติ 2475 นอกจากเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การกำหนดวิถีความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติมาอยู่ในมือสามัญชนที่ไม่ใช่ชนชั้นสูงอีกต่อไป ยังเป็นจุดเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่ถูกเปลี่ยนผ่านจากเจ้ามาสู่คนธรรมดาเช่นเดียวกัน ส่งผลให้รูปแบบงานสถาปัตยกรรมได้พลิกโฉมไป

จากนั้น การหวนกลับมาของกระแสอนุรักษนิยมในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่ 2 ก็ล้วนส่งผลกระทบต่อความคิดของผู้คน การสะท้อนสภาพสังคม ความคิดในการออกแบบและสร้างสถาปัตยกรรมทั้งสิ้น

“การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัยใหม่ ไทยประยุกต์ ชาตินิยม” (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3) โดย ชาตรี ประกิตนนทการ จึงชวนตั้งข้อสังเกตว่า วัด วัง บ้าน เรือน อาคาร อนุสาวรีย์ และพื้นที่สาธารณะที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้อยู่ภายใต้ความหมายหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด

ใต้เงาฯ-ปฐมาวดี

หน่วยสืบราชการลับ ใต้เงาปฏิวัติคณะราษฎร

แม้การปฏิวัติ 2475 ได้สถาปนาระบอบการเมืองใหม่ในสยาม แต่ก็มิใช่การทำลายล้างโครงสร้างการเมืองแบบเก่า ด้วยปัจจัยหลายอย่างบีบให้คณะราษฎรต้องเจรจากับฝ่ายอนุรักษนิยมเดิมเพื่อรักษาการปฏิวัติไว้ และให้การเมืองของคณะผู้ก่อการตั้งไข่เดินต่อไปได้

ในที่สุดดอกผลก็ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แม้หน้าฉากคือความชื่นมื่นและการเฉลิมฉลอง แต่ภายใต้การประนีประนอมของกลุ่มอำนาจใหม่และเก่ากลับเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลายขึ้นในสังคม ทั้งความหวาดระแวงและความคาดหวังในสถานการณ์อันคลุมเครือ

หนังสือ “ใต้เงาปฏิวัติ : การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475” โดย ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ จะพาไปสัมผัสบรรยากาศทางการเมืองในสมัยนั้น และความรู้สึกนึกคิดของสังคมใหม่หลังการปฏิวัติ ผ่านหลักฐานสำคัญที่หยิบมาเล่าเป็นครั้งแรก ทั้งจดหมายราษฎรและเอกสารสืบราชการลับที่ฉายภาพอดีตไว้อย่างน่าสนใจ

ฝ่ายคณะราษฎรได้ออกคำสั่ง “ลับ” ผ่านเอกสารราชการเพื่อควบคุมสถานการณ์ในสังคมไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ทั้งการสั่งให้ตรวจสอบอาวุธ การกระจายอำนาจทหาร และให้ราชการเข้ามารายงานตัวเพื่อความเรียบร้อยในสังคม ตลอดจนเปิดรับสมัครราษฎรเพื่อช่วยเหลือคณะราษฎร โดยมีหน้าที่
ชี้แจง ปลุกใจ ให้ประชาชนเข้าใจถึงความหวังดีและสืบข่าวให้แก่คณะราษฎรภายหลังการปฏิวัติ

โดยผู้ที่ต้องถูกตามสืบประกอบไปด้วย กลุ่มพระราชวงศ์ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการในระบอบเก่า นักหนังสือพิมพ์ และพ่อค้า

นอกจากรายงานผู้สืบราชการลับจะเป็นหลักฐานสำคัญแล้ว ยังแสดงให้เห็นแง่มุมการตอบสนองต่อปัญหาบ้านเมืองของคณะราษฎร วิธีการสยบข่าวลือที่สร้างความเสียหายต่อคณะผู้ก่อการ และความเสี่ยงที่คณะราษฎรต้องเผชิญในฐานะผู้นำในระบอบการเมืองใหม่