91 ปี ปฏิวัติ 2475 เปิดที่มา ความหมาย และการยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน

91 ปี ปฏิวัติ 2475 เปิดที่มา ความหมาย และการยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน

ครบรอบ 91 ปี ปฏิวัติ 2475 เปิดที่มา ความหมาย และการยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน ในบริบททางการเมืองยุครุ่งเรืองของคณะราษฎรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงจุดสิ้นสุดอำนาจ

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 หรือเมื่อ 91 ปีที่แล้ว หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อ “คณะราษฎร” ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ระบอบประชาธิปไตย หลังจากนั้นก็สถาปนาอำนาจของคณะผู้ก่อการให้เข้ารูปเข้ารอย และกำหนดให้ 24 มิถุนายน เป็น “วันชาติ”

เครือมติชน นำโดย ศิลปวัฒนธรรม, สำนักพิมพ์มติชน, เส้นทางเศรษฐี และศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) จึงผนึกกำลังจัดงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” เนรมิตบรรยากาศเฉลิมฉลองวันชาติและพาทุกคนย้อนสู่การเมืองไทยยุค 2475 ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2566 ณ มติชนอคาเดมี

กับงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “กำเนิดและสิ้นสุดวันชาติ 24 มิถุนายน” โดย “ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง” อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ “ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์” อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สองอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ 2475 เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว

Advertisment

“วันชาติที่สัมพันธ์กับประชาชน คือ วันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2482 ในสมัยของคณะราษฎร โดยก่อนหน้าการปฏิวัติ 2475 ไทยไม่มีวันชาติ และสำนึกความเป็นชาติเพิ่งจะมีช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น” ผศ.ดร. ศรัญญู กล่าวเปิดการเสวนา

กว่าจะเป็นวันชาติ การสถาปนาอำนาจของคณะราษฎร

ช่วง 1 ปีแรกหลังการปฏิวัติ ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรและกลุ่มอำนาจเก่าตึงเครียดพอสมควร บรรยากาศทางการเมืองช่วงนั้นจึงนำไปสู่การประนีประนอมและเกิดผลเป็นรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475

อย่างไรก็ดี อำนาจของคณะราษฎรไม่ได้มั่นคงและการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระยะยาว หลังรัฐธรรมนูญคณะราฎรมีความพยายามเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของ “ปรีดี พนมยงค์” แต่ก็ถูกต่อต้านคัดค้านจากกลุ่มอำนาจเก่ารวมทั้งคนจากฝ่ายคณะราษฎรด้วยกันเอง นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองทำให้ “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นขุนนางในระบอบเก่าทำการยึดอำนาจ ประกาศปิดประชุมสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเป็นการรัฐประหารครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน 2476

ฝ่ายคณะราษฎรก็โต้กลับด้วยการทำรัฐประหารซ้ำของ “พระยาพหลพลพยุหเสนา” นำระบอบรัฐธรรมนูญกลับมาใหม่ เปิดสภาด้วยการใช้รัฐธรรมนูญ 2475 อีกครั้งและตนเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

Advertisment

การต่อสู้ระหว่างระบอบใหม่และระบอบเก่ายังไม่จบ ในเดือนตุลาคม 2476 เกิดเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ที่ถือเป็นสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่สู้รบกันด้วยกำลังทหารตั้งแต่ดอนเมืองไปถึงภาคอีสาน และคณะราษฎรเอาชนะได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม อำนาจของคณะราษฎรก็ยังไม่มั่นคง เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล การตั้งกระทรวงใหม่ ตลอดจนปฏิรูปราชสำนัก กว่าจะลงตัวก็ล่วงเลยไปถึงปี 2479

หมุดหมายสำคัญที่เป็นตัวบอกว่าทุกอย่างเริ่มเข้ารูปเข้ารอยแล้ว คือ การฝัง “หมุดคณะราษฎร” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า อย่างน้อยการต่อต้านในระบอบเก่าก็ลดลงไป และประชาชนจำนวนมากก็สนับสนุนรัฐบลคณะราษฎรอย่างชัดเจน ระบอบใหม่ได้ลงรากอย่างมั่นคงแล้ว

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์
ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์

กำเนิดวันชาติ 24 มิถุนายน เมื่อทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย

ผศ.ดร.ศรัญญู กล่าวว่า วันชาติครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2482 ในยุคสมัยของคณะราษฎร และเป็นวันชาติที่สัมพันธ์กับประชาชน โยก่อนหน้าการปฏิวัติ 2475 นั้นไทยไม่มีวันชาติและสำนึกความเป็นชาติเพิ่งจะมีช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น

จริง ๆ วันที่ 27 มิถุนายน ในฐานะวันที่ได้รับรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีความสำคัญเทียบเท่า 24 มิถุนายน แต่ก็ไม่ได้มีการเฉลิมฉลองใหญ่ เนื่องจากช่วงแรกของการปฏิวัติ คณะราษฎรจะไม่ชูสองวันดังกล่าวเพราะอาจนำไปสู่ความบาดหมางรุนแรงกับอำนาจเก่า แต่ไปชู 10 ธันวาคม แทน ซึ่งเป็นวันที่ได้รัฐธรรมนูญถาวร เมื่อคณะราษฎรเริ่มมีอำนาจมั่นคง 24 มิถุนายน ก็ถูกขับเน้นอย่างชัดเจน

ดังนั้นการฉลองวันที่ 24 มิถุนายน ก่อนปี 2482 จึงเป็นการฉลองหรือปราศัยเล็ก ๆ เท่านั้น เช่น มีการจัดงานราตรีสโมสรที่สโมสรคณะราษฎรในคือวันที่ 23 มิถุนายน เป็นต้น

มีสำนึกอย่างน้อย 2 อย่างที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังปฏิวัติ ประการแรก คือ แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยม เนื่องจากมีการกำหนดอะไรต่าง ๆ ขึ้นใหม่ที่เกี่ยวกับราชสำนัก การใช้อำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการ ตลอดจนการยึดโยงกับประชาชน ที่มีสถาบันทางการเมืองแบบใหม่มากำหนด

ประการที่สอง คือ สำนึกเรื่องชาติในความหมายใหม่ ซึ่งเป็นการนิยามที่โดดเด่นในช่วงทศวรรษ 2470 โดยข้าราชการชนชั้นกลางผู้นำปฏิวัติที่เสนอว่า “ชาติ คือ ประชาชน” และมีนัยยะของการเป็นพลเมืองที่มีประสบการณ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะมีความหลากหลายแบบใดก็ตามแต่ชาติคือจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นชาติที่มีควาก้าวหน้า และเป็นอารยะพร้อมประวัติศาสตร์อันยาวนาน นำไปสู่ประดิษฐกรรมเรื่องชาติใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ที่สำคัญ คือ วันชาติ และ เพลงชาติ ทำให้คณะราษฎรเริ่มเฉลิมฉลองวันชาติขึ้นครั้งแรกในปี 2482

หนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นมีการนำเสนอการเฉลิมฉลองวันชาติอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการนำรูปอนุสาวรีย์ปราบกบฏ และรูปหมุดคณะราษฎรมาตีพิมพ์ เพื่อให้ราษฏรได้เห็นและเชื่อมโยงการก่อกำเนิดระบอบรัฐธรรมนูญ

หมุดคณะราษฎรที่ถูกวางไว้ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2479 ได้ถูกหยิบขึ้นมาสร้างความสำคัญในการฉลองวันชาติ ส่วนอนุสาวรีย์ปราบกบฏก็เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการพิทักษ์รัฐธรมมนูญ การสละชีพเพื่อชาติในความหมายของการปกป้องรัฐธรรมนูญจากระบอบเก่าเมื่อครั้งคณะราษฎรสู้รบกบฏบวรเดช ดังนั้น 24 มิถุนายน 2475 จึงถูกฉายซ้ำผ่านสิ่งเหล่านี้

“การฉลองวันชาติทุกปี ยังเป็นหมุดหมายในการเปิดสถานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นวัดประชาธิปไตย ศาลยุติธรรม อาคารผู้โดยสารสนามบินดอนเมือง หรือการเปิดตึกราชดำเนินในปี 2484 รวมถึงถนนเส้นต่าง ๆ ด้วย ซึ่งล้วนแสดงถึงความก้าวหน้าของชาติและรัฐบาลคณะราษฎร” ผศ.ดร. ศรัญญู กล่าว

สีสันงานวันชาติ การเฉลิมฉลองของทุกคน

ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง กล่าวว่า วันชาติครั้งแรกเมื่อปี 2482 มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เนื่องด้วยมีการฉลองร่วมกับการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมซึ่งมีมาตั้งแต่รัฐการที่ 4 ได้สำเร็จ

ประชาชนต่างรับรู้ว่าตนเองก้าวเข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคืองานฉลองวันชาติเป็นงานของสามัญชนจริง ๆ ซึ่งการฉลองลามไปถึงฝั่งธนบุรีที่ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนให้เห็นถึงสำนึกใหม่ว่าการเฉลิมฉลองไม่ใช่แค่งานของชนชั้นสูงที่อยู่ในพระนครเท่านั้น

การฉลองในปีแรกมีกิจกรรมเยอะมาก ซึ่งรัฐบาลใช้เวลาเตรียมการร่วมเดือนเพื่อแต่งไฟ ปักธงชาติ และแต่งถนนราชดำเนินตลอดสาย มีการวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งประชาชนไปดูกันเป็นจำนวนมาก มีตลาดนัดที่สะพานพุทธฯ ตั้งแต่ ตี 5 เพื่อให้ชาวบ้านมาค้าจขายกัน ทั้งพืชผักพื้นเมือง เนื้อสัตว์ และเครื่องใช้ต่าง ๆ มีการส่งเสริม “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ” เพราะสมัยก่อนเราซื้อสินค้าจากต่างประเทศเยอะ จึงเกิดการส่งเสริมให้ใช้สินค้าไทย

ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง
ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง

มีทั้งมีการทำดวงตราไปรษณียากร การประกวดบทเพลง ทำสมุดบันทึกงานวันชาติ มีการประกวดเรียงความ ในหัวข้อความสำคัญของชาติ คิดอย่างไรต่อชาติ ซึ่งผู้มีชื่อเสียงหลายคนก็เข้าร่วมประกวด เช่น “เปลื้อง ณ นคร” ที่ได้รางวัลชนะเลิศ

มีการปราศรัยผ่านวิทยุ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาจัดงานพร้อมอธิบายถึงงานวันชาติแก่นักเรียน มีการเชิดชูอาชีวะเพราะอาชีวะเป็นอาชีพที่สร้างชาติ

ทั้งกองทัพบก เรือ อากาศ ยิงสลุตตอนเที่ยงวัน พร้อมทั้งแสดงแสนยานุภาพการป้องกันประเทศ โดยการสวนสนามของทหารและยุวชนทหาร รวมทั้งแสดงยุทโธปกรณ์เพื่อเเสดงให้เห็นว่าชาติมีความเข้มแข็งและไม่ถูกย่ำยีเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้ยังมีการชักธงชาติซึ่งเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่สำคัญของประเทศ

ผศ.ดร.ณัฐพล ได้ยก “พล นิกร กิมหงวน” (สามเกลอ)‎ โดย “ป. อินทรปาลิต” มาแสดงถึงบรรยากาศการเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรกเมื่อปี 2482 ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่างานนี้เป็นงานฉลองอย่างเสมอภาคของทุกคนและประชาชนตื่นเต้นกับงานนี้เพียงใด

“รุ่งอรุณแห่งวันที่ 24 มิถุนายน วันสำคัญที่ประชาชนชาวไทยได้รับสิทธิ อิสระเสรีโดยทั่วหน้า วันที่ประชาชนชาวไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นมิ่งขวัญของชาติ เพื่อให้ประชาชนรำลึกถึงวันสำคัญนี้ ทางราชการจึงจัดให้มีงานมโหฬารขึ้นทุกจังหวัด ขนานนามวันที่ 24 มิถุนายน ว่า วันชาติ”

“ในคืนวันที่ 23 หนุ่ม ๆ สาว ๆ นอนไม่หลับเลย พวกสาว ๆ เซ็ตผมเตรียมตัวเที่ยวอย่างเข้มแข็ง อุตส่าห์ทนนั่งหลับกับพนักเตียงเพราะความกลัวผมจะยับ เสื้อกระโปรงจัดเตรียมไว้พร้อมสรรพ พ่อหนุ่มรูปหล่อ ๆ ก็เตรียมพร้อม ที่มีอัฐมากหน่อยก็ไม่ได้ตระเตรียมอะไร นอกจากสั่งคนรถให้เช็ดล้างรถไว้ให้สวย ๆ”

24 มิถุนายน จึงเป็นวันชาติที่มีแนวคิดมุ่งเน้นว่าชาติคือประชาชน ให้ประชาชนยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตย งานวันชาติคืองานเฉลิมฉลองอย่างเสมอภาค ไม่มีการนำพิธีกรรมทางศาสนาเข้ามา นั่นเเสดงให้เห็นว่าคณะราษฎรพยายามจะสร้างรัฐแบบทางโลกขึ้น ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว

การเปลี่ยนแปลง ลดทอน และจุดสิ้นสุดวันชาติ

ผศ.ดร.ศรัญญู กล่าวว่า วันชาติ 24 มิถุนายน มีการฉลองตั้งแต่ปี 2482 เรื่อยมาจนสมัย “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ก่อนเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 5 ธันวาคม เมื่อปี 2503

วันชาติ 24 มิถุนายน ของคณะราษฎรเริ่มประสบปัญหาจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2486 แม้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอำนาจงานวันชาติก็ไม่ได้กลับมาคึกคักเหมือนเดิม อีกทั้งยังมีกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ในปี 2489 จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารปี 2490 เป็นจุดสิ้นสุดอำนาจและยุคของคณะราษฎร ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับขึ้นมามีพลังอีกครั้ง งานฉลอง 24 มิถุนายน จึงซบเซาลงอย่างชัดเจน

การยกเลิกวันชาติมีความย้อนแย้งบางอย่างที่น่าสนใจ ด้วยคนที่ผลักดันสุดตัวในการประชุม ครม. เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2481 ให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ คือ “หลวงวิจิตรวาทการ” เวลาผ่านไปเขาเองไปอยู่กับ จอมพลสฤษดิ์ และลดทอนรวมทั้งต้องการเปลี่ยนแปลงวันชาติ

การเปลี่ยนวันชาติมีหลายข้อเสนอ ซึ่งล้วนสำนึกความเป็นชาติในความหมายที่ต่างกันไป บ้างเสนอให้เอาวันพระราชสมภพของกษัตริย์ บางคนเสนอว่าควรเป็นวันที่สยามปลดแอกและได้เอกราชจากขอมตั้งเเต่สมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ให้ใช้วันที่พระนเรศวรประกาศอิสรภาพจากพม่า หรือวันที่พระเจ้าตากกู้กรุงได้

สุดท้าย ก็เลือกวันที่ 5 ธันวาคม ให้กลายเป็นวันชาติเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2503 ซึ่งสัมพันธ์กันกับการหมดอำนาจลงของคณะราษฎร