เทรนด์สุขภาพ โตก้าวกระโดด ดันสตาร์ตอัพการแพทย์ไทย สู่ตลาดโลก

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง-พราว ปธานวนิช-ณพสิทธิ์ พิพิธัฒนาปราปต์
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง-พราว ปธานวนิช-ณพสิทธิ์ พิพิธัฒนาปราปต์

เทรนด์การแพทย์ทั่วโลกกำลังเติบโต หลายประเทศพยายามดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนทั่วโลก ล่าสุด กลุ่มผู้ประกอบการคนไทยไม่พลาดโอกาสนี้ เพราะแนวโน้มด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพของประเทศไทยและอาเซียนก็เติบโตก้าวกระโดด จึงประกาศขยายธุรกิจในระดับสากล เตรียมจัดงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023 วันที่ 13-15 กันยายน 2566 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา และวันที่ 16-22 กันยายน 2566 ในรูปแบบออนไลน์

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พร้อมด้วยพันธมิตร นางสาวเดฟนี โยว ผู้อำนวยการบริหารโครงการ กลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย, นางสาวพราว ปธานวนิช ผู้อำนวยการสายงานนวัตกรรม โรงพยาบาลเมดพาร์ค และ นายณพสิทธิ์ พิพิธพัฒนาปราปต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท BRAIN DYNAMIC TECHNOLOGY จำกัด ถึงการผลักดันธุรกิจสตาร์ตอัพด้านการแพทย์ของไทยสู่ตลาดระดับโลก

ดร.กริชผกากล่าวว่า NIA สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีบทบาทในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้ประกอบการไทยทั้งสตาร์ตอัพ และ SMEs เทรนด์การแพทย์และการดูแลสุขภาพเป็นแฟลกชิปด้านอุตสาหกรรมที่เราให้การสนับสนุน เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ เนื่องจากไทยมีระบบการแพทย์ โรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ และอุปกรณ์การแพทย์ที่ถือว่าดีประเทศหนึ่งในโลก

นอกจากจะทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เข้มเเข็งแล้ว อีกมุมคือการทำเพื่อสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเเพทย์ได้ สตาร์ตอัพที่ต้องสนับสนุนคือ สตาร์ตอัพที่สร้างจากโปรดักต์หรือบริการที่เข้ามารองรับเรื่องการแพทย์ เช่น เทเลเฮลท์ หรือ เทเลเมด เป็นต้น

แม้สตาร์ตอัพสายอื่นจะมีปัญหาในช่วงโควิด แต่สายแพทย์กลับเติบโตก้าวกระโดด นวัตกรรมและบริการใหม่ ๆ เกิดขึ้นในช่วงจังหวะนี้ จึงเป็นโอกาสที่เราจะเร่งส่งเสริมสตาร์ตอัพในอุตสาหกรรมการแพทย์ เพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบในการแข่งขัน สิ่งที่ทำให้การแพทย์ยั่งยืนคือเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า วัคซีน อวัยวะเทียม และโปรดักต์อินโนเวชั่นอื่น ๆ

ในไทยปัจจุบันมีย่านนวัตกรรมทางการเเพทย์โยธี เป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนานวัตกรรมระดับประเทศ มีโรงพยาบาลเข้าร่วมมากมาย โดย BOI กำหนดพื้นที่นี้ให้ได้รับสิทธิพิเศษสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ ชี้ให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

“สุขภาพและการแพทย์สำคัญมากในเชิงนโยบายและจะสำคัญตลอดไป ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปยังไง จากโควิดทำให้เราเห็นชัด” ดร.กริชผกากล่าว

สตาร์ตอัพสายแพทย์ ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ดร.กริชผกากล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการนวัตกรรมทางการแพทย์ต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลง นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นโปรดักต์อย่างเดียว เป็นเซอร์วิสอินโนเวชั่นก็ได้ ซึ่งจะทำให้มิติของการแพทย์มีความแตกต่าง

อยากให้ผู้ประกอบการทำโปรดักต์เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง หากไม่ได้จากการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ก็ต้องมาจากมหาวิทยาลัยที่ทำเรื่องการแพทย์ อาจารย์แพทย์หลายท่านเก่งมาก แต่ทำธุรกิจไม่เป็น หน้าที่ของ NIA จึงต้องเข้าไปช่วยเหลือด้านธุรกิจและต่อยอดให้ได้

ตลาดด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลกมีมูลค่า 2,235.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2021-2022 คาดว่าจะสูงถึง 7,342.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือโตประมาณ 3 เท่าภายในปี 2030

ไทยก็เช่นกัน คาดว่าอุตสาหกรรมด้านการแพทย์จะส่งผลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นกว่าเดิมไม่ต่ำกว่า 3 เท่า ปัจจุบันทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และไทยก็มีศักยภาพสูง แต่การเข้าถึงยังไม่มากนัก ทั้ง ๆ ที่ต่างประเทศสนใจมาก ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมการตลาดให้มากขึ้น เช่น การจัด Medical Fair ในไทย หรือพาผู้ประกอบการไปงาน Medical Fair ทั่วโลก

ปัจจุบันมีสตาร์ตอัพที่ทำธุรกิจด้านการแพทย์ ทั้งการสร้างเครื่องมือและบริการในระบบของ NIA กว่า 600 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ทำเรื่องนวัตกรรมจริง ๆ และตอบสนองความต้องการของตลาดได้มาก

แม้สตาร์ตอัพไทยจะเจอพายุใหญ่มาตลอด 3 ปี แต่ความเป็นไซซ์เล็กทำให้ปรับตัวได้เร็ว เปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ทันเวลา เป็น growth stage ของสตาร์ตอัพ แม้ต้องต่อสู้ ถ้าเราอยากมียูนิคอร์นก็ต้องทำตลาดให้กว้างขึ้น ในไทยอย่างเดียวไม่พอ ต้องมี global mindset ด้วย

วาระแห่งชาติ สร้างแบรนด์ สร้างคน

ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติย้ำว่า ในอนาคตแบรนด์ของคนไทยในอุตสาหกรรมนี้จะมีมากขึ้น โควิดที่ผ่านมาเครื่องมือแพทย์ไม่พ้นแบรนด์จากเยอรมนี หรือจีน ที่เทกตลาดเครื่องมือเเพทย์มีข้อได้เปรียบด้านราคา แต่ก็ยังไม่มีแบรนด์ของคนไทย แม้มีสตาร์ตอัพ และ SMEs หลายรายผลิตให้ในประเทศและส่งออกไปยังแบรนด์ต่างประเทศก็ตาม

การสร้างแบรนด์ควรเป็นวาระเเห่งชาติ จะทำให้ไทยเข้มแข็ง ซึ่งต้องมีนโยบายชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างกำลังคนมารองรับอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นไปไม่ได้ที่จะโตขึ้น 3 เท่า โดยไม่มีแพทย์

การสร้างแบรนด์ต้องมีกำลังคน มีโรงพยาบาลระดับชั้นนำ ซึ่งไทยมีอยู่แล้วทั้งของรัฐและเอกชน มีผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่ผลิตสินค้าได้มาตรฐาน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมต้องระบุมาตรฐานให้ชัด มีกระบวนการที่เร็วขึ้น บางครั้งผู้ประกอบการทำเสร็จแล้วแต่รอผ่านมาตรฐานนานมาก ที่สำคัญภาครัฐต้องส่งเสริมการใช้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยคนไทย ต้องสร้างตลาดในประเทศเป็นอันดับแรก

Cocreation สำคัญมากในอุตสาหกรรมการแพทย์

นางสาวพราว ปธานวนิช ผู้อำนวยการสายงานนวัตกรรม โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า มุมมองของโรงพยาบาล ในฐานะผู้ใช้งานเทคโนโลยี นวัตกรรมไม่ได้แปลว่าต้องเป็น ซอฟต์แวร์ หรือเทคโนโลยีตัวใหม่ เพราะการแพทย์และสุขภาพซับซ้อนและครอบคลุมกว่านั้นมาก

ปัญหาของสตาร์ตอัพหลาย ๆ รายคือ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ถ้าเป็นสตาร์ตอัพจากแพทย์ก็ไม่มีทีมบริหารจัดการ หรือไม่มีความเป็น entrepreneur

Cocreation ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์จึงสำคัญมาก ตั้งแต่โครงสร้างผู้ถือหุ้น ตึกและแผนกในโรงพยาบาลที่ออกแบบร่วมกันระหว่างแพทย์เฉพาะทางและสถาปนิก จนถึงนวัตกรรมที่ได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสาขาวิชาชีพ สร้างความเป็นเจ้าของในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกด้าน ซึ่งจะนำไปสู่ระบบสุขภาพที่ยั่งยืน

“วิกฤตโควิดทำให้รู้ว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในไทยมีน้อยมาก ดังนั้น Cocreation จะสำคัญต่อการแก้ปัญหาร่วมกัน” นางสาวพราวกล่าว

สตาร์ตอัพขอเพียงโอกาสและแรงหนุน

นายณพสิทธิ์ พิพิธพัฒนาปราปต์ BRAIN DYNAMIC TECHNOLOGY เล่าว่า เดิมทีนวัตกรรมที่เราเริ่มทำยังไม่ได้เป็นเครื่องมือแพทย์ แต่ก็ทำมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เครื่องวัดสัญญาณสมอง ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เครื่องช่วยเด็กตาบอด จนถึงเครื่องตรวจการนอนหลับ

แรงสนับสนุนจึงสำคัญมาก โดยเราได้เชื่อมโยงเครือข่ายจาก NIA เพราะเริ่มต้นเราไม่มีความรู้ จนปัจจุบันเรามีพาร์ตเนอร์ประมาณ 20 โรงพยาบาลแล้ว

เราปรับทิศทางไปเรื่อย ๆ เพื่อให้รู้ว่าอยู่ตรงไหนในตลาด ต้องทำอย่างไรกับต่างชาติที่ซื้อของเราไปใช้ ความยากคือเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกันได้ทั้งโลก ทำให้เราต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูง

“โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้ตัวเองอยู่ในตลาด เพราะมีคู่แข่งต่างประเทศใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่า ต้องรู้จุดเด่นเราคืออะไร นี่คือความยากของสตาร์ตอัพ” ณพสิทธิ์กล่าว

เมื่อ 8 ปีที่แล้วไต้หวันเริ่มส่งเสริมเครื่องมือแพทย์ คนทั่วไปจะรู้จักไต้หวันว่าเด่นเรื่องคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ วันนี้เครื่องมือเเพทย์ของไต้หวันกลายเป็นแบรนด์ดัง ราคาก็จับต้องได้

การจะทำแบรนด์เครื่องมือแพทย์จึงเป็นเรื่องของทั้งประเทศ ต้องมีการตรวจสอบมาตรฐาน ของไทยบางมาตรฐานก็ตรวจไม่ได้ เพราะไม่มีบริการตรวจ เมื่อส่งไปต่างประเทศราคาก็สูงถึง 1.6-2 ล้านบาท ส่วนมาตรฐาน ISO ก็มีต้นทุนที่สูง

เครื่องมือแพทย์ที่บริษัททำอยู่ในกลุ่ม Active Medical Device หรือเครื่องมือแพทย์ที่มีไฟฟ้า เช่น เครื่องวัดสัญญาณสมอง จะมีต้นทุนเป็นค่ามาตรฐาน 1-2 ล้านบาท ซึ่งในไทยมีเงินอุดหนุนอยู่บ้าง ค่าทำ ISO สำหรับเครื่องมือแพทย์ต้นทุนหลักแสนแต่ต้องจ่ายรายปี ค่าวิจัยและพัฒนาเฉลี่ย 1 เครื่อง กว่าจะออกสู่ตลาดต้องใช้เวลา 2 ปี ทำให้เข้ากับตลาดอีก 2 ปี รวมเป็น 4 ปี ต้นทุนทั้งหมดประมาณ 10 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของผลิตภัณฑ์ซึ่งแตกต่างกันไป

“ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพจึงต้องการแค่โอกาสให้ลองหันมาใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ”

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลเข้ามาลงทุนในอุปกรณ์ทางการแพทย์มากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีเลย ถือเป็นผลดีกับเซ็กเตอร์นี้มาก ๆ ทำให้ผู้ผลิตได้พัฒนาปรับปรุง ซึ่งไม่ใช่แค่เทคโนโลยีด้านเดียว แต่รวมถึงการใช้และการบริการด้วย