มหาดไทยประกวด “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” หา 8 สุดยอดช่างตัดเย็บภาคกลาง

มหาดไทยประกวด “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก”

กระทรวงมหาดไทยจัดประกวดออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” เฟ้นหา 8 สุดยอดช่างจากภาคกลางแข่งในระดับประเทศ ต่อยอดภูมิปัญญาสู่รูปแบบทันสมัย สร้างความมั่นคงและฐานรากอย่างยั่งยืน

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เผยถึงการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ผ้าไทยตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

โดยมีหลักชัยที่สำคัญ คือ น้ำพระทัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระผู้ทรงมีความมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชดำริด้านการส่งเสริมผ้าไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปรากฏเป็นภาพอันเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้ประกอบการ OTOP และสมาชิกโครงการศิลปาชีพฯ

เมื่อครั้งพระองค์ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในงาน OTOP City 2020 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ได้พระราชทาน ผ้าลายพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 พร้อมทั้งพระราชทานพระดํารัสใจความตอนหนึ่งว่า

“…ข้าพเจ้าจึงได้ออกแบบลายผ้ามัดหมี่ มอบให้ช่างทอผ้าเป็นของขวัญปีใหม่ โดยออกแบบลายให้มีความหมายถึง การส่งมอบความรัก ความสุข ให้ชาวไทยทุกคน เป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลายผ้า ออกแบบให้ร่วมสมัย ใช้ได้จริง ในหลายโอกาส”

ด้วยเพราะพระองค์ทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงรื้อฟื้นคืนชีวิตและลมหายใจให้กับผืนผ้าไทยเมื่อ 50 ปีก่อน ก่อกำเนิดเกิดเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงใช้พระปรีชาชาญที่ได้จากการศึกษาทางด้านศิลปกรรมศาสตร์และการออกแบบแฟชั่นดีไซน์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ ด้วยการต่อยอดพระราชดำริด้านการส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไทยสู่โครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”

ซึ่งพระองค์ได้ทรงอรรถาธิบายว่า คือ “ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส”

ประกวดผ้าไทยใส่ให้สนุก 8 ทีมเข้ารอบ

กระทรวงมหาดไทยจึงร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ภายใต้การนำของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาขับเคลื่อนขยายผล โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายที่สำคัญ คือ คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จนกระทั่งเกิดเป็น โครงการส่งเสริมการออกแบบตัดเย็บผ้าไทย ภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”

โดยการประกวดการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” จากกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ตลอดจนนักออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไทยจากทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางด้านการตลาดและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย นักออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไทย รวมทั้งเป็นการสร้างการรับรู้การส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

ซึ่งมีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย นักออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไทย และประชาชนทั่วไป จากทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมประกวด รวมจำนวนทั้งสิ้น 270 ทีม

นายสุทธิพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีการจัดการประกวดการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” ระดับภาคกลาง ที่ห้องเวลาดี 2 โรงแรม ณ เวลา อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการคัดเลือกได้ทำการคัดเลือกผลงานจากผู้เข้าประกวด จำนวน 62 ทีม ในรอบคัดเลือกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เข้ารอบมาสู่การประกวดระดับภาค จำนวน 20 ทีม

ด้าน ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า การประกวดการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” ระดับภาคกลาง ในวันนี้ ผู้เข้าประกวดจะต้องนำเสนอผลงานภาพสเก็ต พร้อมสตอรี่บอร์ดหรือมู้ดบอร์ด (Mood board) ของชุดที่จะออกแบบตัดเย็บ จำนวน 3 ชุด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 นาที

โดยลำดับการเข้านำเสนอผลงานเรียงตามลำดับการลงทะเบียน มีหลักเกณฑ์การพิจารณาตัดสิน คะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งเป็น 1. แนวคิดและแรงบันดาลใจในการออกแบบ 30 คะแนน 2. ความคิดสร้างสรรค์ 40 คะแนน 3. ความสวยงามและความสมบูรณ์แบบของชุด 30 คะแนน ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 8 ทีม จะเข้าแข่งขันกับอีก 30 ทีมจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ในรอบระดับประเทศ ต่อไป

ผลการตัดสินปรากฏว่า มีผู้เข้าประกวดในพื้นที่จังหวัดภาคกลางผ่านเข้ารอบระดับประเทศ รวม 8 ทีม ได้แก่

  1. นายรัฐพล ทองดี กลุ่ม KRAMPHON จังหวัดปราจีนบุรี
  2. นางสาวอุริศยา กุหละ ทีมคนสวยโพธาราม จังหวัดราชบุรี
  3. นายสุรสิทธิ์ พลาน ทีม 6 Salt Art จังหวัดลพบุรี
  4. นางสาวศริญญา ศรีเหรา ทีม U-thong quilts จังหวัดสุพรรณบุรี
  5. นางอารียา บุญช่วยแล้ว ทีม INTHAI จังหวัดสมุทรปราการ
  6. นางสาวนันทินา เชียงทอง ทีมผ้าขาวม้าหนองยาว ร้านโชคกิตติ จังหวัดกาญจนบุรี
  7. นายชวกร ทองประศรี ทีม Faris จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  8. นางสาวณิชาพิชญ์ ก.จันทราภานนท์ ทีมณิชาพิชญ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์